ประวัติหลวงปู่ทวด สมญานาม หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด
ประวัติหลวงปู่ทวด หรือ สมเด็จเจ้าพะโคะ เกจิอาจารย์ชื่อดังสมญานามหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด มีที่มาอย่างไร
ประวัติหลวงปู่ทวด หรือ สมเด็จเจ้าพะโคะ พระเกจิอาจารย์ชื่อดังในทางพระพุทธศาสนา มีลูกศิษย์และผู้คนที่เลื่อมใสศรัทธาจำนวนมาก และยังได้สมญานามว่า หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ที่โด่งดัง จะมีที่มาอย่างไร วันนี้ทีมข่าว Thainews Online จะพาทุกท่านที่มีความเชื่อความศรัทธาในทางพระพุทธศาสนามาดูประวัติหลวงปู่ทวดกัน จะเป็นอย่างไรบ้าง ไปติดตามกันเลย
ประวัติหลวงปู่ทวด
หลวงปู่ทวด หรือ สมเด็จเจ้าพะโคะ ชื่อเดิมคือ ปู ซึ่งมีสมญานามว่า หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด เป็นบุตรของนายหู นางจันทร์ ซึ่งเป็นทาสในเรือนเบี้ย (ทาสทำงานใช้หนี้) ของเศรษฐีปานเกิดในรัชกาลของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เมื่อ 3 มีนาคม พ.ศ. 2125 ณ บ้านสวนจันทร์ (บ้านเลียบ) ต.ดีหลวง (ปัจจุบันเป็นตำบลชุมพล) อ.สทิงพระ(จะทิ้งพระ) จ.สงขลา
หลวงปู่ทวด ขณะที่เกิดนั้นว่ากันว่า มีเหตุอัศจรรย์เกิดฟ้าร้องฟ้าผ่าแผ่นดินสะเทือน รกของท่านเมื่อถูกตัดแล้ว บิดาจึงได้นำไปฝังไว้ที่โคนต้นเลียบ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ต้นเลียบ เมื่อครั้งบิดาและมารดาเกี่ยวข้าวที่กลางทุ่งนาซึ่งเป็นนาของเศรษฐีปาน บิดามารดาของท่านจึงผูกเปลของท่านซึ่งเป็นเปลผ้าไว้กับต้นมะเม่าสองต้น และจึงลงไปเกี่ยวข้าวในทุ่งนา เมื่อถึงเวลาที่ควรขึ้นมาให้นมลูก มารดาจึงเดินขึ้นมาหาหลวงปู่ทวด ก็เห็นงูจงอางตัวใหญ่หรืองูบองหลาที่ชาวภาคใต้เรียกกันพันที่รอบเปล นางจันทร์เห็นแล้วตกใจมาก จึงเรียกผู้เป็นสามีมาไล่งูออกไปทำอย่างไรงูตัวนั้นก็ไม่หนี ทั้งสองจึงได้ตั้งสัตยาธิฐานว่าขออย่าให้งูนั้นทำร้ายลูกน้อยเลย ไม่นานนักงูจงอางนั้นก็คลายวงรัดออกและเลื้อยหายไปในป่า ทั้งสองจึงรีบเข้าไปดูลูกก็พบว่าลูกกำลังนอนหลับโดยไม่มีอันตราย และปรากฏว่ามีเมือกแก้วขนาดใหญ่ที่งูจงอางคลายไว้อยู่บนอก เมือกแก้วนั้นมีแสงแวววาวและต่อมาได้แข็งตัวเป็นลูกแก้ว
ปัจจุบันได้ประดิษฐานที่วัดพะโคะ เมื่อเศรษฐีปานรู้เรื่องเข้าจึงสั่งให้นำ ลูกแก้ว นั้นมาให้ตน แต่ลูกแก้วนั้นเป็น ของศักดิ์สิทธิ์ประจำตัวหลวงปู่ทวด เมื่อเศรษฐีปานเอาลูกแก้วไปแล้วก็เกิดเภทภัยในครอบครัวเกิดการเจ็บป่วยกัน บ่อย และมีฐานะยากจนลง เศรษฐีปานจึงได้เอาลูกแก้วมาคืนและขอขมาต่อหลวงปู่ทวด และยกหนี้สินให้แก่นายหูและนางจันทร์ ทั้งสองจึงพ้นจากการเป็นทาสและต่อมาก็มีฐานะดีขึ้นๆ ส่วนเศรษฐีปานก็มีฐานะดีขึ้นดังเดิม
เมื่อ หลวงปู่ทวด มีอายุได้ประมาณ 7 ขวบ พ.ศ. 2132 บิดามารดาฝากหลวงปู่ทวดไว้เป็นศิษย์วัดกุฎ๊หลวงหรือวัดดีหลวงในปัจจุบันเพื่อเล่าเรียนหนังสือ และเป็นคนที่เรียนเก่งสามารถเล่าเรียนภาษาขอมและภาษาไทยได้ อย่างรวดเร็ว จึงได้บวชเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ 15 ปี บิดาของท่านจึงถวายลูกแก้วคืนให้แก่หลวงปู่ทวด และเมื่อเรียนสูงขึ้น จึงได้นำไปฝากเรียนไว้กับสมเด็จพระชินเสน ซึ่งเป็นพระเถระชั้นสูงที่ส่งมาจากกรุงศรีอยุธยา ให้มาครองเป็นเจ้าอาวาสวัดสีคูยัง เมื่อจบหลักสูตรจึงได้เดินทางเข้ามาศึกษาต่อที่เมืองนครศรีธรรมราชเพื่อเรียน หนังสือให้สูงขึ้นโดยมาพำนักอยู่ที่วัดเสมาเมือง ได้ศึกษาวิชาจากครูบาอาจารย์ต่าง ๆ จนมีความรู้ และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์จากสมเด็จพระเอกาทศรศในครั้งสุดท้ายใน ราชทินนามที่ สมเด็จเจ้าพระราชมุนีสามีรามคุณูปรมาจารย์ สุดท้ายเมื่อท่านมีอายุได้ 80 ปี ท่านได้กลับมาจำพรรษาที่วัดพะโคะ วัดบ้านเกิด และได้สั่งเสียกับลูกศิษย์ว่าเมื่อท่านมรณภาพให้นำพระศพท่านไปไว้ที่ วัดช้างไห้ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี
สมญานาม หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ในอดีตการเดินทางจากสงขลามาอยุธยาจะต้องเดินทางทางเรือและใช้เวลาเป็นปี ครั้งนั้นลูกเรือที่หลวงปู่ทวดเดินทางมาด้วยมัวแต่ตั้งวงเล่นไพ่จนลืมเตรียมน้ำจืดไว้กินไว้ใช้บนเรือ เมื่อออกเดินทางจึงไม่มีน้ำดื่มน้ำใช้กัน แล้วพาลมากล่าวหาว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะมีภิกษุร่วมเดินทางมาด้วย ทำให้พวกเขาจะพากันอดน้ำตาย คิดได้ดังนั้นจึงคิดไล่หลวงปู่ทวดลงจากเรือ หลวงปู่ท่านจึงได้อธิษฐานว่า หากแม้ข้านี้สามารถที่จะสืบต่ออายุพุทธศาสนา ทำงานให้ศาสนารุ่งเรือง ขอให้น้ำทะเลบริเวณที่เท้าเหยียบลงไปนี้จงกลายเป็นน้ำจืดเถิด แล้วท่านก็เอาเท้าจุ่มลงทะเล น้ำบริเวณที่ท่านจุ่มเท้าลงไปนั้นกลายเป็นน้ำจืด พวกชาวเรือสำเภานั้นจึงได้ตักขึ้นไว้ใช้ในเรือ 13 โอ่ง มีน้ำใช้ตลอดทางจนถึงอโยธยา และด้วยเหตุการณ์ครั้งนี้เองท่านจึงได้รับสมญานามว่า หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด นั้นเอง