เปิดตำนาน พระพุทธชินราช สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองสองแคว
พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่ ณ พระวิหารทางทิศตะวันตกของ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก "พระพุทธชินราช" ได้รับการยกย่องว่าสวยงามที่สุดในประเทศไทย
พระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูป ปางมารวิชัย ที่มีลักษณะงดงามที่สุดในโลกมีขนาดหน้าตักกว้าง ห้าศอก 1 คืบ ห้านิ้ว (2.875 เมตร) สูงเจ็ดศอก (3.5 เมตร) หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ขัดเงาเกลี้ยง สมเด็จพระเอกาทศรถได้ทรงปิดทองเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2146 และเมื่อ พ.ศ.2478 ได้มีการลงรักปิดทองเต็มองค์อีกครั้งหนึ่ง และเป็นการ
ถาวรอยู่จนทุกวันนี้
พระพุทธชินราชประดิษฐานอยู่ ณ พระวิหารทางทิศตะวันนตกของ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร องค์พระนั่งขัดสมาธิอยู่บนฐานชุกชีบัวคว่ำบัวหงายพระพักตร์หันไปทางทิศ ตะวันตก (ด้านริมน้ำน่าน) พระพุทธชินราชมีซุ้มเรือนแก้วและสลักด้วยไม้สักลงรักปิดทอง ประดับเบิ้อง พระปฤษฎางค์ ปราณีตอ่อนช้อยงดงามช่วยเน้นให้พระวรกายของพระพุทธชินราช งดงามเด่น ชัดเจนยิ่งขึ้น
พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย แต่มีลักษณะพิเศษที่ แตกต่างไปจากสุโขทัยคลาสสิก เพราะมี พระเกศรัศมียาวเป็นเปลวเพลิง วงพระพักตร์ ค่อนข้างกลมไม่ยาวรีเหมือนผลมะตูมเช่นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย มีพระอุณาโลมผลิกอยู่ระหว่างพระขนง พระวรกายอวบอ้วนมีสังฆาฏิยาวปลายหยักเป็นเขี้ยวตะขาบ ฝังด้วยแก้วนิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวเสมอกัน ฝ่าพระบาท แบนราบ ค่อนข้างแคบ เมื่อเทียบกับยุคสุโขทัย ส้นพระบาทยาว มีรูปอาฬวกยักษ์และรูปท้าวเวสสุวัณ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์เฝ้าอยู่ ที่พระเพลาเบื้องขวาและซ้ายขององค์ตามลำดับ
ตำนานการสร้างพระพุทธชินราชปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีว่า พระมหาธรรมราชาที่ (พญาลิไทย) รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์พระร่วง กรุงสุโขทัย โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1900 ตามพงศาวดารเหนือ ได้กล่าวเรื่องการสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา มีใจความว่า
เมื่อพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกได้โปรดให้สร้างเมืองพิษณุโลก เสร็จเรียบร้อยแล้วก็ตรัสให้สร้างวัดพระรัตนมหาธาตุ มีพระมหาธาตุ รูปปรางค์ สูง 8 วา และ พระวิหารทิศกับระเบียงรอบพระมหาธาตุ ทั้ง 4 ทิศ โปรดให้ช่างชาวชะเลียง (สวรรคโลก) เชียงแสน และหริภุณชัย(ลำพูน) ร่วมมือกันสร้าง พระพุทธรูป หล่อด้วยทองสัมฤทธฺ์ 3 องค์
สำหรับประดิษฐานในพระวิหารทิศ ได้เริ่มทำพิธีเททองหล่อ ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ปีเถาะ (พ.ศ.1498) เมื่อกะเทาะหุ่นออกแล้ว ทองคงแล่น ติดเป็นองค์พระบริบูรณ์เพียง 2 องค์ คือ พระพุทธชินสีห์ กับพระศรีศาสดา ส่วนพระพุทธชินราชทองไม่ติดเต็มพระองค์ ต้องทำพิธีหล่อต่อมาอีก 3 ครั้งก็ยังไม่สำเร็จ ครั้งหลังสุด พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก ต้องตั้งสัจจาธิษฐาน แล้วทำพิธีเททองหล่อเมื่อ วันพฤหัสบดี ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง (พ.ศ.1500)
จึงสำเร็จเป็นองค์พระบริบูรณ์ในการหล่อครั้งหลังสุดนี้ปรากฏว่ามีตาปะขาวผู้หนึ่งจะมาแต่ใด ไม่มีใครทราบได้มาช่วยปั้นหุ่น และเททองหล่อพระด้วยเมื่อสร็จพิธีหล่อพระแล้วตาปะขาวก็ออกเดินทาง ไปทางเหนือเมืองพอถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งก็หายตัวไปไม่มีผู้ใดพบเห็นอีก ดังนั้น จึงเข้าใจกันว่าตาปะขาวผู้นั้นคือเทวดาแปลงตัวมาช่วยหล่อพระพุทธชินราชจึงได้พุทธลักษณะงดงามยิ่งนัก เลยเป็นเหตุให้เกิด ความเลื่อมใสในพระพุทธรูปองค์นี้ยิ่งขึ้น ส่วนหมู่บ้านที่ตาปะขาวไปหายตัวนั้นก็เลยได้นามในภายหลังว่า บ้านปะขาวหายหรือตาผ้าขาวหายมาจนทุกวันนี้
พระพุทธชินราช ตามตำนานการสร้างพระพุทธชินราชที่สร้างขึ้นในคราวเดียวกันนั้น มี 3 องค์ คือ
1. พระพุทธชินราช หน้าตักกว้าง ห้าศอกคืบห้านิ้ว ณ วิหารใหญ่ทิศตะวันตก
2. พระพุทธชินสีห์ หน้าตักกว้าง ห้าศอกคืบสี่นิ้ว ณ วิหารทิศเหนือ
3. พระศรีศาสดา หน้าตักกว้าง สี่ศอกคืบหกนิ้ว ณ วิหารด้านทิศใต้
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร สร้างเมื่อ พ.ศ.1900 ในรัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ 1(พญาลิไทย) เป็นวัดหลวง ตั้งแต่รัชกาลที่ 6 เมื่อปี พ.ศ.2458 มีพื้นที่วัด 36 ไร่ 2 งาน 54 ตารางวาในปัจจุบัน เป็นวัดชั้นเอกวรมหาวิหารตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านทางฝั่งตะวันออกสำคัญเพราะเป็นที่ประดิษฐานพุทธชินราช พระพุทธชินศรี และพระศรีศาสดา โดยเฉพาะพระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะที่งดงามที่สุดในโลก
ขอขอบคุณ : วิกิพีเดีย, ประวัติสถานที่สำคัญของจังหวัดพิษณุโลก, (พระพุทธชินราช ในพระราชนิพนธ์ ของ ร.5 พ.ศ.2460)