กรมควบคุมโรค แนะนักท่องเที่ยวเดินทางไปกางเต้นท์ ระวังตัวไรอ่อนกัด
กรมควบคุมโรค แนะนักท่องเที่ยวที่ไปกางเต้นท์สัมผัสอากาศหนาวในป่าเขา ให้ระมัดระวังตัวไรอ่อนกัด เสี่ยงป่วยโรคไข้รากสาดใหญ่
เรียกได้ว่าช่วงนี้หลายๆ เทรนการท่องเที่ยวกางเต้นท์ นอนป่านอนเขากำลังมาแรงใเนื่องจากประเทศไทยเริ่มมีอากาศหนาวแล้ว ทาง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงออกมาแนะนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปกางเต้นท์ในป่าเขาเพื่อสัมผัสอากาศหนาว ให้ระมัดระวังถูกตัวไรอ่อนกัด อาจเสี่ยงป่วยด้วยโรคไข้รากสาดใหญ่ เผยข้อมูลปีนี้พบผู้ป่วยเกือบครึ่งหนึ่งอยู่ในภาคเหนือ การป้องกันคือให้สวมใส่เสื้อที่ปิดคอ เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว ร่วมกับการใช้ทายากันแมลงกัด
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เริ่มเปิดบริการให้ประชาชนเดินทางมาท่องเที่ยว โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามภูเขายอดดอยอากาศเริ่มเย็นลง ซึ่งเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว ประชาชนมักจะเดินทางไปท่องเที่ยวตามป่าเขาและกางเต็นท์นอนเพื่อชมหมอกหรือสัมผัสอากาศหนาว ทำให้มีความเสี่ยงที่จะถูกตัวไรอ่อนที่อาศัยอยู่ในป่ากัด ซึ่งอาจติดเชื้อและป่วยเป็นโรคสครับไทฟัส (Scrub typhus) หรือโรคไข้รากสาดใหญ่ได้
โรคไข้รากสาดใหญ่ หรือโรคสครับไทฟัส (Scrub typhus) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มริกเก็ตเซีย (Rickettsia) ซึ่งมีตัวไรอ่อนเป็นพาหะ อาศัยอยู่ตามกอไม้กอหญ้าใกล้กับพื้นดิน จะกัดคนหรือสัตว์เพื่อกินน้ำเหลืองเป็นอาหาร โดยไรอ่อนจะไต่ไปตามยอดหญ้าแล้วกระโดดเกาะตามเสื้อผ้าของคนและกัดผิวหนังที่สัมผัสกับเสื้อผ้า ปกติเราจะมองไม่เห็นตัวไรอ่อนเพราะมีขนาดเล็กมากราว 1 มิลลิเมตรเท่านั้น ส่วนใหญ่บริเวณที่ถูกกัด คือ รักแร้ ขาหนีบ รอบเอว หากถูกตัวไรอ่อนที่มีเชื้อกัดประมาณ 10-12 วัน จะมีอาการ ปวดศีรษะ มีไข้ หนาวสั่น ไอ ตาแดง คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยตัว อ่อนเพลีย และบริเวณที่ถูกกัดอาจจะมีผื่นแดงขนาดเล็กค่อยๆ นูนหรือใหญ่ขึ้น และอาจจะพบแผลคล้ายบุหรี่จี้ (Eschar) แต่จะไม่ปวดและไม่คัน ผู้ป่วยบางรายอาจหายได้เอง แต่บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ เช่น ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบ และอาจทำให้เสียชีวิตได้
สถานการณ์ “โรคไข้รากสาดใหญ่” หรือ “โรคสครับไทฟัส” (Scrub typhus) ในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 27 ตุลาคม 2564 มีรายงานพบผู้ป่วยโรคไข้รากสาดใหญ่ 2,506 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ภาคที่มีจำนวนผู้ป่วยสูงสุด คือ ภาคเหนือ พบผู้ป่วยสูงสุด จำนวน 1,246 ราย และผู้ที่เสียชีวิตก็อยู่ในภาคเหนือ
นายแพทย์โอภาส กล่าวแนะนำว่า สำหรับประชาชนที่เดินทางท่องเที่ยวตั้งแคมป์กางเต็นท์นอนในป่า หรือไปทำมาหากินในพื้นที่เกษตรกรรม ควรสวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด เช่น เสื้อที่ปิดคอ เสื้อแขนยาว และกางเกงขายาว และทายากันยุง ส่วนที่อยู่นอกร่มผ้าให้ทาโลชั่นกันยุงที่มีส่วนผสมของสาร DEET หรือใช้สมุนไพรทากันยุง ซึ่งจะสามารถป้องกันตัวไรอ่อนกัดได้เช่นกัน นอกจากนี้ ขอให้หลีกเลี่ยงการเข้าไปในบริเวณที่มีตัวไรอ่อนชุกชุม ไม่ว่าจะเป็นป่าโปร่ง ป่าละเมาะ บริเวณที่มีการปลูกป่าใหม่หรือตั้งรกรากใหม่ ทุ่งหญ้า ชายป่า หรือบริเวณต้นไม้ใหญ่ที่แสงแดดส่องไม่ถึง หลังออกจากป่าให้อาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย สระผม และนำเสื้อผ้าที่สวมใส่มาซักให้สะอาดด้วยผงซักฟอกเข้มข้น เพราะอาจมีตัวไรอ่อนติดมากับร่างกายหรือเสื้อผ้าได้ หากมีอาการไข้และอาการข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเข้าป่าให้แพทย์ทราบ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร.1422
---------------------------
ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564