ไขข้อสงสัย ความเชื่อโบราณทำไมต้องห้ามเลี้ยงขนมจีน ในงานศพ
เคยได้ยินความเชื่อนี้ไหมค่ะ ความเชื่อที่ว่าห้ามทำขนมจีนเลี้ยงในงานศพเพราะจะยิ่งเกิดความสูญเสียจะยืดจะยาว
วันนี้ Thainews จะยกบทความประเพณี ความเชื่อ ที่ใช้เลี้ยงคนเป็นในงานคนตายหรืองานศพนั่นเอง ทำไมต้องห้ามเลี้ยงขนมจีนในงานศพ เลี้ยงขนมจีนในงานแต่งงานได้ไหม แล้วทำไมต้องห้ามเลี้ยงขนมจีน ไปพบกับคำตอบในบทความนี้
ขนมจีน เป็นอาหารคาวชนิดหนึ่ง ทำด้วยแป้งเป็นเส้นกลมๆ คล้าย เส้นหมี่ กินกับน้ำยา น้ำพริก เป็นต้น อาหารชนิดนี้ ภาษาเหนือเรียก "ขนมเส้น" ภาษาอีสานเรียก "ข้าวปุ้น" และภาคใต้เรียก "หนมจีน"
ขนมจีนไม่ใช่อาหารจีน หากแต่เป็นอาหารมอญ คำว่า ขนมจีน มาจากภาษามอญว่า [ขะ-นอม-จิน] คำว่า ขะนอมมีความหมายอย่างหนึ่งว่าเส้นขนมจีน คำว่า จิน มีความหมายว่าสุก คำว่า "ขนมจีน" หรือ "หนมจีน" คำนี้พบได้ในบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนตอนกินเลี้ยง คราวที่เจ้าล้านช้างถวายนางสร้อยทองแก่พระพันวษาความว่า
"ถึงวังยับยั้งศาลาชัย วิเสทในยกโภชนามา
เลี้ยงเป็นเหล่าเหล่าลาวคอยชี้ ข้าวเหนียวหักหลังดีไม่เมื่อยขา
แจ่วห้าแจ่วหกยกออกมา ทั้งน้ำยาปลาคลุกหนมจีนพลัน"
เส้นขนมจีน เส้นขนมจีนแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ
1. ขนมจีนแป้งหมัก เป็นเส้นขนมจีนที่นิยมทำทางภาคอีสาน เส้นมีสีคล้ำออกน้ำตาล เหนียวนุ่มกว่าขนมจีนแป้งสด และเก็บไว้ได้นานกว่า ไม่เสียง่าย การทำขนมจีนแป้งหมักเป็นวิธีการทำเส้นขนมจีนแบบโบราณ ต้องเลือกใช้ข้าวแข็ง คือข้าวที่เรียกว่า ข้าวหนัก เช่น ข้าวเล็บมือนาง ข้าวปิ่นแก้ว ข้าวพลวง ถ้าข้าวยิ่งแข็งจะยิ่งดี เวลาทำขนมจีนแล้ว ทำให้ได้เส้นขนมจีนที่เหนียวเป็นพิเศษ นอกจากนี้แหล่งน้ำธรรมชาติก็เป็นสิ่งสำคัญ ต้องใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ จากคลองชลประทาน หรือน้ำบาดาล ไม่ควรใช้น้ำประปา เพราะเส้นขนมจีนจะเละทำให้จับเส้นไม่ได้ ไม่น่ากิน
2. ขนมจีนแป้งสด ใช้วิธีการผสมแป้ง ขนมจีนแป้งสด เส้นจะมีขนาดใหญ่กว่าขนมจีนแป้งหมัก เส้นมีสีขาว อุ้มน้ำมากกว่า ตัวเส้นนุ่ม แต่จะเหนียวน้อยกว่าแป้งหมัก วิธีทำจะคล้ายๆกับขนมจีนแป้งหมัก แต่จะทำง่ายกว่าเพราะไม่ต้องแช่ข้าวหลายวัน และได้เส้นขนมจีนที่มีสีขาว น่ากิน การเลือกซื้อขนมจีนแป้งสด ควรเลือกที่ทำใหม่ ๆ เส้นจับวางเรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบ เส้นขนมจีนไม่ขาด ดมดูไม่มีกลิ่นเหม็นแป้ง ไม่มีเมือก ขนมจีนแป้งสดจะเก็บได้ไม่นาน ควรนำมานึ่งก่อนกิน
บทความต่อไปนี้เป็นความเชื่อส่วนบุคคลโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน
ตามความเชื่อของคนไทยในสมัยโบราณ ห้ามไม่ให้นำขนมจีนมาเลี้ยงในงานศพอย่างเด็ดขาด เนื่องจากเชื่อกันว่าจะทำให้เกิดเหตุการณ์ตายต่อกันไปเป็นทอดๆ คนไปจะไม่หมดห่วง และ คนตายจะไม่ได้ไปผุดไปเกิด
นอกจากนี้ยังมีการห้ามนำอาหาร ประเภทเส้น และวัตถุดิบจำพวกเครือเถาวัลย์ เช่น แตงกวา แตงโม ฟัก และแฟง มาประกอบอาหารในงานศพอีกด้วย ในไทย พม่า ลาว และเขมร ขนมจีนเป็นอาหารที่ใช้เลี้ยงในงานบุญเหมือนกัน เพราะกินสะดวก เป็นอาหารจานเดียว หยิบขนมจีนใส่จาน ราดด้วยน้าแกงในหม้อ ใส่ผักและเครื่องปรุงตามชอบ แค่นี้ก็ได้อิ่มอร่อยกันถ้วนหน้า
คนไทยยังนิยมทำขนมจีนน้ำยาถวายพระ และเลี้ยงขนมจีนในงานบุญงานมงคลทุกชนิด เพราะเชื่อว่าเป็นขนมมงคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะขาดขนมจีนไม่ได้ในงานแต่งงานและงานหมั้น เพราะเชื่อว่าเส้นที่ยืดยาวทำให้ชีวิตคู่อยู่ยืนนาน
ตรงกันข้ามสำหรับงานศพ คนไทยภาคกลางหลายแห่งไม่นิยมเลี้ยงขนมจีน เพราะไม่ต้องการให้ยืดเยื้อ บางท้องถิ่นก็เชื่อรุนแรงขนาดเลี้ยงขนมจีนในงานศพแล้ว คนตายจะไม่ได้ไปผุดไปเกิด ที่ฟังแล้วอ่อนโยนมากกว่า เห็นจะเป็นความเห็นของคนโพธิ์หัก ราชบุรี ที่ว่า
"งานศพจะทำแกงส้มหรือแกงคั่ว แต่ห้ามทำขนมจีนเลี้ยง โบราณเขาถือ เส้นมันยืดยาวคนตายจะมาผูกพันเกี่ยวข้องกับคนเป็น"
ส่วนในงานแต่งงาน ขนมจีน ถือเป็นอาหารมงคลมากๆ พร้อมกับยังมีการถือเคล็ดด้วยว่าต้องเป็นจับใหญ่ สวย และไม่ขาดรุ่ย เป็นเส้นเรียบร้อยสวยงาม เนื่องจากเชื่อกันว่า เป็นนิมิตที่ดีที่คู่บ่าวสาวจะครองรักกันยืดยาวเหมือนกับเส้นขนมจีนนั่นเอง
บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาสื่อไปในทางงมงาย เพียงแต่เป็นความเชื่อบางท้องถิ่นเท่านั้น ปัจจุบันผ่านมาหลายยุคหลายสมัย ความเชื่อโบราณบางสิ่งบางอย่างผ่านการพิสูจน์ด้วยเวลา ด้วยผู้เชี่ยวชาญ แต่ก็ยังมีความเชื่ออีกหลายอย่างที่ยังไม่มีคำตอบมาหักล้างความเชื่อของคนบางท้องถิ่นได้ โปรดเคารพสิทธิส่วนบุคคลและโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน
ขอขอบคุณ : TNEWS / วิกิพีเดีย / โซเชียลมีเดีย