กรมอนามัย แนะ วิธีดูแลผู้สูงอายุ เลี่ยงออกจากบ้าน เสี่ยงติดเชื้อง่าย
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงกลุ่มผู้สูงอายุได้รับเชื้อโควิด-19 ขอให้ผู้สูงอายุและผู้ดูแลปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเข้มข้นสูงสุดครอบจักรวาล (Universal Prevention) ป้องกัน การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในบ้าน
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ผู้สูงอายุถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายในช่วงการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 เนื่องจากส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว และมีภูมิคุ้มกันที่ต่ำ หากติดเชื้อแล้วอาจทำให้มีอาการอย่างรุนแรง มีภาวะแทรกซ้อน จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งจากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 20 สิงหาคม 2564 พบผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุติดเชื้อรวม จำนวน 79,700 ราย จากผู้ติดเชื้อทั้งหมด จำนวน 980,847 คน คิดเป็นร้อยละ 8.13 โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวที่ต้องไปรับยาที่โรงพยาบาลมีโอกาสออกจากบ้านไปสัมผัสผู้ติดเชื้อได้ รวมทั้งผู้สูงอายุกลุ่มติดสังคม ที่ยังไปใช้ชีวิตนอกบ้านได้ จะมีโอกาสสัมผัสผู้ติดเชื้อได้เช่นกัน ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านติดเตียงมีโอกาสสัมผัสผู้ติดเชื้อจากผู้ดูแล หรือบุคคลในครอบครัวได้ นอกจากนี้ ยังพบผู้สูงอายุเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 จำนวน 5,604 คน ส่วนมากมีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคไต โดยพบอัตราการเสียชีวิตของผู้สูงอายุค่อนข้างสูงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า การปฏิบัติตัวของผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันโควิด-19 ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นสูงสุดครอบจักรวาล (Universal Prevention) ดังนี้1) ยึดหลัก DMHTT คือ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ ตรวจวัดอุณหภูมิ และตรวจเชื้อโควิด-19 2) ควรรับวัคซีน เพื่อลดการเจ็บป่วยรุนแรงและอัตราการเสียชีวิต 3) ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น และบุคคลในครอบครัว 4) หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน 5) หากเป็นไปได้ควรแยกห้องพักและของใช้ส่วนตัว 6) กรณีมีโรคประจำตัว และอาการคงที่ ให้ติดต่อโรงพยาบาลประจำเพื่อขอรับยาทางไปรษณีย์ หรือหากมียาพอให้เลื่อนนัดออกไปก่อน 7) ส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรงสม่ำเสมอ โดยรับประทานอาหารที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ มีกิจกรรมทางกายสม่ำเสมอ ดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน หลีกเลี่ยงการรับข่าวสารที่มากเกินไป พักผ่อนให้เพียงพอ
“ทั้งนี้ สำหรับผู้ดูแลผู้สูงอายุต้องดูแลสุขภาพตนเองอย่างสม่ำเสมอ หากสงสัยว่าป่วย ให้สับเปลี่ยนผู้ดูแล และเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด หรือตรวจด้วยชุดตรวจ ATK เพื่อเป็นการคัดกรองเบื้องต้น และสำหรับญาติที่ไม่ใช่ผู้ดูแล ควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้สูงอายุ ให้เปลี่ยนเป็นการเยี่ยมผู้สูงอายุผ่านสื่อออนไลน์แทน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ขอบคุณ กรมอนามัย