กรมสุขภาพเผยบริโภคเกลือมากเกิน ระวังอันตรายของโซเดียมแฝงในอาหาร
ความยึดติดในรสชาติ ถือเป็นสัญชาตญาณเบื้องต้นของการอยู่รอด เพื่อให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการเสาะหาอาหาร ซึ่งถูกผูกโยงกับความสุขและความพึงพอใจ แต่ขณะเดียวกันร่างกายก็มีขีดจำกัดในการรับปริมาณสารอาหารในแต่ละประเภทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
จากข้อมูลของกรมสุขภาพเผยว่า ประชากรส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะบริโภค "เกลือ" อย่างน้อยถึงวันละ 9 กรัม ขณะที่ สำนักงานมาตรฐานอาหารประเทศอังกฤษ The Food Agency (FSA) แนะให้ทานเกลือไม่เกินวันละ 6 กรัม เท่านั้น ด้วยปฏิเสธไม่ได้ว่า เกลือถือเป็นส่วนประกอบนิยมนำมาปรุงอาหารเพื่อเพิ่มรสชาติ "เค็ม" อันเป็นส่วนหนึ่งของความ "กลมกล่อม" ในอาหาร
ซึ่งในภาวะปกติหากรับประทานเกลือในปริมาณที่ไม่มากจนเกินไป จะถูกขับออกมาทางปัสสาวะและถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด แต่ถ้าร่างกายได้รับปริมาณเกลือเข้าสู่ร่างกายมากเกินไป ร่างกายต้องรับภาระในการกรองของเสียมากขึ้น โดยภาระดังกล่าวจะตกไปอยู่ที่ "ไต" เมื่อไตทำงานหนักขึ้น ในระยะยาวจะนำไปสู่ภาวะเสี่ยงที่จะเกิดโรคดังต่อไปนี้
1.บวมน้ำ อาการบวมทางกายภาพหาใช่เป็นการบวมจาก "ไขมัน" เสมอไป เพราะการบริโภคเกลือโดยที่ไม่มีการดื่มน้ำบริสุทธิ์ชดเชยเพื่อปรับสมดุล ร่างกายจะกักเก็บน้ำในร่างกายมากขึ้น ในกลุ่มนี้ควรดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมคือ 1 ลิตร ต่อ น้ำหนักตัว 30 กิโลกรัม
2.ความดันโลหิตสูง เมื่อร่างกายกักเก็บน้ำมากขึ้น ทำให้ระบบร่างกายโดยรวมเสียสมดุล รวมไปถึงระบบหัวใจ เมื่อหัวใจทำงานหนักขึ้น ในระยะยาวอาจทำให้หัวใจวายอย่างเฉียบพลันจนเสียชีวิตในที่สุด โดยมีรายงานว่าในประเทศอังกฤษมีคนเสียชีวิตด้วยโรคความดันโลหิตสูงมากกว่า 170,000 คนต่อปี
3.กระดูกพรุน มีผลวิจัยยืนยันว่าการบริโภคเกลือมีความสัมพันธ์กับความแข็งแรงของกระดูกโดยตรง เพราะการบริโภคเกลือมากจนเกินไปจะทำให้ร่างกายสูญเสียแคลเซียม ส่งผลให้กระดูกเสื่อม
4.หอบหืด การบริโภคเกลือมากๆ ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ตรงกันข้ามหากบริโภคอย่างพอเหมาะ จะช่วยให้หายใจได้สะดวกขึ้น
5.มะเร็งกระเพาะอาหาร เกลือมีฤทธิ์ในการทำลายผนังกระเพาะอาหารหากบริโภคในปริมาณที่มาก เมื่อกระเพาะเป็นแผลอาจทำให้ติดเชื้อ จนเกิดการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย เป็นสาเหตุของโรคแผลในกระเพาะอาหาร และมะเร็งกระเพาะอาหาร
นอกจากนี้ เกลือ ยังมีส่วนประกอบอยู่ 2 อย่าง คือ "โซเดียม" กับ "คลอไรด์" โดยอาหารที่มีโซเดียม เช่น
1.อาหารจากเนื้อสัตว์ต่างๆ จะมีโซเดียมสูง ส่วนอาหารธรรมชาติที่มีโซเดียมต่ำ ได้แก่ ผลไม้ทุกชนิด ผัก เนื้อปลา ธัญพืชและถั่วเมล็ดแห้ง ซึ่งอาหารสดเหล่านี้ มีปริมาณโซเดียมที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย
2.ผงชูรส เป็นเครื่องปรุงที่ไม่มีรสเค็ม แต่มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบในปริมาณที่มากถึงร้อยละ 15 มักถูกใช้เป็นส่วนประกอบหลักในอาหารสำเร็จรูปตามท้องตลาด นอกจากนี้ยังพบว่าเป็นเครื่องปรุงที่มีติดครัวในทุกบ้าน
3.ขนมต่างๆ ที่มีการเติมผงฟู (Baking Powder หรือ baking Soda) เช่น แพนเค้ก คุกกี้ ขนมปังขัดสี (ขนมปังขาว) ซึ่งผงฟูที่ใช้ในการทำขนมเหล่านี้มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ (โซเดียมไบคาร์บอเนต)
4.น้ำและเครื่องดื่มบางประเภท น้ำฝนเป็นน้ำที่ปราศจากโซเดียม แต่พบว่าน้ำบาดาลและน้ำประปามีการปนเปื้อนของโซเดียม ส่วนเครื่องดื่มเกลือแร่ มีการเติมสารประกอบของโซเดียม เพราะเป็นเครื่องดื่มของ "นักกีฬา" ที่สูญเสียเหงื่อคราวละมากๆ จึงไม่เหมาะที่จะดื่มอย่างพร่ำเพรื่อ นอกจากนี้ น้ำผลไม้บรรจุกล่อง ขวด หรือกระป๋อง ก็มักจะมีการเติมสารกันบูด (โซเดียมเบนโซเอต) จึงควรดื่มน้ำผลไม้สดเป็นหลัก
5.อาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น บะหมี่ โจ๊ก ข้าวต้ม ซุปต่างๆ ทั้งชนิดก้อนและชนิดซอง
อย่างไรก็ตามหากรับประทานเกลือในปริมาณที่พอเหมาะย่อมให้ "ประโยชน์" มากกว่า "โทษ" เช่น ช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร เพิ่มสมดุลโซเดียมในร่างกาย และปรับความดันโลหิตสูงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม อีกทั้งเกลือทะเลยังมีสารไอโอดีน ที่สามารถป้องกันโรคคอหอยพอกได้