ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต แห่งวัดระฆัง
ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พฺรหฺมรํสี หรือ หลวงปู่โต วัดระฆัง พระเกจิอาจารย์ชื่อดังที่ยังคงโด่งดังจนถึงปัจจุบันนี้
สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พฺรหฺมรํสี หรือ หลวงปู่โต วัดระฆัง พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง ถึงแม้เวลาจะผ่านมานานแต่ก็ยังเป็นที่โจษจันถึงความน่าเลื่อมใสศรัทธาจนถึงปัจจุบัน วันนี้ทีมข่าว Thainews Online จะพาทุกท่านมาเปิดประวัติหลวงปู่โต แห่งวัดระฆังกัน เกจิอาจารย์ที่ขึ้นชื่อจนถึงปัจจุบันจะเป็นอย่างไรบ้าง ไปติดตามกันเลย
ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต แห่งวัดระฆัง
สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พฺรหฺมรํสี , สมเด็จโต , หลวงปู่โต หรือ สมเด็จวัดระฆัง คนในยุคร่วมสมัยกับหลวงปู่โตจะเรียกว่า ขรัวโต ชื่อเดิมคือ โต เกิดเมื่อ 17 เมษายน พ.ศ.2331 วันพฤหัสบดี เดือน 5 ขึ้น 12 ค่ำ ปีวอก จุลศักราช 1150 เวลาพระบิณฑบาต เกิดในสมัยรัชกาลที่ 1 หลังสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ได้แล้ว 7 ปี ณ บ้านไก่จ้น (ท่าหลวง) อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มารดาบิดาของท่านเป็นใครไม่ทราบแน่ชัด
เมื่อ สมเด็จโต ถึงวัยพอสมควร จึงได้บรรพชาเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา เมื่อ พ.ศ. 2343 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงโปรดและเมตตาสามเณรโตเป็นอย่างยิ่ง เมื่ออายุครบอุปสมบทปี พ.ศ. 2350 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อุปสมบทเป็นนาคหลวงที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีฉายานามในพุทธศาสนาว่า "พฺรหฺมรํสี"
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้าฯ ให้หลวงปู่โตรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อถึงรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงสถาปนาสมณศักดิ์เพื่อยกย่องในกิตติคุณและเกียรติคุณของหลวงปู่โต แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับ เพราะมีอุปนิสัยไม่ปรารถนายศศักดิ์หรือลาภสักการะใดๆ และมีการเล่ากันมาว่า หลวงปู่โตได้ออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ และได้สร้างปูชนียสถาน อาทิ สร้างพระพุทธไสยาศน์ไว้ที่วัดสตือ ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างพระพุทธรูปหลวงพ่อโต วัดไชโย จังหวัดอ่างทอง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จึงเป็นตัวแทน ถึงความศรัทธาและบารมีของหลวงปู่โต ซึ่งเป็นที่เคารพเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนในย่านที่ท่านได้ธุดงค์ผ่านไป
สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงโปรดปราน หลวงปู่โต และในปี พ.ศ. 2395 พระองค์จึงได้พระราชทานสมณศักดิ์ถวายหลวงปู่โตเป็นครั้งแรก โดยมีสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ราชทินนาม "พระธรรมกิติ" และดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ตอนอายุ 65 ปี โดยปกติแล้วหลวงปู่โตจะเลี่ยงการรับพระราชทานสมณศักดิ์ แต่ด้วยเหตุผลบางประการ ทำให้ท่านต้องยอมรับพระราชทานสมณศักดิ์ในที่สุด อีก 2 ปีต่อมา (พ.ศ. 2397) ท่านจึงได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ ในราชทินนาม "พระเทพกวี" หลังจากนั้นอีก 10 ปี (พ.ศ. 2407) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ในราชทินนาม "สมเด็จพระพุฒาจารย์" มีนามจารึกตามสุพรรณบัฏว่า " สมเด็จพระพุฒาจารย์ เอนกปรีชา วิสุทธศีลจรรยาสมบัติ นิพัทธุตคุณ สิริสุนทร พรตจาริก อรัญญิกคนฤศร สมณนิกรมหาปริณายก ตรีปิฎกโกศล วิมลศีลขันธ์ ณ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร พระอารามหลวงฯ"
ช่วงประมาณปี พ.ศ. 2410 หลวงปู่โต ได้มาเป็นประธานก่อสร้างปูชนียวัตถุครั้งสุดท้ายที่สำคัญ คือ พระพุทธรูปหลวงพ่อโต (พระศรีอริยเมตไตรย) ที่วัดอินทรวิหาร (ในสมัยนั้นเรียกว่า วัดบางขุนพรหมใน) ทว่าการก่อสร้างก็ยังไม่ทันสำเร็จ โดยขณะนั้นก่อองค์พระได้ถึงเพียงระดับพระนาภี (สะดือ) สมเด็จพระพุฒาจารย์โต ก็ได้มรณภาพบนศาลาเก่าวัดบางขุนพรหมใน ณ วันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2415 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สิริรวมอายุได้ 84 ปี อยู่ในสมณเพศ 64 พรรษา เป็นเจ้าอาวาสครองวัดระฆังโฆสิตารามได้ 20 ปี
หลวงพ่อโต เป็นพระเกจิอาจารย์ที่เป็นที่เคารพนับถือไม่ว่าจะเป็นด้านวิชาอาคม และยังไม่หวังลาภยศ อยู่อย่างสมถะ มีเมตตา ดำรงศีลาจารวัตรเป็นที่เลื่อมใสศรัทธา แม้ท่านจะมรณภาพไปแล้วก็ตามแต่ในปัจจุบันก็ยังมีการพูดถึงและเป็นที่เคารพของลูกศิษย์และคนที่มีความเชื่อความศรัทธาในทางพระพุทธศาสนาอยู่เช่นเดิม