ทำความรู้จัก ครอบพระเศียรทองคำ สมบัติชาติที่อเมริกาส่งคืน
ครอบพระเศียรทองคำ มรดกชาติสมบัติล้ำค่าเป็นโบราณวัตถุที่สหรัฐอเมริกาส่งกลับคืนให้ประเทศไทย พร้อมเปิดให้ชมสมบัติชาติ ในวันที่ 22 มิถุนายน นี้
เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศได้เป็นผู้แทนประเทศไทย ได้รับมอบ ครอบพระเศียรทองคำ จากชาวอเมริกันและส่งให้กรมศิลปากรในเวลาต่อมา
นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า กรมศิลปากรได้เตรียมการเปิดให้ประชาชนเข้าชม ครอบพระเศียรทองคำ โบราณวัตถุที่ได้รับมอบจากสหรัฐอเมริกาและผู้บริจาคชาวไทย หลังจากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับมอบโบราณวัตถุดังกล่าวในนามของรัฐบาลไปเมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา
ครอบพระเศียรทองคำ
สำหรับครอบพระเศียรทองคำ ที่ประเทศไทยได้รับกลับคืนมาจากอเมริกา เป็นเครื่องประดับพระเศียรพระพุทธรูป ซึ่งทางสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้ตรวจสอบเนื้อวัสดุแล้วพบว่าเป็นทองคำ 95 %
ครอบพระเศียรทองคำ มีลักษณะอย่างไร
- เนื้อวัสดุเป็นทองคำ 95 %
- เป็นเครื่องประดับพระเศียรพระพุทธรูป
- ส่วนครอบพระเศียรกว้าง 14 เซนติเมตร ยาว 17.6 เซนติเมตร น้ำหนัก 12.7 กรัม
- ส่วนพระรัศมีสูง 12.7 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 4 เซนติเมตร น้ำหนัก 28.9 กรัม
- เทคนิคดุนทองและตีทอง
ครอบพระเศียรทองคำ มีความเป็นมาอย่างไร
ครอบพระเศียรทองคำ เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเป็น โบราณวัตถุศิลปะล้านนา มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 ซึ่งขณะนี้กรมศิลปากรได้เก็บรักษาไว้ที่คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพื่อการศึกษาและจะนำจัดแสดงในนิทรรศการต่อไป
ครอบพระเศียรทองคำ เปิดให้เข้าชมได้ที่ไหน
ครอบพระเศียรทองคำ จัดแสดงที่ห้องประวัติศาสตร์โบราณคดีสมัยลพบุรี อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายนนี้ เป็นต้นไป
ปัจจุบันยังมีโบราณวัตถุของไทยที่ถูกนำออกไปนอกประเทศเป็นจำนวนมาก รวมทั้งที่จัดแสดงและเก็บรักษาไว้ภายในพิพิธภัณฑ์ต่างประเทศ อยู่ในความครอบครองของเอกชน หรือ การซื้อขายผ่านการประมูลโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ เป็นต้น
มรดกชาติที่รัฐบาลไทยสามารถติดตามนำกลับคืนสู่ประเทศไทย ได้แก่
1. ทับหลังปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์
2. ทับหลังปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้ว
3. โบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์
4. โบราณวัตถุประเภทรูปเคารพ
5. ครอบพระเศียรพระพุทธรูปทองคำ
6. โบราณวัตถุเครื่องปั้นดินเผา ศิลปะลพบุรี จำนวน 164 ชิ้น
และยังมีมรดกชาติ สมบัติล้ำค่า โบราณวัตถุของไทย ที่อยู่ตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งมีแนวโน้มอาจได้กลับคืนประเทศไทยในลำดับถัดไป นี่เป็นเพียงข้อมูลบางส่วนเท่านั้น
ขอบคุณภาพประกอบจาก : เฟซบุ๊ก Disapong Netlomwong