อ.เจษฎ์ ตอบแล้ว "สีน้ำตาลบนกระเทียม" หลังถูกโยงเป็นสารก่อมะเร็ง
เพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ โพสต์ภาพที่หลายคนตั้งข้อสงสัย สำหรับ "สีน้ำตาลบนกระเทียม" ว่าเป็นอันตรายถึงขั้นเป็นสารก่อมะเร็งจริงหรือไม่ ซึ่งมีคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้
เพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ของ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงปรากฎการณ์ดังกล่าวว่า.. "รอยสีน้ำตาลบนกระเทียม ผมว่าเป็นแค่รอยช้ำนะครับ"
มีคนส่งมาถามเยอะเลย ถึงกรณีที่มีคนไปโพสต์ถามคำถามในกลุ่มหนึ่งว่า ว่า "เนื้อกระเทียมที่เแกะแล้ว เจอมีรอยจุดสีน้ำตาลดังรูป เกิดจากอะไร? เฉือนทิ้งก่อนกินได้ไหม หรือว่าต้องทิ้งไปทั้งหมด" !?
บางคนก็ตอบมาว่า กระเทียมขาดแคลเซียม เฉือนทิ้งก่อนกินได้ ... แต่บางคนก็บอกว่า เป็นเชื้อรา ที่สร้างสารพิษก่อมะเร็ง อันตรายไม่ให้กิน !?!
ลักษณะรอยจุดสีน้ำตาลบนกระเทียมแบบนี้ ส่วนตัวผมเองก็เคยเห็นนะ เวลาแกะกระเทียมทำอาหาร ซึ่งด้านนอกของกระเทียมก็ดูสะอาดดี ไม่มีร่องรอยเชื้อรา แต่ด้านในมีรอยสีน้ำตาลดังกล่าว
จากการตรวจสอบในอินเตอร์เน็ต พบว่าในต่างประเทศเองก็มีคนตั้งคำถามแบบนี้กันอยู่เรื่อยๆ และคำตอบที่ตรงกันก็คือ มันเป็นเพียงแค่ "รอยช้ำ (bruise)" บนกระเทียมเท่านั้น
ข้อมูลที่ได้มาบอกว่า รอยจุดสีน้ำตาลบนเนื้อกระเทียมนี้ แสดงว่ากระเทียมเริ่มเก่า เริ่มสภาพไม่ดีแล้ว โดยอาการช้ำของกระเทียมนี้ เกิดขึ้นจากการกระแทกตั้งแต่การเก็บเกี่ยวจนถึงการขนส่ง หรือแม้แต่การเพาะปลูกในดินที่แข็งและหนักเกินไป
เมื่อกลีบไหนของกระเทียมเกิดรอยช้ำขึ้น ก็จะทำให้สีเปลี่ยนแปลงไป จากขาว เปลี่ยนเป็นเหลืองอมน้ำตาล รวมทั้งอาจมีเชื้อแบคทีเรียเข้าไปในแผลรอยช้ำนั้น แล้วทำให้มันเสียเร็วขึ้น (และกระเทียมจะมีรสเผ็ดร้อนขึ้น)
คำแนะนำในเว็บต่างประเทศบอกว่า สามารถนำมาบริโภคได้ แม้มันใกล้จะเสียแล้ว โดยการตัดส่วนที่เป็นรอยจุดน้ำตาลนั้นทิ้งไป หรือถ้าไม่ชอบ ก็ทิ้งไปทั้งกลีบเลย
ส่วนโรคเชื้อราที่ขึ้นบนกระเทียมนั้น มีหลากหลายชนิดมาก แต่มักจะสังเกตได้ค่อนข้างชัด ถึงลักษณะและสี ของเส้นใยและสปอร์เชื้อราที่ขึ้นอยู่ และอาการเน่าเสียที่เกิดขึ้นตามมาบนต้นและหัวกระเทียม
โดยหลังการเก็บเกี่ยวกระเทียม มักพบการระบาดของ "โรคราดำ" และ "โรคเน่าเละ" ของกระเทียม ทำให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตและต่อผู้บริโภคได้
โรคราดำ (black mold) ซึ่งเกิดจากเชื้อรา แอสเปอร์จิลลัส ไนเกอร์ (Aspergillus niger) จะพบมีผงราสีดำขึ้นระหว่างกาบหัวหรือระหว่างกลีบของกระเทียม เส้นใยของราจะมีหัวสปอร์สีดำ ซึ่งฟุ้งกระจายได้ง่าย กระเทียมจะเน่าฝ่อเสียหายหมด
โรคเน่าเละ (soft rot) เกิดจากเชื้อรา เอร์วิเนีย คาราโตโวรา หัวหอมจะมีอาการนิ่มภายใน เมื่อผ่าออกจะพบเนื้อเยื่อตรงกลางหัวเน่า ซ้ำมีกลิ่นเหม็น ถ้าทิ้งไว้จะเน่าหมดทั้งหัว
ส่วนที่กังวลกันเรื่อง "สารพิษ" ที่เกิดจากเชื้อราบนกระเทียมนั้น สารดังกล่าวชื่อว่า อะฟลาทอกซิน (aflatoxin) ซึ่งพบในพืชผักหลายชนิดที่เพาะปลูก เก็บเกี่ยว รักษา ไม่ดีพอ จนมีเชื้อรา โดยเฉพาะเชื้อ Aspergillus flavus และ Aspergillus parasiticus ขึ้น เห็นเป็นจุดดำๆ ปนเปื้อน และสร้างสารพิษอะฟลาท็อกซิน
อันตรายของสารพิษอะฟลาท็อกซิน คือ ถ้าได้รับเข้าสู่ร่างกายปริมาณมาก (หรือปริมาณน้อย แต่ได้รับเป็นประจำ) จะสะสมในร่างกาย และทำให้เกิดอาการชัก หายใจลำบาก ตับถูกทำลาย หัวใจ และสมองบวม รวมถึงก่อให้เกิดโรคมะเร็งในตับได้
#สรุปว่า ผมคิดว่า รอยจุดสีน้ำตาลที่พบบนเนื้อกระเทียมนั้น เป็นแค่อาการช้ำของกระเทียม และบอกได้เพียงว่า มันเริ่มจะสภาพไม่ดีแล้ว .. ถ้าจะกินต่อ ก็ควรเฉือนทิ้ง หรือก็ทิ้งไปทั้งกลีบเลย ถ้าไม่ชอบ
ส่วนเรื่องการระวังเชื้อรา บนกระเทียมนั้น ก็ควรเลือกซื้อกระเทียมที่สดใหม่ ไม่มีจุดดำๆ ของเชื้อราให้เห็น ไม่ควรเก็บไว้ในที่ชื้น หรือเก็บไว้นานเกินไปครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Tnews