หน้าหนาวต้องระวัง เชื้อไวรัส RSV อาการคล้ายไข้หวัด แต่อาการรุนแรง
ทำความรู้จัก ติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV ที่มักพบช่วงปลายฤดูฝนไปจนถึงฤดูหนาว ก่อให้เกิดอาการรุนแรง
กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก แนะในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง หมั่นทำความสะอาดเครื่องใช้และอุปกรณ์ภายในบ้าน ล้างมือบ่อยๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนกลาง และใส่หน้ากากอนามัยเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากโรคทางเดินหายใจ
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV เป็นโรคที่สามารถพบได้มาก ในช่วงปลายฤดูฝนไปจนถึงฤดูหนาว โรคชนิดนี้เป็นหนึ่งในโรคที่มีอาการคล้ายไข้หวัด แต่อาจก่อให้เกิดอาการรุนแรงได้ในเด็กเล็ก เด็กที่คลอดก่อนกำหนด และผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี รวมทั้งผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคหัวใจ การติดเชื้อของเชื้อไวรัส RSV เกิดจากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางม่านตา จมูก ปาก หรือสัมผัสเชื้อโดยตรงจากการจับมือ และแพร่กระจายได้ง่ายผ่านการไอหรือจาม สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส RSV มักมีอาการ 4-6 วัน หลังได้รับเชื้อ อาการโดยทั่วไปคล้ายไข้หวัดธรรมดา มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ปวดศีรษะ หากพบว่าเชื้อลงไปสู่ระบบหายใจส่วนล่าง ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรง หายใจเร็ว หอบเหนื่อย ไอรุนแรง ทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบบางรายรุนแรงเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้
นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคชนิดนี้เกิดได้หลายช่วงอายุ แต่ในวัยผู้ใหญ่พบว่าจะมีอาการไม่รุนแรง และจะเกิดอาการที่รุนแรงในผู้ป่วยเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 15 ปี มีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ หรือปอด หรือผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ เป็นต้น สำหรับการตรวจรักษาในผู้ป่วยที่พบว่ามีอาการบ่งชี้แพทย์จะทำการตรวจหาเชื้อไวรัส RSV จากสารคัดหลั่งในจมูก การรักษาโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน และไม่มียารักษา แพทย์จะดำเนินการรักษาตามอาการของผู้ป่วย แต่หากพบว่าอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการรุนแรงต้องรีบไป พบแพทย์ทันที และเพื่อป้องกันการติดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากไวรัส RSV เราควรดูแลตัวเอง ด้วยการหลีกเลี่ยงไปในที่ชุมชนแออัด รักษาความอบอุ่นให้แก่ร่างกายในช่วงอากาศเย็น หมั่นทำความสะอาดเครื่องใช้และอุปกรณ์ภายในบ้านที่สัมผัสบ่อยๆ เช่น ลูกบิด ราวบันได รีโมท รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ และใช้ช้อนกลางเมื่อต้องรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ทุกคนในบ้านควรชำระร่างกายให้สะอาด เพื่อลดความเสี่ยงการเป็นพาหะนำเชื้อโรคมาแพร่กระจายให้บุคคลภายในบ้าน และควรใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ หากเรารู้จักป้องกันตนเอง เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถลดโอกาสของการติดเชื้อจากโรคทางเดินหายใจได้