เศร้าสูญเสีย โสภณ องค์การณ์ สื่อมวลชนอาวุโส จากไปอย่างสงบ
ลูกชายเป็นผู้แจ้งข่าวเศร้า สูญเสีย "โสภณ องค์การณ์" สื่อมวลชนอาวุโส เลือดออกที่ก้านสมองจากไปอย่างสงบ รวมอายุ 75 ปี
เฟซบุ๊ก Sopon Onkgara ของนาย โสภณ องค์การณ์ สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์ข้อความว่า เรียนผู้ชมและ fc ของคุณโสภณ องค์การณ์ เมื่อช่วงค่ำของวันนี้ วันพฤหัสบดีที่ 24 ตค.2567 เวลา 22.29 น. คุณพ่อได้จากไปโดยสงบ คุณพ่อหลับสบายแล้วครับ ผมและคุณแม่ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ส่งกำลังใจมาให้คุณพ่อและครอบครัวตลอดมา ผมจะแจ้งกำหนดการสวดพระอภิธรรมอีกครั้งเมื่อทราบรายละเอียดครบถ้วนแล้ว ขอบพระคุณทุกท่านครับ น้องบิ๊ก
โดยเมื่อวันที่ 11 ต.ค. นายโสภณ มีอาการปวดศีรษะในขณะที่กำลังจะเข้านอน เมื่อเวลาประมาณ 01.00 น. แล้วล้มลงในที่นอน ครอบครัวแจ้งรถฉุกเฉินส่งที่โรงพยาบาลวิภาราม ที่ใกล้ที่สุด แพทย์ให้เข้าอุโมงค์สแกน พบว่าเส้นเลือดออกที่ก้านสมอง จึงทำการเจาะศีรษะเพื่อให้ระบายเลือดออก โดยใส่เครื่องช่วยหายใจ อาการทรงตัว
ต่อมาวันที่ 12 ต.ค. ได้ส่งต่อการรักษาไปยังสถาบันประสาทวิทยา โดยมีครอบครัว รวมทั้งนายปรินทร์ องค์การณ์ หรือบิ๊ก บุตรชาย คอยดูแลและแจ้งอาการผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวของนายโสภณอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมานายโสภณมีอาการทรงตัว ไม่รู้สึกตัว ยังมีเลือดออกจากสมอง และยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจอย่างต่อเนื่อง กระทั่งมีอาการไข้ ความดันมีแนวโน้มสูงขึ้น และกระเพาะอักเสบ กระทั่งจากไปอย่างสงบในที่สุด
สำหรับนายโสภณ องค์การณ์ เกิดเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2492 เป็นชาวตำบลแม่ข้าวต้ม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนบพิตรพิมุข แผนกภาษาต่างประเทศ ปี 2511 เริ่มทำงานเป็นล่ามในปี 2512 ให้นักศึกษาชาวอเมริกันทำวิจัยที่จังหวัดลำปางและเชียงรายเป็นเวลา 1 ปี เพื่อทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่สถาบันเอ็มไอที
นายโสภณเข้าสู่วงการสื่อมวลชน โดยเริ่มงานกับหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ที่มีนายสุทธิชัย หยุ่น เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ในตำแหน่งพนักงานพิสูจน์อักษร ก่อนเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้สื่อข่าว นักเขียน และบรรณาธิการต่อมาเป็นผู้ดำเนินรายการ Face The Nation รายการสัมภาษณ์ภาคภาษาอังกฤษ ออกอากาศทางช่อง 9 อสมท. และเป็นผู้ดูแลแผนกโทรทัศน์ของเครือเนชั่น ได้รับทุน Nieman Fellowship ไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด บอสตัน สหรัฐอเมริกา
ที่ผ่านมานายโสภณมีงานเขียนภาษาไทย ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ หนังสือพิมพ์คมชัดลึก รวมถึงการจัดรายการโทรทัศน์ทางสถานีโทรทัศน์เนชั่นแชนแนล ขณะออกอากาศทางเคเบิ้ลทีวี ยูบีซี 8 และรายการวิทยุ พูดนอกสภา ทางสถานีวิทยุกรมการพลังงานทหาร วิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์การเมืองอย่างตรงไปตรงมา มีแฟนคลับที่สนใจการเมืองในยุคนั้นติดตามอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับ สุทธิชัย หยุ่น เทพชัย หย่อง สรยุทธ สุทัศนะจินดา กนก รัตน์วงศ์สกุล กฤษณะ ละไล ฯลฯ
กระทั่งเมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2545 สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จากพรรคไทยรักไทย ที่เกิดการแทรกแซงสื่อมวลชนบ่อยครั้ง มีใบสั่งให้ พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ ขณะเป็นผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศและติดตามประเมินผล สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) เข้าไปตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของสื่อมวลชนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทักษิณจำนวนมาก โดยเฉพาะเครือเนชั่น ไทยโพสต์ แนวหน้า หนึ่งในนั้นมีชื่อของนายโสภณ แต่ท้ายที่สุดศาลปกครองมีคำสั่งทุเลากรณีขอข้อมูลธุรกรรม เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2545 ก่อนที่ระหว่างการพิจารณาคดี ป.ป.ง. มีหนังสือแจ้งต่อศาลปกครองกลางระบุว่าสั่งยุติการตรวจสอบกับธนาคารพาณิชย์แล้ว ทำให้ศาลปกครองจำหน่ายคดี เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เสรีภาพสื่อมวลชนตกต่ำลง เมื่อมีการถอดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ดำเนินรายการโดย นายสนธิ ลิ้มทองกุล และ น.ส.สโรชา พรอุดมศักดิ์ เป็นอีกหนึ่งชนวนที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์ขับไล่นายทักษิณ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในปี 2548-2549
ต่อมานายโสภณได้ร่วมงานกับเครือผู้จัดการ ปี 2552 เป็นผู้ดำเนินรายการผ่านสถานีโทรทัศน์เครือข่ายเอเอสทีวี เช่น รายการ News Hour สุดสัปดาห์ ทาง ASTV News 1 และรายการเคาะข่าวริมโขง ทาง ASTV 3 อีสานทีวี แต่ยังคงเขียนคอลัมน์ เล่นนอกสภา และ เกาที่คันวันเสาร์ ให้กับหนังสือพิมพ์คมชัดลึก
อย่างไรก็ตาม นายโสภณได้หยุดเขียนคอลัมน์ให้กับสื่อในเครือเนชั่นมาตั้งแต่สิ้นปี 2553 หลังอยู่กับเครือเนชั่นมานานกว่า 30 ปี สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กรณีปราสาทพระวิหาร และเริ่มเขียนบทความให้กับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน มาตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 2554 เป็นต้นมา เริ่มจากคอลัมน์หน้ากระดานเรียงห้า ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น ป้อมพระอาทิตย์ และมีคอลัมน์ข่าวต่างประเทศ ชื่อว่า มองต่างแดน ส่วนนิตยสารผู้จัดการสุดสัปดาห์ มีคอลัมน์ โสภณ องค์การณ์ ตีพิมพ์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2554 พร้อมกับจัดรายการทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมนิวส์วันหลายรายการ เช่น News Hour Weekend, ชวนคิดชวนคุย, เคาะไข่ใส่ข่าว ฯลฯ และรายการวิทยุ พูดนอกสภา ทางสถานีวิทยุ เอฟ.เอ็ม. 90.5 MHz.