เปิดประวัติ หลวงปู่โต๊ะ พระเกจิดัง วัดประดู่ฉิมพลี
หลวงปู่โต๊ะ หรือ พระราชสังวราภิมณฑ์ พระเกจิดัง วัดประดู่ฉิมพลี พระผู้มีอภิญญา ผู้เลื่องลือเรื่องปาฏิหาริย์ เป็นผู้สร้างพระปิดตาราคาหลักล้าน
หลวงปู่โต๊ะ หรือ พระราชสังวราภิมณฑ์ เป็น พระเกจิดัง แห่ง วัดประดู่ฉิมพลี พระผู้สร้าง พระปิดตา ที่มีราคาสูงถึงหลักล้านในปัจจุบัน
ประวัติหลวงปู่โต๊ะ
พระราชสังวราภิมณฑ์ หรือ หลวงปู่โต๊ะ เกิดเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2430 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นบุตรของนายพลอย และนางทับ รัตนคอน มีพี่น้องอยู่ร่วมกัน 2 คน ซึ่งถึงแก่กรรมไปก่อนหลวงปู่นานมาก ในวัยเด็ก เด็กชายโต๊ะ ได้เข้าเรียนวิชาอยู่ที่วัดเกาะแก้ว ใกล้บ้านเกิดของท่าน เมื่อมารดาถึงแก่กรรม พระภิกษุแก้ว เห็นความขยันหมั่นเพียรของเด็กชายโต๊ะ จึงได้พาเด็กชายโต๊ะ มาฝากอยู่กับพระอธิการสุข เจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลีในสมัยนั้น
ท่านเรียนหนังสืออยู่ที่ วัดประดู่ฉิมพลี อยู่เป็นเวลาอยู่ 4 ปี ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ 17 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2447 โดยมีพระอธิการสุขเป็นอุปัชฌาย์ บรรพชาได้วันเดียว “พระอธิการสุข” ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์และผู้อุปการะของท่านก็ได้มรณภาพ นายคล้าย นางพันธ์ ซึ่งเป็นพี่ชายกับพี่สะใภ้ของพระอธิการสุข และมีบ้านอยู่ใกล้วัดประดู่ฉิมพลีจึงได้อุปการะท่านต่อมา เมื่อบรรพชาแล้ว ท่านก็มาเรียนศึกษาพระธรรมวินัยอยู่ที่ วัดประดู่ฉิมพลี ซึ่งต่อมามีพระอธิการคำ เป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา พร้อมทั้งเรียนกรรมฐานกับพระอาจารย์พรหม วัดประดู่ฉิมพลีอีกท่านหนึ่งด้วย
จนกระทั่งเมื่อมีอายุได้ 20 ปี สามเณรโต๊ะ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2450 ณ พัทธสีมา วัดประดู่ฉิมพลี โดยมีพระครูสมณธรรมสมาทาน (แสง) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาทางธรรมว่า “อินทสุวัณโณ”
หลวงปู่โต๊ะ สอบได้นักธรรมชั้นตรี ต่อมาพระอธิการคำ ได้มรณภาพลง ทางคณะสงฆ์จึงได้แต่งตั้งท่านให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลี สืบต่อมาเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 หลวงปู่โต๊ะ มีความมานะพากเพียร ออกธุดงค์จาริกไปทั้วทุกภาคในประเทศไทย ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ ท่านได้ไปศึกษาพระปริยัติธรรม โดยได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงหลายท่าน เช่น
- หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ
- หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน
- หลวงพ่อชุ่ม วัดราชสิทธาราม
- หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค
- หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ
- หลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง
- หลวงพ่อกล้าย วัดหงส์รัตนาราม
และต่อจากนั้น ท่านก็เดินทางไปยังภาคใต้ ไปที่จังหวัดปัตตานี และเมื่อหลวงปู่ท่านกลับมาที่ จังหวัดธนบุรี กลับมายังวัดประดู่ฉิมพลี ท่านก็ได้สร้างพระพุทธบาทจำลอง เมื่อครั้งที่หลวงปู่โต๊ะยังมีชีวิตอยู่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ได้ทรงมีพระราชศรัทธาเลื่อมใสในปฏิปทาและจริยาวัตรของหลวงปู่เป็นอย่างยิ่ง โดยได้เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ของทุกๆ พระองค์ ไปยังวัดประดู่ฉิมพลี เพื่อทรงสดับคำสอนของหลวงปู่ และในบางโอกาส ก็ได้กราบอาราธนานิมนต์หลวงปู่ท่านไปแสดงธรรมยังภายในเป็นการส่วนพระองค์อีกด้วย
ปาฏิหาริย์หลวงปู่โต๊ะ
ข้อมูลทั่วไปมักบอกเล่าเหตุการณ์ที่ ครั้งหนึ่ง บุคคลสำคัญระดับสูงของประเทศ ได้ถามเรื่อง “ไสยศาสตร์มีจริงหรือไม่?” กับพระอริยสงฆ์ หรือพระเกจิผู้ใหญ่ท่านนี้ ที่สุด หลวงปู่โต๊ะ อินทสุวัณโณ วัดประดู่ฉิมพลี กรุงเทพฯ ท่านจึงหยิบปากกาข้างตัวท่าน มาเขียนนะที่ฝ่ามือ แล้วชูให้ผู้ถามดู
แล้วเอามือที่ลงนะนั้นมาเป่า แล้วชูให้ดูใหม่ ปรากฎว่านะที่ฝ่ามือท่านหายไปแล้ว และท่านก็ชี้ขึ้นไปบนขื่อ เมื่อผู้ถามมองไปตามนิ้วหลวงปู่ ก็ได้เห็นนะที่เมื่อครู่อยู่ที่ฝ่ามือหลวงปู่ ไปติดอยู่ที่บนขื่อแล้ว เป็นอันไม่ต้องอธิบายแล้ว
นอกจากนี้ยังมี บทความ โดยเฟซบุคแฟนเพจ “ศิษย์มีครู” ที่ได้เรียบเรียงขึ้นเพื่อเผยแผ่กิตติคุณเป็นสังฆบูชา และเทิดทูนเกียรติคุณครูบาอาจารย์ เล่าว่าเป็นประสบการณ์รอดตายจากคมกระสุนด้วยบารมีธรรม หลวงปู่โต๊ะวัดประดู่ฉิมพลี โดยช่วงปี พ.ศ. 2537 ขณะที่ผู้เล่า และภรรยา ลูกชายคนเล็กอายุสามเดือน พร้อมด้วยพี่สาวภรรยา ได้เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวจากพัทยาเพื่อที่จะไปรับแฟนพี่สาวภรรยา ซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่นที่สนามบินดอนเมือง
โดยขากลับ ตนเองเกิดอาการเขม่นตาขวามาตลอดทาง จึงสวดคาถาชินบัญชรในใจตลอดเวลา โดยเฉพาะยังขอบารมีหลวงปู่โต๊ะที่ผมและภรรยาแขวนอยู่ เมื่อขับก่อนจะถึงค่ายทหารรักษาพระองค์ รถได้ถูกวางตะปูเรือใบโดยคนร้ายได้ตอกตะปูห้านิ้วไว้กับไม้หน้าสามวางสลับไปมา รถก็เหยียบตะปูเข้าอย่างจัง ยางฉีกขาด จนต้องงจอดรถเข้าข้างทาง
ตอนนั้นผู้เล่ารู้แล้วว่ากำลังจะถูกปล้น แต่จำต้องลงจากรถเพื่อเปลี่ยนยางอะไหล่ และได้บอกกับภรรยาว่าให้ยืนดูรอบๆ ขณะที่กำลังจะเปลี่ยนยาง ยังไม่ทันไรก็มีรถที่ขับตามหลังมาถูกตะปูอีกหนึ่งคัน แต่เขาก็ยังขับไปได้อีกประมาณ 50 เมตร จากนั้นภรรยาเขาก็บอกว่าเห็นผู้ชายสองคนแต่งชุดหมีเหมือนพวกช่างกลเป็นวัยรุ่นเดินอยู่อีกฝั่งของถนนอ้อมไปยังรถคันที่จอดอยู่ข่างหน้า แต่ยังไม่ทันเดินไปถึงก็อ้อมกลับมาที่รถของเขา
เมื่อเดินมาถึงทั้งสองคนก็เปิดชายเสื้อชักปืนขึ้นมาจ่อมาที่ผู้เล่า วินาทีนั้น เขาจึงเอามือผลักภรรยาให้หลบอยู่ข้างหลังผม และภรรยาได้ผลักให้ชาวญี่ปุ่นลงไปหลบในคูข้างทาง หนึ่งในคนร้ายได้พูดขึ้นว่าเฮ้ย...มึงมีของมีค่าอะไรถอดมาให้หมด เขาก็ตอบทันที...กูไม่ให้ ภรรยาก็บอกต่อว่ากูก็ไม่ให้...คนร้ายก็บอกว่าไม่ให้กูยิง....ขณะนี้เองที่ใจของผู้เล่า ได้นึกถึงหลวงปู่โต๊ะในใจว่า (หลวงปู่โต๊ะช่วยลูกด้วย...ขอให้ยิงไม่เข้า)แล้วจึงพูดว่า..ยิงก็ยิงซิว่ะ...
จากนั้นเสียงปืนก็ดังขึ้น...เขารู้สึกชาที่ข้อศอกจนแขนสะบัด จากนั้นเขาจะใช้เหล็กเปลี่ยนยางตีสวน แต่ผู้ร้ายก็ยิงอีกที่ไหปลาร้าจนหงายหลัง แต่ด้วย บารมีของหลวงปู่โต๊ะคุ้มครอง เขาจึงกระโดดเข้าสู้ คนร้ายเห็นว่าผมถูกยิงสองนัดไม่เป็นไรก็ตกใจพูดขึ้นว่า...เฮ้ยถอยแล้ววิ่งอ้อมไปทางหลังรถภรรยาก็ตะโกนว่า..ช่วยด้วยๆ ถูกปล้น คนร้ายก็หันมายิงภรรยาเขาอีกหนึ่งนัดถูกที่ขาจนกางเกงยีนทะลุแต่ไม่เข้าแล้วคนร้ายก็วิ่งข้ามถนนเข้าซอยหายไป
ราวตีสาม มีคนมาช่วย แล้วได้ตรวจสอบรอยยิง พบว่า ที่ข้อศอกและที่ไหปลาล้าเป็นรอยบวมเท่าลูกมะนาวแต่ไม่เข้ามีเพียงอาการขัดยอก ทั้งที่เป็นปืนขนาดเก้ามม. อย่างที่รู้กัน หลวงปู่โต๊ะ ท่านเป็นคนที่มีศีลวัตรปฏิบัติอันงดงาม มีกริยามารยาทที่งดงาม มีความสุภาพอ่อนโยน มีความเมตตากรุณาต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด
และยังว่ากันว่าท่าน สามารถล่วงรู้เหตุการณ์ในอนาคตได้ ครั้งหนึ่งท่านได้เคยเจอเกี่ยวกับโรคระบาด หลวงปู่ท่านเห็นคนหลายคนไม่สบาย ท่านก็รู้สึกไม่สบายใจ เพราะท่านเองก็เป็นโรคนี้ด้วยเหมือนกัน ท่านจึงตั้งจิตว่า หากท่านยังมีชีวิตอยู่ ขอให้ท่านจงหายจากโรคนี้ แต่ถ้าท่านหมดบุญแล้ว ก็ขอให้ตายซะ ในตอนกลางคืน ท่านได้นิมิตว่า หลวงพ่อบ้านแหลมได้นำน้ำพระพุทธมนต์มาเจริญให้ ตื่นมาท่านก็มาเจริญน้ำพระพุทธมนต์ และสุดท้ายท่านก็หายจากโรคนี้
อย่างไรก็ดี ในเบื้องปลายชีวิต หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี ท่านได้เริ่มอาพาธด้วยโรคชรา ว่ากันว่า สาเหตุหนึ่งเพราะ มีผู้คนมานิมนต์ท่านให้ออกมาให้พร หรือ ขอความช่วยเหลือ ท่านจึงไม่ค่อยมีเวลาพักผ่อน สุขภาพท่านจึงไม่ค่อยแข็งแรง
ท่านได้อาพาธครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2524 และก่อนมรณภาพได้เพียง 7 วัน ท่านลุกจากเตียงไม่ได้เลย จนกระทั่งเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2524 เวลา 9:55 น. ท่านได้ถึงแก่มรณภาพลงด้วยอาการสงบ รวมสิริอายุได้ 93 ปี 73 พรรษา
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดให้เชิญศพไปตั้งที่ศาลา 100 ปี วัดเบญจมบพิตร พระราชทานเกียรติยศศพเป็นพิเศษ เสมอพระราชาคณะชั้นธรรม พระราชทานโกศโถบรรจุศพ พร้อมฉัตรเบญจาเครื่องประกอบเกียรติยศครบทุกประการ พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์แก่การศพโดยตลอด ทั้งยังเสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศล 7 วัน 50 วัน 100 วัน และตามโอกาสอันควรหลายวาระ
ขอบคุณ : ศิษย์มีครู