วันสารทไทย 2566 แต่ละภาคมีความหมายอย่างไร

13 ตุลาคม 2566

14 ต.ค. วันสารทไทย 2566 วันสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีทำบุญให้กับบรรพบุรุษ และมีความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป ไปดู วันสารทไทย 2566 แต่ละภาคมีความหมายอย่างไร

14 ต.ค. วันสารทไทย 2566 หรือ วันสารทเดือนสิบ เป็นงานบุญสำคัญของทุกภาคในประเทศไทย ที่จัดเทศกาลทำบุญในวันสิ้นเดือน 10 หรือ วันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 และ วันสารทไทย 2566 แต่ละภาคมีความหมายอย่างไร เราจะพาไปย้อนดูประวัติความเป็นมาและความสำคัญกันคะ 

วันสารทไทย 2566 แต่ละภาคมีความหมายอย่างไร

วันสารทไทย 2566 หมายถึงอะไร หากย้อนกลับไปในสมัยพระยาอนุมานราชธน ได้เขียนเล่าในหนังสือเทศกาลและประเพณีไทยว่า คำว่า "สารท" เป็นคำอินเดีย หมายถึง "ฤดู" ตรงกับฤดูในภาษาอังกฤษ ที่เรียกว่า "ออทั่ม" หรือ ฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งจะมีเฉพาะบางเขตของโลกอย่างยุโรป จีน และอินเดียตอนเหนือ เท่านั้น ช่วงนั้นเป็นระยะที่พืชพรรณธัญชาติ และผลไม้ เริ่มสุกให้พืชผลครั้งแรกในฤดู ดังนั้น ประชาชนจึงรู้สึกยินดี และถือเป็นเทศกาลแห่งความรื่นเริง จึงมักทำพิธีตามความเชื่อและเลี้ยงดูกันอย่างที่เรียกว่า "Seasonal Festival"

โดยบางแห่งก็จะมีการนำพืชผลที่เก็บเกี่ยวได้ครั้งแรกที่เรียกว่า "ผลแรกได้" ไปสังเวยหรือบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเองนับถือ เพื่อความเป็นสิริมงคล และแสดงความเคารพที่ท่านช่วยบันดาลให้พืชพรรณธัญญาหารอุดมสมบูรณ์จนเก็บเกี่ยวได้ เช่น พิธีปงคัล ในอินเดียตอนใต้ ที่มีพิธีต้มข้าวกับน้ำนมทำเป็นขนม เรียกว่า ข้าวทิพย์ ข้าวปายาส ถวายพระคเณศ เป็นต้น

สำหรับในพจนานุกรมไทย "สารท" มีความหมายว่า เทศกาลทำบุญในวันสิ้นเดือน 10 โดยนำพืชพรรณธัญญาหารแรกเก็บเกี่ยวมาปรุงเป็นข้าวทิพย์ และข้าวมธุปายาสถวายพระสงฆ์ จะตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี ซึ่งมักจะตกราว ๆ ปลายเดือนกันยายน ถึงเดือนตุลาคม

วันสารทไทย 2566 แต่ละภาคมีความหมายอย่างไร

วันสารทไทย 2566 แต่ละภาคมีความหมายอย่างไร 

  • ภาคกลาง เรียกว่า "สารทไทย"
  • ภาคเหนือ เรียก "งานทานสลากภัต" หรือ "ตานก๋วยสลาก"
  • ภาคอีสาน เรียก "ทำบุญข้าวสาก"
  • ภาคใต้ เรียก "งานบุญเดือนสิบ" หรือ "ประเพณีชิงเปรต"  

ประเพณีวันสารทไทย ภาคกลาง ชาวบ้านจะจัดแจงข้าวปลาอาหาร ไปทำบุญกรวดน้ำที่วัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ญาติมิตรผู้ล่วงลับ และถือศีล ฟังธรรมเทศนา และบางท้องถิ่นจะทำขนมสำหรับบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม่พระโพสพ ผีนา ผีไร่ด้วย เมื่อถวายพระสงฆ์เสร็จแล้วก็นำไปบูชาตามไร่นา โดยวางตามกิ่งไม้ต้นไม้ หรือที่จัดไว้เพื่อการนั้นโดยเฉพาะ

ประเพณีตานก๋วยสลาก ภาคเหนือ มักจะมีญาติสนิทมิตรสหายที่อยู่ต่างบ้านมาร่วมทำบุญ และมาร่วมจัดดาสลากด้วย ซึ่งถือเป็นประเพณีที่จะได้ทำบุญร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นของกิน หรือของใช้ต่าง ๆ เช่น เกลือ ข้าวสาร หอม กะปิ ชิ้นปิ้ง เนื้อเค็ม จิ้นแห้ง แคบหมู เมี่ยง บุหรี่ ไม้ขีดไฟ เทียนไข สีย้อมผ้า ผลไม้ต่าง ๆ เป็นต้น

ประเพณีทำบุญเดือนสิบ ภาคใต้ มีประเพณีทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บุคคลที่ล่วงลับไปแล้ว ในเดือน 10 เป็น 2 วาระ คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ครั้งหนึ่ง และวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 อีกครั้งหนึ่ง โดยถือคติว่า พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ต้องตกนรก หรือเรียกว่าเปรตนั้น จะได้รับอนุญาตให้มาพบกับญาติของตนในเมืองมนุษย์ได้ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และกลับไปสู่นรกดังเดิม ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ดังนั้น จึงมีการทำบุญใน 2 วาระ ดังกล่าวนี้ แต่ส่วนใหญ่ทำวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เพราะมีความสำคัญมากกว่า

ประเพณีงานบุญเดือนสิบ หรือ ทำบุญข้าวสาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีประเพณีการทำบุญในเดือน 10 เหมือนกัน คือ ทำในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 แต่แบ่งระยะเวลาของประเพณีการทำบุญออกไปเป็น 2 ระยะ ดังนี้ ระยะแรก ก่อนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ชาวบ้านจะเตรียมข้าวเม่าพอง และข้าวตอก (บางแห่งเรียกดอกแตก) ขนมและอาหารหวานคาวอื่น ๆ เพื่อจะทำบุญในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 โดยเฉพาะข้าวสาก ซึ่งคนไทยภาคกลางเรียกว่า กระยาสารท เมื่อเตรียมของทำบุญไว้เรียบร้อย ก็จะเอาข้าวปลาอาหารไปส่งญาติพี่น้อง ระยะที่สอง คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 เวลาเช้า ชาวบ้านไปทำบุญตักบาตรที่วัด อุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้ว แต่อาจมีบางคนอยู่วัดรักษาศีล ฟังเทศน์ เมื่อถึงเวลาใกล้เพล ก็เตรียมภัตตาหารไปวัดอีกครั้งหนึ่ง มีห่อข้าวน้อย ห่อข้าวใหญ่ ข้าวสาก และอาหารอื่น ๆ บางแห่งอาจจัดของที่จะถวายเป็นกัณฑ์เทศน์ไปด้วย

วันสารทไทย 2566 แต่ละภาคมีความหมายอย่างไร