ทำบุญวันลอยกระทง สืบสาน ประเพณีลอยกระทง ของไทย
วันลอยกระทง 2565 เปิดประวัติประเพณีลอยกระทงในประเทศไทย และ ประเพณีไทย ทำบุญวันลอยกระทง เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมไทยให้คงอยู่สืบไป
วันลอยกระทง 2565 วันนี้ทีมข่าว Thainews Online จะพาสายมูมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ทำบุญวันลอยกระทง สืบสาน ประเพณีลอยกระทง ของไทย รวมไปถึง ประวัติวันลอยกระทง มีความเป็นมาอย่างไร เพื่อร่วมกันอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยให้คงอยู่สืบไป
ประวัติประเพณีลอยกระทง
ประเพณีลอยกระทงเป็นประเพณีโบราณของอินเดียที่ประเทศไทยรับเข้ามาปฏิบัติ ตำนานกล่าวไว้ว่าในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง มีนางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เป็นผู้ประดิษฐ์กระทงขึ้นครั้งแรก โดยนำดอกโคทม ซึ่งเป็นดอกบัวที่บานเฉพาะวันเพ็ญเดือนสิบสองมาใช้ใส่เทียนประทีป เพื่อบูชารอยพระพุทธบาท แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงจากการทำจากดอกบัวเป็นต้นกล้วยเพราะดอกบัวดังกล่าวหายากและมีน้อยจึงใช้ต้นกล้วยทำแทนแล้วดูไม่สวยจึงใช้ใบตองมาพับแต่งจนสวยในที่สุดจนสืบทอดมาจนปัจจุบัน
ประวัติพระแม่คงคา
พระแม่คงคา พระองค์ทรงเป็นพระธิดาของท้าวหิมวัต และพระนางเมนกา มีน้องสาวนามว่า พระอุมาภควตี และทรงเป็นพระชายาของพระศิวะ ตามคติความเชื่อของอินเดียว่ากันว่า พระองค์ทรงปลาใหญ่ หรือ จระเข้เป็นพาหนะ พระองค์เป็นเทวีผู้ให้กำเนิดสายน้ำคงคา ตามความเชื่อของชาวอินเดีย
อีกตำนานว่า เดิมทีโลกมนุษย์นั้นบังเกิดความแห้งแล้งอย่างหนัก ซึ่งเกิดจากการที่พระแม่คงคาไม่ยอมปล่อยน้ำลงมาสู่โลกมนุษย์แล้วเสด็จหนีไป จึงทำให้มนุษย์และสัตว์ล้มตายมากมาย บรรดาเทวะเห็นดังนั้น จึงไปกราบทูลเชิญพระศิวะเจ้าให้ทรงจัดการเรื่องนี้ พระองค์จึงทรงออกตามหาพระแม่คงคากลับมา แล้วให้พระแม่คืนสายน้ำให้มนุษย์ แต่พระแม่ไม่ยอม พระศิวะจึงทรงใช้พระเกศรัดพระแม่คงคา จนพระนางยอมปล่อยสายน้ำออกมา
บางตำนานก็ว่า พระศิวะเจ้าทรงได้พระแม่เป็นภรรยาลับๆ ด้วยความกลัวพระแม่อุมารู้แล้วจะทรงพิโรธ จึงซ่อนพระแม่ไว้ในมวยพระเกศ ให้พระแม่ปล่อยน้ำออกมาจากพระเกศของพระองค์ เพื่อล้างบาปที่พระองค์ได้ทรงทำด้วย
ทำบุญวันลอยกระทง สืบสาน ประเพณีลอยกระทง ของไทย
ทำบุญวันลอยกระทง ประเพณีลอยกระทง ขนบธรรมเนียมและประเพณีไทย พิธีทำบุญลอยกระทง นั้นมีมาแต่สมัยโบราณครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี นิยมทำกันในวันเพ็ญเดือน 11 หรือวันเพ็ญเดือน 12 ผู้ที่จะประกอบพิธีลอยกระทงนั้น ก็มีการเตรียมทำกระทงเป็นรูปต่าง ๆ ให้ลอยน้ำได้ มีธูปเทียนและดอกไม้ปักอยู่ข้างใน เมื่อถึงกำหนดการทำพิธีลอยกระทง
ซึ่งส่วนมากเป็นเวลากลางคืน ก็นำกระทงนั้นไปลอยลงในแม่น้ำลำคลอง หรือในสระใหญ่ก็ได้ โดยถือว่าเป็นการลอยกระทง เพื่อการบูชาพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า ในขณะที่ประกอบการลอยกระทงนั้น มีคาถากล่าวดังนี้
“ข้าพเจ้าขอน้อมบูชารอยพระบาทของสมเด็จพระพุทธเจ้า อันประดิษฐานอยู่ ณ หาดทรายแห่งแม่น้ำ นัมมุทาโพ้นด้วยประทีปนี้ ขอให้การบูชารอยพระบาทด้วยดวงประทีปนี้จงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้า จนสิ้นกาลนานเทอญ”
ส่วนการแต่งกายในวันลอยกระทงนั้น แต่งด้วยเครื่องแต่งกายเรียบ ๆ ไม่ใช้สีฉูดฉาด หรือจะแต่งตามประเพณีนิยมก็ได้ และหลังจากวันที่ได้ทำพิธีลอยกระทงนั้นแล้ว มักถือเป็นวันหยุดการทำบาปทั้งปวง เพื่ออุทิศกุศลให้เกิดแก่ตนเองอีกทางหนึ่งด้วยค่ะ