ประวัติ ท้าวทองกีบม้า ผู้สร้างตำนานขนมไทย

19 ตุลาคม 2566

ท้าวทองกีบม้า หรือ มารี ตอง กีมาร์ หรือที่เรารู้จักในนาม แม่มะลิ หนึ่งในตัวละครคนสำคัญในเรื่องพรหมลิขิต ไปเปิด ประวัติ ท้าวทองกีบม้า ผู้สร้างตำนานขนมไทย ที่ถูกยกให้เป็น ราชินีขนมไทย ในปัจจุบัน

ท้าวทองกีบม้า หรือ แม่มะลิ หนึ่งในตัวละครสำคัญในเรื่องพรหมลิขิต ภาคต่อจากละครเรื่องบุพเพสันนิวาส ที่ได้ ซูซี่-สุษิรา แน่นหนา รับบทบาท "แม่มะลิ" หรือ "ท้าวทองกีบม้า" ออกอากาศ EP1 ตอนแรกเมื่อคืนวันที่ 18 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา เราจะพาคุณย้อนกลับไปดูประวัติ ท้าวทองกีบม้า ผู้สร้างตำนานขนมไทย ให้รู้ลึกและเข้าถึงบทละครได้ดียิ่งขึ้น

ประวัติ ท้าวทองกีบม้า ผู้สร้างตำนานขนมไทย

ประวัติ ท้าวทองกีบม้า หากย้อนกลับไปในสมัยอยุธา ท้าวทองกีบม้า มีชื่อเสียงจากการปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าห้องเครื่องต้นวิเสทในราชสำนักอยุธยา ซึ่งเธอได้ประดิษฐ์ขนมไทยที่ได้รับอิทธิพลจากอาหารโปรตุเกส อาทิ ทองม้วน ทองหยิบ ทองหยอด ทองพลุ ทองโปร่ง ฝอยทอง กะหรี่ปั๊บ ขนมหม้อแกง สังขยา ขนมผิง สัมปันนี ขนมขิง ขนมไข่เต่า ลูกชุบ จนได้สมญาว่าเป็น "ราชินีแห่งขนมไทย" 

ท้าวทองกีบม้า ได้สร้างสรรค์ขนมหวานหลายชนิด โดยดัดแปลงมาจากตำรับอาหารโปรตุเกสให้เป็นขนมหวานของไทย โดยผสมผสานความรู้ด้านการทำอาหารที่มีมาแต่เดิมรวมเข้ากับวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น ทั้งยังสอนความรู้ดังกล่าวแก่เหล่าสตรีในบัญชา จนตำรับเป็นที่เผยแพร่โดยทั่วไปและตกทอดสู่อนุชนรุ่นหลัง ถือเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมโปรตุเกสที่แพร่เข้าสู่สังคมไทย

ประวัติ ท้าวทองกีบม้า ผู้สร้างตำนานขนมไทย

ชีวิตสมรส ท้าวทองกีบม้า มารีอา เป็นคริสตังเชื้อสายโปรตุเกส, เบงกอล และญี่ปุ่น เป็นธิดาคนโตของฟานิก กูโยมาร์ (Fanik Guyomar) บิดามีเชื้อสายโปรตุเกส, ญี่ปุ่น และเบงกอล ที่อพยพมาจากอาณานิคมโปรตุเกสในเมืองกัว กับมารดาชื่ออูร์ซูลา ยะมะดะ ลูกหลานผู้ลี้ภัยจากการเบียดเบียนศาสนาในญี่ปุ่น

ท้าวทองกีบม้าและเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ มีบุตรด้วยกันสองคน คือ 

1. จอร์จ ฟอลคอน (George Phaulkon) 
2. คอนสแตนติน ฟอลคอน (Constantin Phaulkon) 

แต่ก่อนหน้านี้ฟอลคอนมีบุตรสาวคนหนึ่งที่เกิดกับหญิงชาววังที่ได้รับพระราชทานจากกรมหลวงโยธาเทพเพื่อผูกมัดฟอลคอนไว้กับราชสำนัก หลังสมรสแล้วมารีอาจึงส่งหญิงผู้นั้นไปเมืองพิษณุโลก มารีอาก็แสดงน้ำใจด้วยนำบุตรของหญิงผู้นั้นมาเลี้ยงเองเป็นอย่างดี

ช่วงชีวิตตกอับของท้าวทองกีบม้า เมื่อพระยาวิไชเยนทร์ผู้เป็นสามี ถูกตัดสินประหารชีวิตและริบราชบาตรหลังเกิดจลาจล ก่อนสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเพียงไม่กี่วัน มารีอาสิ้นเนื้อประดาตัว ต้องประสบเคราะห์กรรมและความทุกข์อย่างสาหัส ทั้งยังต้องทนทุกขเวทนากับการคุมขัง

และโชคร้ายของนางยังไม่หมดเท่านี้ เมื่อหลวงสรศักดิ์ พระโอรสในสมเด็จพระเพทราชา พระเจ้าแผ่นดินใหม่ ได้หลงใหลพึงใจในรูปโฉมของนาง และมีพระประสงค์ที่จะนำนางไปเป็นภริยา มีการส่งคนมาเกลี้ยกล่อมพร้อมคำมั่นนานัปการ หวังเอาชนะใจนาง เมื่อไม่สมดั่งใจประสงค์ก็แปรเป็นความเกลียดและขู่อาฆาต 

ท้าวทองกีบม้าต้องตกระกำลำบาก เธอได้เขียนจดหมายเป็นภาษาละตินส่งไปยังบาทหลวงฝรั่งเศส เพื่อให้บาทหลวงนำความจากจดหมายเข้ากราบทูลพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ บังคับให้บรรษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศสคืนเงินค่าหุ้นของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ที่ได้ลงทุนไว้ให้คืนให้กับท้าวทองกีบม้า ซึ่งหลักฐานนี้ถูกบันทึกไว้ในวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1706 (พ.ศ. 2249) ซึ่งเป็นแผ่นในรัชสมัยของ พระเจ้าเสือ

ในปี พ.ศ. 2260 รัฐบาลฝรั่งเศสได้มีมติอนุมัติให้ส่งเงินรายได้ที่เป็นของฟอลคอนแก่นางตามที่นางขอร้องในจดหมายที่เคยส่งไปมาให้ ที่สุดหลังพ้นจากวิบากกรรมอันเลวร้าย ท้าวทองกีบม้าได้ใช้เวลาแห่งบั้นปลายชีวิตที่เหลือด้วยการปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัดโดยพำนักอยู่กับลูกสะใภ้ที่ชื่อ ลุยซา ปัสซัญญา (Louisa Passagna) ภริยาม่ายของคอนสแตนติน และได้ถึงแก่มรณกรรมในปี พ.ศ.2265 ตอนที่เธอมีอายุ 63-64 ปี

ประวัติ ท้าวทองกีบม้า ผู้สร้างตำนานขนมไทย

ข้อมูลประกอบจาก หนังสือท้าวทองกีบม้า มาดามฟอลคอน , wikipedia , ช่อง 3