ยานยนต์ | ไทยนิวส์
อุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ พัฒนา ผลิต หาตลาด และจัดจำหน่ายยานยนต์ในปี พ.ศ. 2550 ยานยนต์มากกว่า 73 ล้านคัน ซึ่งรวมทั้งรถยนต์นั่งและยานยนต์เพื่อการพาณิชย์ ได้ถูกผลิตขึ้นทั่วโลก และมีการจำหน่ายยานยนต์ใหม่ทั่วโลกประมาณ 71.9 ล้านคัน โดยแบ่งเป็น 22.9 ล้านคันใน ทวีปยุโรป, 21.4 ล้านคันในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก, 19.4 ล้านคันในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา, 4.4 ล้านคันในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา, 2.4 ล้านคันในตะวันออกกลาง และ 1.4 ล้านคันใน ทวีปแอฟริกา ตลาดรถยนต์ในสหรัฐอเมริกาและในญี่ปุ่นนั้นมีอัตราการเติบโตค่อนข้างคงที่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีปริมาณรถยนต์มากอยู่ก่อนแล้ว ส่วนตลาดรถยนต์ในแอฟริกาและในบางประเทศในทวีปเอเชียนั้นมีอัตราการเติบโตสูง สำหรับประเทศรัสเซีย, บราซิล, อินเดีย และจีน เป็นประเทศที่ตลาดรถยนต์มีการขยายตัวสูงมากในปัจจุบันโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน โครงสร้างของอุตสาหกรรมยานยนต์ ประกอบด้วยผู้ประกอบการ 2 กลุ่มใหญ่คือ 1. กลุ่มกิจกรรมหลัก (Core activities) ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมปลายน้ำ ได้แก่ ผู้ประกอบยานยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งผู้ประกอบการยานยนต์ ประกอบด้วย กลุ่มผู้ประกอบรถยนต์นั่งส่วนบุคคล กลุ่มผู้ประกอบรถจักรยานยนต์ และผู้ประกอบรถเพื่อการพาณิชย์ เป็นต้น ที่ส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติ และบริษัทที่ร่วมทุนกับต่างชาติ ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่สำคัญในการกำหนดบทบาททิศทางในการผลิตของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ทั้งหมดของไทย โดยจำแนกผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ตามลำดับชั้นของโครงสร้างการผลิตได้ ดังนี้ 1.1 ผู้ผลิตชิ้นส่วนลำดับที่ 1 (First tier, Tier l) คือ ผู้จัดหาหรือผู้ผลิตชิ้นส่วนประเภท อุปกรณ์และจัดส่งให้แก่โรงงานประกอบยานยนต์โดยตรง เช่น เครื่องยนต์ เบรก ล้อรถยนต์ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ซึ่งต้องมีความสามารถทางเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนที่ได้มาตรฐานตามที่ผู้ประกอบรถยนต์กำหนด 1.2 ผู้ผลิตชิ้นส่วนลำดับที่ 2 (Second tier, Tier ll) คือ ผู้จัดหาหรือผู้ผลิตชิ้นส่วนย่อย (Individual part) เพื่อจัดส่งให้แก่ผู้ผลิตชิ้นส่วนลำดับที่ 1 เช่น ผลิตภัณฑ์เครื่องจักรกลและโลหะการ พลาสติก ยาง เหล็ก อิเล็กทรอนิกส์ แก้ว และกระจก เป็นต้น ซึ่งอาจได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ผลิตชิ้นส่วนในลำดับที่ 1 1.3 ผู้ผลิตชิ้นส่วนลำดับที่ 3 (Third tier, Tier lll) คือ ผู้จัดหาและผู้ผลิตวัตถุดิบเพื่อจัดส่ง ให้แก่ผู้จัดหาวัตถุดิบในลำดับที่ 1 และ 2 2. กลุ่มกิจกรรมสนับสนุน (Support activities) ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลุ่มอุตสาหกรรมบริการ และกลุ่มนโยบายและสนับสนุน โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 2.1 กลุ่มอุตสาหกรรมต้นน้ำ (Upstream industrial) เป็นกลุ่มผู้ผลิตวัตถุดิบ เช่น เหล็ก กระจก หนัง พลาสติก เป็นต้น โดยมีการผลิตตามความต้องการของผู้ผลิตชิ้นส่วนทั้งในด้านปริมาณ มาตรฐานและคุณภาพ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มของผู้ผลิตเครื่องจักรกล (Machine) แม่พิมพ์ (Mould) อุปกรณ์ยึดจับชิ้นงาน (Jig and fixture) และเครื่องมือ (Tooling) ต่างๆ 2.2 กลุ่ม อุตสาหกรรมบริการ (Service industrial) เช่น ผู้ให้บริการกระจายสินค้า บริการ ด้านการเงิน การตรวจสอบและทดสอบบริการด้านการประกันภัย เป็นต้น 2.3 กลุ่มนโยบายและสนับสนุน ประกอบด้วย 3 กลุ่มย่อย ได้แก่ 2.3.1 กลุ่มภาครัฐ ทำหน้าที่ในการวางแผนและกำหนดนโยบายระดับชาติ เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น 2.3.2 กลุ่มสถาบันยานยนต์และสมาคมผู้ประกอบการที่มีบทบาทสำคัญในการ สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน และระหว่างเอกชนด้วยกันเอง เช่น สถาบันยานยนต์ สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย เป็นต้น 2.3.3 กลุ่มสถาบันการศึกษา สถาบันเทคนิคและสถาบันวิจัยต่างๆ เช่น สำนักงาน พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ เป็นต้น