ตั่วเหล่าเอี้ย ขจัดสิ่งไม่ดีในเทศกาล วันตรุษจีน
เทพเจ้าตั่วเหล่าเอี๊ย วันนี้ทีมข่าว Thainews Online จะพาไปเปิด ประวัติ ตั่วเหล่าเอี้ย หรือ เทพเจ้าตั่วเหล่าเอี๊ย ผู้พิชิตมาร ขจัดสิ่งไม่ดีในเทศกาล วันตรุษจีน จะมีความเป็นมาอย่างไรไปติดตามได้พร้อมกันค่ะ
เทพเจ้าตั่วเหล่าเอี๊ย วันนี้ทีมข่าว จะพาสายมูไปทำความรู้จัก เทพเจ้าจีน นั่นคือ เทพเจ้าตั่วเหล่าเอี้ย เป็นเทพผู้พิชิตมาร ขจัดสิ่งไม่ดีในเทศกาล วันตรุษจีน จะมีเรื่องราวความเป็นมาอย่างไรไปติดตามกันเลยค่ะ
องค์เทพตั่วเหล่าเอี้ย เทพเจ้าองค์ประธานใน ศาลเจ้าพ่อเสือ องค์กลาง บางคนเรียกว่า เจ้าพ่อเสือ เป็นองค์เทพศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวจีนเคารพบูชามานานนับพันปี
ศาลเจ้าพ่อเสือ เกิดจากคนไทยเห็นชาวแต้จิ๋วไหว้ ตั่วเหล่าเอี้ย เชื่อว่าช่วยเสริมดวงชะตา ทำมาค้าขึ้น ช่วยปัดเป่าอุปสรรค จึงนิยมกราบไหว้และสร้าง ศาลเจ้าพ่อเสือ ขึ้นบริเวณเสาชิงช้า อัญเชิญ ตั่วเหล้าเอี้ย, รูปปั้นเจ้าพ่อเสือ, เจ้าพ่อกวนอู และ เจ้าแม่ทับทิม ประดิษฐานไว้ให้ผู้คนมาสักการะ
บางคนเรียกองค์เทพ ตั่วเหล่าเอี้ย ว่า “องค์เจ้าพ่อใหญ่” บ้างเรียกรวมกับองค์รูปปั้นเสือว่า เจ้าพ่อเสือ ด้วยอยู่ใน ศาลเจ้าพ่อเสือ ซึ่งเดิมพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นอุดมรัตนราษี (พระราชโอรสในสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ) ให้ก่อสร้างศาลเจ้าพ่อเสือ บนถนนบำรุงเมือง ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดฯ ให้ขยายถนนบำรุงเมือง จึงย้ายศาลมาไว้ที่บริเวณสามแพร่ง ถ.ตะนาว ที่ตั้งของ ศาลเจ้าพ่อเสือ ในปัจจุบัน โดยอาคารก่อสร้างตามรูปแบบศาลเจ้าที่นิยมในภาคใต้ของจีน
ตั่วเหล่าเอี้ย เลื่องชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ อธิษฐานขอพรสิ่งใดได้สมประสงค์ บ้างมาขอพรเรื่องค้าขาย เรื่องขจัดอุปสรรค เสริมอำนาจบารมี ขอโชคลาภ ขอพรให้มีลูก ฯลฯ คนมาไหว้ ตั่วเหล่าเอี้ย และ เจ้าพ่อเสือ (ด้านซ้าย) ทุกปี ตามความเชื่อของคนไทยเชื้อสายจีนคือ คนปีเสือต้องไปไหว้เจ้าพ่อเสือ เพื่อเสริมดวง เสริมมงคล คนปีวอกไปไหว้แก้ชง แต่เอาเข้าจริงคนเกิดทุกปีนักษัตร นิยมไปไหว้เจ้าพ่อเสือทุกปี และไปช่วงหลังวัน ตรุษจีน ไปแล้ว 15 วัน
ตำนาน เทพเจ้าตั่วเหล่าเอี๊ย
ตำนานที่ 1 เทพเจ้าตั่วเหล่าเอี๊ย หรือองค์เทพ เฮี่ยงเทียนเสี่ยงตี่
มี ตำนาน เล่าขานมากมายเกี่ยวกับตั่วเหล่าเอี๊ย ชาวจีนนิยมกราบไหว้เชื่อว่ามีพลังในการปกปักอภิบาลและปราบศัตรู ขจัดสิ่งเลวร้าย ตำนานที่มาของท่านมีหลายข้อมูล เช่น เดิมมีชื่อว่า เสวียนอู่ เป็นเจ้าชายเมืองจิงหลี่ ทางตอนเหนือของเหอเป่ย สมัยจักรพรรดิเหลือง เมื่อเติบโตขึ้นพบเห็นความทุกข์ยากของราษฎรจึงคิดอยากไปบำเพ็ญเพียร ปฏิบัติธรรม
ตำนานที่ 2 เทพเจ้าตั่วเหล่าเอี๊ย หรือองค์เทพ เหี่ยงเทียงเสี่ยงตี่
บางตำนานบอกว่าท่านเป็นนักพรตบำเบ็ญเพียร บนเขาบู๊ตงซาน (บู้ตึ้ง) จนสำเร็จเป็นเซียน บางตำราบอกว่าท่านเป็นภาคหนึ่งของไท่ซ่งเหลากุ้น เป็นตัวแทนดาวเหนือ เต่าและงูที่ท่านเหยียบนั้นเดิมเป็นปีศาจทำร้ายมนุษย์และท่านได้ปราบสัตว์ทั้งสองจนนำมาเป็นบริวาณของท่านเอง
อีกตำนานหนึ่งเล่าว่า ชายหนุ่มจากเมืองลกฮง ประเทศจีน มีอาชีพฆ่าหมูและวัวขาย วันหนึ่งกลับใจหันมาปฏิบัติธรรมตามลัทธิเต๋า โดยยินดีสละชีวิตตนเอง คว้านท้องเอากระเพาะและลำไส้ออกมาเพราะต้องการเอาชีวิตตนแลกธรรมเพื่อทดแทนบาปเคราะห์
ผลบุญนั้นส่งให้ เง็กเซียนฮ่องเต้ ประมุขแห่งสวรรค์ ประทานยศให้เป็น ผู้ตรวจภพทิศเหนือ บ้างเขียนฉายาท่านว่า เทพแห่งนักรบ หรือ 真武 (เจินอู่) หรือชื่อในภาษาแต้จิ๋วว่า เหี่ยงเทียงเสี่ยงตี่ มีธงดำเป็นอาญาสิทธิ์ ปราบปีศาจร้าย เท้าข้างหนึ่งเหยียบงู อีกข้างเหยียบเต่า มีเสือเป็นพาหนะ บางคนจึงเรียกท่านว่า เจ้าพ่อเสือ
ชาวบ้านต่างเลื่อมใสศรัทธา จึงสร้างศาลเจ้าและรูปปั้นไว้เพื่อบูชา โดยใช้สัญลักษณ์เท้าเหยียบเต่า เหยียบงู และมีธงสีดำ เป็นเทพศักดิ์สิทธิ์ประจำกลุ่มดาวด้านทิศเหนือ หรือ ผู้พิชิตมาร ในรูปลักษณ์ขุนพลเคราดำยาว เท้าเหยียบบนหลังงูและเต่า ซึ่งถือเป็นสัตว์ประจำกาย มือขวาถือดาบชิดแชเกี่ยม มือซ้ายยกชี้ระดับหน้าอกไปยังท้องฟ้า หมายถึงการบรรลุธรรมสำเร็จเต๋า ที่ผู้คนกราบไหว้มาถึงทุกวันนี้
ตำนานที่ 3 เทพเจ้าตั่วเหล่าเอี๊ย
ตำนานเรื่อง เทพเจ้าเสือ ของจีน ผสมผสานเข้ากับตำนานของไทย เรื่องเล่าว่า นายสอนเข้าป่าไปพบซากกวางแล้วเฉือนเนื้อกวางมาให้แม่คือยายผ่องกิน ซึ่งซากกวางนั้นเกิดจากเสือกัดตาย เมื่อเสือเห็นนายสอนจึงเข้าไปขย้ำกัดแขนนายสอนขาด แต่นายสอนหนีกลับบ้านได้แล้วเล่าให้ยายผ่องฟัง ไม่นานก็ขาดใจตาย
ยายผ่องจึงร่วมกับชาวบ้านช่วยกันจับเสือ เมื่อจับได้กะฆ่าเสือให้ตายแต่ยายผ่องเกิดสงสารจึงนำเสือตัวนั้นมาเลี้ยงไว้ จนยายผ่องตายไปเสือก็เดินวนเวียนอยู่รอบกองไฟที่กำลังเผายายผ่อง จากนั้นมันก็กระโดดเข้ากองไฟตายตาม ชาวบ้านจึงร่วมกันสร้างศาลขึ้นมาอยู่ข้างวัดมหรรณพ โดยปั้นรูปเสือไว้พร้อมนำเถ้ากระดูกมาวางไว้ใต้แท่น และทำพิธีเชิญดวงวิญญาณเสือมาสิงสถิตไว้ เพื่อปกป้องคุ้มครอง
นี่คือเรื่องราวที่มี ความเชื่อ และมีเรื่องเล่าสืบทอดกันมา และบทความนี้เป็นความเชื่อส่วนบุคคลโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านด้วยนะคะ