เปิดเหตุผล ทำไมประเพณี "ลอยกระทง"ต้องมี "นางนพมาศ"
สำหรับสถานที่จัดงานลอยกระทงในปีนี้นั้น ศบค. เน้นย้ำมาตรการคุมเข้มโควิด19 พร้อมขอความร่วมมือ งดทำ 4 กิจกรรม โดยห้ามปล่อยโคมลอย งดเล่นดอกไม้เพลิง พลุ ประทัด และรณรงค์ลอยกระทงปลอดเหล้า
วันลอยกระทง ตามปฏิทินปีนี้คือวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 กทม.ได้มีการเตรียมความพร้อมในการจัดงานประเพณีลอยกระทง โดยกำหนดจัดงาน 2 พื้นที่หลัก ได้แก่
1. บริเวณใต้สะพานพระราม 8 เขตบางพลัด
2. คลองโอ่งอ่าง เขตสัมพันธวงศ์และเขตพระนคร
รวมทั้งจะเปิดพื้นที่สวนสาธารณะ 30 แห่งให้ลอยกระทงได้แต่ทางศบค. เน้นย้ำมาตรการคุมเข้มโควิด19 พร้อมขอความร่วมมือ งดทำ 4 กิจกรรม โดยห้ามปล่อยโคมลอย งดเล่นดอกไม้เพลิง พลุ ประทัด และรณรงค์ลอยกระทงปลอดเหล้าด้วย
ประวัตินางนพมาศ นางนพมาศ หรือบ้างก็เรียกกันว่า เรวดี นพมาศ เกิดในรัชกาลพระยาเลอไท กษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์พระร่วง นางนพมาศ เป็นธิดาของพระศรีมโหสถกับนางเรวดี บิดาเป็นพราหมณ์ปุโรหิตในสมัยพระยาเลอไท มีรูปสมบัติและคุณสมบัติที่งดงาม ได้รับการอบรมจากบิดา มีความรู้ทางอักษรศาสตร์ พุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์ การช่างของสตรี ตลอดจนการขับร้องดนตรี สันนิษฐานว่า นางนพมาศ ได้ถวายตัวเข้ารับราชการในสมัยพระยาลิไท ในยุคสุโขทัย และเป็นที่โปรดปรานจนได้เป็นสนมเอก ตำแหน่ง ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ซึ่งกล่าวกันว่า นางนพมาศ เป็นบุคคลที่ฉลาดถ่อมตัวเป็นอย่างยิ่ง จนได้สมญาว่า "กวีหญิงคนแรกของไทย" ดังเช่นที่มีข้อความเขียนไว้ว่า…
"ทั้งเป็นสตรี สติปัญญาก็น้อยกว่าบุรุษ แล้วก็ยังอ่อนหย่อนอายุ กำลังจะรักรูปและแต่งกาย ซึ่งอุตสาหะพากเพียร กล่าวเป็นทำเนียบไว้ ทั้งนี้เพื่อหวังจะให้สตรีอันมีประเภทเสมอด้วยตน พึงให้ทราบว่าข้าน้อยนพมาศ กระทำราชกิจในสมเด็จพระร่วงเจ้ากรุงมหานครสุโขทัย ตั้งจิตคิดสิ่งซึ่งเป็นการควรกับเหตุ ถูกต้องพระราชอัชฌาสัยพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้ปรากฏชื่อเสียงว่าเป็นสตรีนักปราชญ์ ฉลาดในวิชาช่างอยู่ชั่วกัลปาวสาน"
ทั้งนี้ นางนพมาศ ได้ทำคุณงามความดีเป็นที่โปรดปรานของพระร่วงในกาลต่อมา ที่สำคัญๆ มีอยู่ 3 ครั้ง คือ
ครั้งที่ 1 เข้าไปถวายตัวอยู่ในวังได้ห้าวัน ก็ถึงพระราชพิธีจองเปรียงลอยพระประทีป (ลอยกระทง) นางได้คิดประดิษฐ์โคมลอยรูปดอกกระมุท (ดอกบัว) มีนกเกาะดอกไม้สีสวยๆ ต่างๆ กัน เป็นที่โปรดปรานของพระร่วงมาก
ครั้งที่ 2 ในเดือนห้ามีพิธีคเชนทรัศวสนาน เป็นพิธีชุมนุมข้าราชการทุกหัวเมือง มีเจ้าประเทศราชขึ้นเฝ้าถวายเครื่องราชบรรณาการด้วย ในพิธีนี้พระเจ้าแผ่นดินทรงรับแขกด้วยเครื่องหมากพลู นางนพมาศได้คิดประดิษฐ์พานหมากสองชั้นร้อยกรองด้วยดอกไม้งดงาม พระร่วงทรงโปรดปรานและรับสั่งว่า ต่อไปผู้ใดจะทำการมงคลก็ดีรับแขกก็ดี ให้ใช้พานหมากรูปดังนางนพมาศประดิษฐ์ขึ้น ซี่งเป็นต้นเหตุของพานขันหมากเวลาแต่งงาน ซึ่งยังคงใช้จนถึงปัจจุบัน
ครั้งที่ 3 นางนพมาศ ได้ประดิษฐ์พนมดอกไม้ถวายพระร่วงเจ้าเพื่อใช้บูชาพระรัตนตรัย พระร่วงทรงพอพระทัยในความคิดนั้น ตรัสว่า แต่นี้ต่อไปเวลามีพิธีเข้าพรรษาจะต้องบูชาด้วยพนมดอกไม้กอบัวนี้
นอกจากนี้ นางนพมาศ ยังได้เขียนตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ขึ้นเพื่อเป็นหลักประพฤติปฏิบัติตนในการเข้ารับราชการของนางสนมกำนัลทั้งหลาย โดย ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ นี้แต่งด้วยร้อยแก้วมีกลอนดอกสร้อยแทรก ซึ่งมีการสันนิษฐานว่าแต่งขึ้นใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะภาษาที่ใช้แตกต่างจากภาษาที่ใช้ในวรรณคดีที่แต่งในยุคเดียวกันคือศิลาจารึกหลักที่ 1 และ ไตรภูมิพระร่วง โดยเนื้อเรื่องใน ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ กล่าวถึงประเพณีต่างๆ ของไทย เช่น การประดิษฐ์พานหมากสองชั้นรับแขกเมือง การประดิษฐ์โคมลอยรูปดอกกระมุท (ดอกบัว) เพื่อใช้ในพระราชพิธีจองเปรียงลอยพระประทีป (ลอยกระทง) ซึ่งประเพณีนี้ได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
และนี่คือ ประวัตินางนพมาศ สนมเอกของสมเด็จพระร่วงเจ้า ที่เป็นหญิงงาม ฉลาด และเป็นผู้ประดิษฐ์กระทงรูปดอกบัว จนกระทั่งมาเป็นต้นแบบของการประกวดนางนพมาศ ในวันลอยกระทง
ขอบคุณ : จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี