เปิดโลกแห่งวิญญาณ 9 เทศกาลผีที่คุณต้องรู้จัก
เทศกาลผี ประเทศอื่นๆ มีการเฉลิมฉลองวันแห่งผู้ล่วงลับกันอย่างไร? ไม่ใช่แค่ฮาโลวีนเท่านั้นที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ
เทศกาลผี ใครว่าวันฮาโลวีนเป็นวันเดียวที่มีผี? โลกของเรามีเทศกาลที่เกี่ยวข้องกับวิญญาณและโลกหลังความตายอีกมากมาย! มาร่วมเปิดประสบการณ์สุดหลอนไปกับ 9 เทศกาลผีจากทั่วโลก ที่จะพาคุณไปสัมผัสวัฒนธรรมและความเชื่อที่น่าสนใจ
คืนแห่งผู้ล่วงลับไม่มีแค่ “ฮาโลวีน” (วันที่ 31 ตุลาคม ของทุกปี) เท่านั้น ยังมีอีกหลายประเทศทั่วโลกที่มีความเชื่อเกี่ยวกับโลกหลังความตาย และจัดเทศกาลเพื่อเฉลิมฉลอง หรือบ้างก็จัดพิธีรำลึกถึงผู้ล่วงลับไปแล้วตามความเชื่อท้องถิ่น เพื่อแสดงถึงความกตัญญูหรืออุทิศบุญกุศลให้
ฮาโลวีน สหรัฐอเมริกา
“ฮาโลวีน” หรือ “Halloween” เป็นเทศกาลปล่อยผีของสหรัฐอเมริกาที่จัดขึ้นทุกวันที่ 31 ตุลาคม โดยมีความเชื่อว่าผีที่ออกมาปรากฎตัวเพราะจะเอามนุษย์ไปอยู่ด้วย เพื่อเป็นการป้องกันจึงให้มนุษย์ทุกคนแต่งตัวเป็นผี ให้กลมกลืนเหมือนกับผีจริงๆ ซึ่งเทศกาลฮาโลวีนเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่เด็กๆ และสิ่งทำกันเป็นประจำในเทศกาลนี้ คือการไปขอลูกกวาดหรือขนมจากบ้านต่างๆ สำหรับผู้ใหญ่ก็จะมีการจัดปาร์ตี้สังสรรค์
วันสารทจีน สาธารณรัฐประชาชนจีน
“วันสารทจีน” หรือ “The Hungry Ghost Festival” เป็นวันที่ชาวพุทธและลัทธิเต๋าลูกหลานชาวจีนจะทำพิธีไหว้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วที่จะกลับมายังโลกมนุษย์ และอุทิศส่วนบุญกุศลให้กับเหล่าผีไร้ญาติ ในวันประตูเทวโลก และยมโลกเปิด ซึ่งจะตรงกับวันที่ 15 เดือน 7 ตามปฏิทินทางจันทรคติ
เทศกาลนี้ประกอบไปด้วยพิธีต่างๆ เพื่อเอาใจและเลี้ยงอาหารให้กับผู้ตายในชีวิตหลังความตาย ซึ่งต่อมาก็จะมีการเผากระดาษเงินกระดาษทองเพื่อตอบสนองความต้องการของวิญญาณ ที่ชาวจีนเชื่อว่าเขาจะสามารถนำไปใช้ในชีวิตอีกภพภูมิหนึ่งได้
โดยผู้คนจะนำอาหารพิเศษมาไหว้บริเวณหน้าแท่นบูชาและจุดธูปตามบ้าน ร้านค้า และตามท้องถนนของตัวเอง และในระหว่างมื้ออาหารของครอบครัวจะจัดที่นั่งว่างเอาไว้สำหรับผู้ล่วงลับที่จะกลับมาอีกด้วย
ชูซอก สาธารณรัฐเกาหลี
“ชูซอก” หรือ “Chuseok” เป็นวันแห่งความกตัญญู และจริงๆ แล้วเป็นเทศกาลเก็บเกี่ยวประเภทหนึ่งของเกาหลีที่จัดขึ้นในเดือนกันยายนหรือตุลาคม ซึ่งจะตรงกับวันที่ 15 ค่ำ เดือน 8 ตามปฏิทินทางจันทรคติ และจะถือว่าเป็ยวันหยุดราชการ 3 วัน จึงทำให้ในเทศกาลนี้ชาวเกาหลีมักจะเดินทางไปยังบ้านเกิดของบรรพบุรุษที่เสียชีวิตของพวกเขาที่ให้ความมั่นใจในการเก็บเกี่ยวที่อุดมสมบูรณ์ เป็นที่มาให้วันสำคัญนี้ถูกเรียกว่า “วันขอบคุณพระเจ้าของเกาหลี”
โดยชาวเกาหลีจะเดินทางไปเยี่ยมหลุมศพของบรรพบุรุษ ทำความสะอาดสุสานของพวกท่าน และทำพิธีรำลึก แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงพิธีรำลึกอาหารเป็นส่วนสำคัญของงานเฉลิมฉลอง ดังนั้นชาวเกาหลีจะจัดเตรียมอาหารอันโอชะในลักษณะเฉพาะเพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ดวงวิญญาณบรรพชนด้วย
“ซงพยอน” เป็นเค้กข้าวโบราณรูปพระจันทร์เสี้ยวที่มักทำกันในช่วงเทศกาล และยังมีเกมพื้นบ้านที่นิยมเล่นกันอีก อาทิ Samulnori (วงดนตรีดั้งเดิม), Talchum (รำหน้ากาก), Ganggangsullae (รำวงเกาหลี) Ssireum (มวยปล้ำ) และ Ganggangsullae (รำวงเกาหลี) เป็นการเต้นรำ ที่เหล่าสาวๆ จะแต่งกายด้วยชุดฮันบก จับมือกันเป็นวงกลมขนาดใหญ่ ร่วมร้องเพลงเต้นรำกัน ในคืนวันเพ็ญวันแรกในช่วงเทศกาลชูซอก
คยะ ยาตรา ประเทศเนปาล
“คยะ ยาตรา” หรือ “Gai Jatra” เทศกาลสำหรับวัว ที่จัดขึ้นทุกวันที่ 27 สิงหาคมของทุกปี เทศกาลนี้ถูกเชื่อมโยงกับนิทานเรื่องเล่าที่ย้อนกลับไปเมื่อศตวรรษที่ 17 เมื่อพระราชินีมีแต่ความทุกข์ระทม ไม่สามารถยิ้มได้ พระโอรสของนางจึงจัดงานพาเหรดสังสรรค์ขึ้น สำหรับพระมารดาและใครก็ตามที่สูญเสียผู้เป็นที่รักไป โดยการให้มีไฟหลากสีส่องสว่างอยู่ตลอดเวลา แต่งตัวด้วยสีสันสดใส ให้กับวัว ซึ่งจะเป็นสิ่งที่อยู่หน้าขบวนพาเหรด ว่ากันว่าการแต่งตัวสีสันให้กับวัวจะสามารถสร้างเสียงหัวเราะได้และตามความเชื่อท้องถิ่นในตำนาน ถือว่าวิญญาณที่จากไปจำเป็นต้องมีหางวัวเพื่อไปสวรรค์
ปจุมเบน ประเทศกัมพูชา
“ปจุมเบน” หรือ “Pchum Ben” เป็นเทศกาลของกัมพูชาที่กินเวลา 15 วัน และเป็นหนึ่งในวันหยุดราชการที่สำคัญที่สุดในประเทศ เชื่อกันว่าประตูยมโลกจะเปิดในช่วงเวลานี้ ซึ่งอยู่ระหว่างเดือนกันยายนถึงตุลาคม ผู้มีชีวิตจึงต้องช่วยวิญญาณบรรพบุรุษในการชดใช้และบรรเทาทุกข์
กิจกรรมในวันนี้ชาวกัมพูชาบางคนอาจถวายอาหารแก่พระภิกษุ แต่บางคนก็ชอบวิธีการเลี้ยงวิญญาณโดยตรงมากกว่า โดยการโยนข้าวปั้นตามพิธีกรรมในสุสาน วัด หรือทุ่งนา อย่างไรก็ตามว่ากันว่าหากบุคคลล้มเหลวในการเลี้ยงวิญญาณเหล่านี้ พวกเขาจะได้รับความโกรธ แต่ผู้ที่ถวายอาหารจะได้รับพรด้วยกรรมดีและความเจริญรุ่งเรือง และในวันสุดท้ายของเทศกาล ชาวบ้านจะทำนำใบตองมาทำเป็นเรือลำเล็กๆ ใส่ผลไม้ ขนม เงิน และธูป จากนั้นลอยลงน้ำไปพร้อมกับดวงวิญญาณเหล่านั้นในการเดินทางกลับไปยังอีกฝั่งหนึ่ง
ปิตรู ภัคชา ประเทศอินเดีย
“ปิตรู ภัคชา” หรือ “Pitru Paksha” เป็นพิธีกรรม 15 วันของชาวฮินดู เพื่อระลึกถึงบรรพบุรุษสามรุ่นก่อนหน้าของพวกเขา โดยบุตรชายคนโตของผู้ล่วงลับจะเป็นผู้ประกอบพิธี ถวายอาหารเป็นเครื่องบูชาแก่บรรพบุรุษ พิธีกรรมนี้จะเริ่มต้นทุกวันที่ 16 ตามปฏิทินทางจันทรคติในช่วงดาวเคราะห์ดวงอาทิตย์เข้าสู่ราศีกันย์ไปสู่ราศีพิจิก ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นวันที่เหมาะที่สุดสำหรับการประกอบพิธีกรรมที่จะทำให้บรรพบุรุษอิ่มเอิบตลอดทั้งปี เพราะตรงกับเวลาที่ดวงวิญญาณเดินทางจาก “ปิตรูโลกา” (ที่พำนักของดวงวิญญาณของบรรพบุรุษอยู่ระหว่างโลกและสวรรค์) ไปยังบ้านของผู้สืบเชื้อสายและอาศัยอยู่ที่นั่นเป็นเวลาหนึ่งเดือน
การทำพิธีนี้ถือเป็นข้อบังคับของชาวฮินดูเพื่อให้แน่ใจว่าวิญญาณของบรรพบุรุษรุ่นแรกจะถูกรับไปสวรรค์เพื่อนำพวกเขาให้ใกล้ชิดกับพระเจ้ามากขึ้น นอกจากการถวายเครื่องบูชาแก่บรรพบุรุษแล้ว ยังจะมีการมอบเสื้อผ้าให้แก่พราหมณ์หรือบริจาคให้กับคนยากจน และให้อาหารวัว กา และสุนัข เป็นธรรมเนียมปฏิบัติอีกด้วย ที่สำคัญชาวฮินดูจะงดงานเฉลิมฉลองรื่นเริงทุกอย่างรวมถึงบางคนถึงขั้นงดเว้นจากการดื่มแอลกอฮอล์ด้วย
สารทเดือนสิบ ประเทศไทย
“สารทเดือนสิบ” เป็นประเพณีที่สำคัญที่สุดของจังหวัดนครศรีธรรมราช และถือปฏิบัติกันโดยทั่วไปของพุทธศาสนิกชนในพื้นที่ภาคใต้ โดยเชื่อกันว่าในช่วงเดือนสิบตามปฏิทินจันทรคติ ปู่ย่าตายาย ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว จะกลับมาพบลูกหลาน และเปรตที่มีกรรมหนักจะได้รับการปล่อยตัวขึ้นมาจากยมโยม ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 เรียกว่า “วันรับตายาย” และจะต้องกลับสู่นรกภูมิในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เรียกว่า “วันส่งตายาย”
ด้วยความเชื่อนี้พุทธศาสนิกชนชาวนครศรีธรรมราชจะจัดงานคืนสู่เหย้า กลับมารวมตัวกันทำบุญอุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่บรรพชนในสองวันดังกล่าว แต่วิถีชีวิตในปัจจุบันอาจทำให้ในแต่ละบ้านมีวิธีถือปฏิบัติยิ่งหย่อนต่างกัน โดยส่วนมากจะนิยมให้ความสำคัญกับการทำบุญ “วันส่งตายาย” มากว่า “วันรับตายาย
แอล เดีย เดอ ลอส เมอร์โต้ ประเทศเม็กซิโก
“แอล เดีย เดอ ลอส เมอร์โต้” หรือ “El Dia de los Muertos” เป็นเทศการผีในวันที่ 2 พฤศจิกายน เพื่อให้ผู้คนระลึกถึงญาติที่ตายจากไป ความคิดของชาวเม็กซิโกนั้น วันระลึกถึงคนตายไม่จำเป็นต้องมีพิธีที่เศร้าเสมอไป มีพิธีแบบสนุกสนานร่าเริงดีกว่า จึงมีการแต่งหน้าเป็นผีและมีการร้องเล่นเต้นรำในสไตล์ของขบวนพาเหรดให้คนได้ชมกัน
โอบ้ง ประเทศญี่ปุ่น
“โอบ้ง” หรือ “Obon” เป็นเทศกาลที่คล้ายกับเทศกาลผีหิวโหยของจีน คือ ผู้คนเชื่อว่าเป็นช่วงที่ผีจะออกมาอยู่บนโลกมนุษย์ ผู้คนจึงมักจะกลับไปที่บ้านและไปยังสุสานเพื่อไปหาญาติที่เสียชีวิต โปรยทานและให้อาหารผ่านเครื่องเซ่นไหว้ นอกจากนี้ยังมีพิธีการเต้นรำสังสรรค์และแขวนโคมลอยบนป้ายหลุมศพ ถือว่าเป็นเทศกาลที่สวยที่สุดของชาวญี่ปุ่น
ขอบคณข้อมูลจาก : เว็บไซต์ Traveller และ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์