กรมอนามัย แนะวิธีป้องกัน "สัตว์มีพิษ" ช่วงหน้าฝน เสี่ยงอันตราย
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะวิธีป้องกันสัตว์มีพิษช่วงหน้าฝน และการปฐมพยาบาล เมื่อโดนกัด ต่อย พร้อมเน้นย้ำทำความสะอาดและจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ส่วนภายนอกบ้านให้โล่งเตียน
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในช่วงหน้าฝนประชาชนมักได้รับผลกระทบจากสัตว์มีพิษที่เข้ามาในบริเวณบ้าน เช่น งู ตะขาบ และแมงป่อง บางชนิดอาจก่อให้เกิดอันตราย ถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะงู มักอาศัยอยู่ในบริเวณที่ชื้นแฉะ รก และมีแหล่งอาหาร การป้องกัน ควรทำลายแหล่งอาหารของงูอย่างเช่นหนู โดยกำจัดเศษอาหารตกค้างเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของหนู สำรวจบริเวณรอบบ้านและ ปิดช่องทางที่หนูและงูสามารถเข้ามาได้ รวมทั้งตรวจสอบระบบท่อไม่ให้มีรูรั่วหรือรอยแตก ควรตรวจสอบรองเท้าก่อนใส่ เนื่องจากงูอาจหลบซ่อนอยู่ หากพบงูอยู่ในบ้านให้โทร 199 เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญมาจัดการ กรณีถูกงูกัด การปฐมพยาบาลควรล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ห้ามกรีดหรือดูดบริเวณที่ถูกกัด ไม่ควรขันชะเนาะ รีบพาผู้ป่วย ไปพบแพทย์ทันที และจดจำลักษณะงูที่กัดเพื่อแจ้งแพทย์ให้การรักษาที่ถูกต้อง
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สัตว์มีพิษอีกชนิดหนึ่งที่ต้องระวังคือ ตะขาบ เพราะเมื่อโดนกัด จะทำให้มีอาการปวด คัน บวมแดงบริเวณที่ถูกกัด การปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้ทำความสะอาดบริเวณที่ ถูกกัดด้วยน้ำสะอาด และประคบน้ำอุ่นครั้งละประมาณ 10 นาที เพื่อลดอาการบวม หลีกเลี่ยงการเกา แกะ บริเวณที่ถูกกัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และรีบไปพบแพทย์หากพบว่ามีอาการบวมหรือปวดเพิ่มขึ้น
สำหรับผู้ที่ถูกแมงป่องต่อย อาการส่วนใหญ่คือปวดบวมบริเวณที่ถูกต่อย โดยมากมีอาการในวันแรกและมักหายได้เอง ส่วนรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีหัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว ความดันโลหิตสูง ปวดกล้ามเนื้อและกระดูก ปฐมพยาบาลโดยทำความสะอาดบริเวณที่ถูกกัดด้วยน้ำสะอาดและประคบเย็น ครั้งละประมาณ 10 นาที เพื่อลดอาการ บวมเฉพาะที่ได้เช่นเดียวกัน
“ทั้งนี้ ในกรณีที่บ้านมีเด็กเล็ก พ่อแม่ ผู้ปกครองควรดูแลอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งทำความสะอาดสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้สะอาด ด้วยการจัดเก็บสิ่งของและเครื่องใช้ต่าง ๆ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ให้มี มุมอับชื้น หรือเป็นแหล่งหลบซ่อนอาศัยของสัตว์มีพิษ คัดแยกขยะก่อนทิ้ง และทิ้งขยะหรือเศษอาหารในภาชนะที่มี ฝาปิดมิดชิด เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารและแหล่งเพาะพันธุ์ภายในบริเวณบ้าน ส่วนบริเวณภายนอกบ้านควรให้ โล่งเตียน หากมีการปลูกต้นไม้ในบริเวณบ้าน ควรตัดแต่งไม่ให้รกรุงรัง พร้อมกับกำจัดเศษใบไม้ใบหญ้าทุกครั้ง ไม่ควรกองทิ้งไว้ เพราะจะทำให้เป็นที่อาศัยของสัตว์มีพิษได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ขอบคุณ กรมอนามัย