วันลอยกระทง 8 พ.ย. 65 เกิด จันทรุปราคาเต็มดวง
ชมปรากฏการณ์ จันทรุปราคา หรือ ราหูอมจันทร์ ได้ในคืน วันลอยกระทง วันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 นี้ มองเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงเต็มดวงได้นานถึง 57 นาที
ราหูอมจันทร์ 2565 วันไหน วันนี้ทีมข่าว Thainews Online ได้ข้อมูลมาจาก สมาคมดาราศาสตร์ไทย โดยระบุเอาไว้ว่า วันลอยกระทง 8 พ.ย. 65 เกิด จันทรุปราคาเต็มดวง มองเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงเต็มดวงได้นานถึง 57 นาที
โดย สมาคมดาราศาสตร์ไทย ได้ระบุว่า ในวันที่ 8 พ.ย. นี้ ซึ่งตรงกับ วันลอยกระทงปี 2565 จะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง ประเทศในแถบเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย ตะวันตกของแอฟริกา ยุโรปตะวันออก อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ออสเตรเลีย มหาสมุทรแปซิฟิก และ มหาสมุทรแอตแลนติก สามารถมองเห็นได้
จันทรุปราคา ในครั้งนี้ ดวงจันทร์โคจร อยู่ในกลุ่มดาวแกะ ขณะที่ดวงจันทร์ขึ้นเหนือขอบฟ้าประเทศไทย ดาวยูเรนัส จะผ่านตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์พอดี ทำให้บางส่วนของโลก รวมทั้งพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทย สามารถเห็นดวงจันทร์บังดาวยูเรนัสได้
7 ขั้นตอนการเกิดจันทรุปราคา 8 พ.ย.นี้
- ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลก เวลา 15.02.15 น.
- เริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วน เวลา 16.09.12 น.
- เริ่มเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง เวลา 17.16.39 น.
- ดวงจันทร์เข้าไปในเงาลึกที่สุด เวลา 17.59.10 น.
- สิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวง เวลา 18.41.39 น.
- สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วน เวลา 19.49.05 น.
- ดวงจันทร์พ้นจากเงามัวของโลก เวลา 20.56.11 น.
สำหรับ จันทรุปราคาวันที่ 8 พ.ย.นี้ ถือเป็น จันทรุปราคาเต็มดวง หรือ ราหูอมจันทร์ ในวันดังกล่าว ประเทศไทยดวงจันทร์จะโผล่พ้นจากขอบฟ้าเวลาประมาณ 17.44 น. (เวลา ณ กรุงเทพฯ) ทำให้ผู้สังเกตในไทยมีโอกาสมองเห็นดวงจันทร์ปรากฏเป็นสีแดงอิฐทั้งดวงนานถึง 57 นาที
ก่อนที่จะเข้าสู่จันทรุปราคาบางส่วนใน เวลา 18.42-19.49 น. และเข้าสู่จันทรุปราคาเงามัวที่สังเกตเห็นได้ยาก และสุดท้ายดวงจันทร์จะพ้นจากเงามัวของโลกเวลา 20.56 น. ถือว่าเป็นการสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาในครั้งนี้โดยสมบูรณ์
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2564 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน ซึ่งถือเป็นปรากฎการณ์ทางดาราศาสตร์ครั้งสุดท้ายของปีนี้
จันทรุปราคาครั้งถัดไป
หลังจากปีนี้ ประเทศไทยสามารถสังเกตจันทรุปราคาบางส่วนได้ในเช้ามืด วันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม 2566 และจะมีโอกาสเห็น จันทรุปราคาเต็มดวง ได้อีกในคืนวันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน 2568 และหัวค่ำของวันอังคารที่ 3 มีนาคม 2569
ขอบคุณ : สมาคมดาราศาสตร์ไทย