9 พระพุทธรูป ขึ้นชื่อความศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านคู่เมือง
พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ หนุนดวง เสริมวาสนา ด้วยพุทธานุภาพอันศักดิ์สิทธิ์ ขอความเจริญรุ่งเรือง ปาฏิหาริย์บังเกิด ทำการใด จงสำเร็จสัมฤทธิ์ผลเต็มบริบูรณ์ดุจดังจันทร์ในคืนวันเพ็ญ สาธุๆ
พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านคู่เมืองไทย มีผู้คนนิยมเดินทางไปกราบไหว้ก็มี 9 พระพุทธรูป ผู้คนเนืองแน่นจะมีสถานที่ไหนบ้างลองไปดูคำตอบพร้อมกันในบทความนี้
1. พระแก้วมรกต วัดพระแก้ว
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทย ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (หรือ วัดพระแก้ว) ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร
พระแก้วมรกตเป็นพระพุทธรูปที่แกะสลักจากหยกอ่อนเนไฟรต์สีเขียวดั่งมรกต เป็นพระพุทธรูปสกุลศิลปะก่อนเชียงแสนถึงศิลปะเชียงแสน หลักฐานที่ตรงกันระบุว่าพบครั้งแรก ประดิษฐานอยู่ในเจดีย์วัดป่าญะ ตำบลเวียง เมืองเชียงราย (ปัจจุบันคือวัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย อำเภอเมืองเชียงราย) ในปี พ.ศ. 1977 (หรือ ค.ศ. 1434) ฟ้าได้ผ่าลงองค์พระเจดีย์จนพังทลายลง จึงพบพระพุทธรูปพอกปูนลงรักปิดทอง จึงได้นำไปไว้ในวิหาร ต่อมาปูนบริเวณพระนาสิก (จมูก) เกิดกระเทาะออก เห็นเป็นเนื้อมรกต จึงกระเทาะปูนออกทั้งองค์ เห็นเป็นเนื้อหยกสีมรกตทั้งองค์
2. พระไพรีพินาศ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพ
พระไพรีพินาศ เป็นพระนามของพระพุทธรูป ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ เก๋งบนชั้นสองด้านทิศเหนือของพระเจดีย์ใหญ่ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ
เมื่อราว พ.ศ. 2391 มีผู้นำมาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งขณะนั้นยังผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร และอยู่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระไพรีพินาศองค์นี้ทรงแสดงอภินิหารให้ปรากฏอริราช ศัตรูที่คิดปองร้าย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต่างมีอันเป็นไป และพ่ายแพ้ภัยตนเอง พระองค์จึงโปรดให้ถวาย
พระนามของพระพุทธ รูปองค์สำคัญนี้ว่า "พระไพรีพินาศ" โดยมีหลักฐานเป็นกระดาษซึ่งพบในพระไพรีพินาศเจดีย์ มีอักษรเขียนว่า "พระสถูปเจดียสิลาบัลลังองค์ จงมีนามว่า พระไพรีพินาศเจดียเทิญ" และอีกด้านเขียนว่า "เพราะตั้งแต่ทำแล้วมา คนไพรีก็วุ่นวายยับเยินไปโดยลำดับ" หลักฐานดังกล่าวได้ค้นพบเมื่อวันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2507 ระหว่างการซ่อมแซมพระเจดีย์ 96 ปี วัดบวรนิเวศวิหาร
3. หลวงพ่อพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก พระพุทธชินราช ประดิษฐานอยู่ ณ วิหารด้านตะวันตกในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1900 ตรงกับรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย พร้อมกับ พระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา และ พระเหลือ พระพุทธชินราชได้รับการยอมรับว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดองค์หนึ่งและยังเป็นพระพุทธรูปที่นิยมจำลองกันมากที่สุดในประเทศไทย
4. หลวงพ่อโสธร วัดโสธร จ.ฉะเชิงเทรา
วัดโสธรวรารามวรวิหาร ฉะเชิงเทรา หลวงพ่อโสธร หรือ หลวงพ่อพระพุทธโสธร เป็นพระพุทธรูปสำคัญของจังหวัดฉะเชิงเทรา ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นพระพุทธรูปหินทราย สมัยอยุธยาตอนต้น หน้าตักกว้างประมาณ 1 ศอกเศษ
เป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบ ปางสมาธิ พระพักตร์ค่อนข้างกลมแป้น พระขนงโก่งเล็กน้อย พระเนตรเล็กหรี่ เหลือบลงต่ำ พระโอษฐ์เล็ก สีพระพักตร์ขรึมแบบอยุธยา ที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะเขมร แต่ได้เสริมแต่งขึ้นจากเดิมโดยพอกปูน ลงรักปิดทองให้เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 3 ศอก 5 นิ้ว หลวงพ่อโสธร ปัจจุบันประดิษฐาน อยู่ในพระอุโบสถหลวงวัดโสธรวราราม จังหวัดฉะเชิงเทรา
5. หลวงพ่อวัดบ้านแหลม วัดเพชรสมุทร จ.สมุทรสงคราม
วัดเพชรสมุทรวรวิหารหรือวัดบ้านแหลม สมุทรสงคราม หลวงพ่อบ้านแหลม เป็นพระพุทธรูปยืน ปางอุ้มบาตร สูงประมาณ 2 เมตร 80 เซนติเมตร หล่อด้วยทองเหลืองปิดทอง ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดเพชรสมุทรวรวิหารหรือที่เรียกว่าวัดบ้านแหลม เป็นพระพุทธรูปสำคัญของชาวเมืองแม่กลอง หรือจังหวัดสมุทรสงคราม
6. หลวงพ่อสมปรารถนา วัดสว่างหัวนาคำ จ.กาฬสินธุ์
วัดสว่างหัวนาคำ กาฬสินธุ์ หลวงพ่อโพธิ์ศรีวิไลย์ (หลวงพ่อสมปรารถนา) เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่อายุหลายร้อยปี ที่ขึ้นชื่อในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ ที่มีประวัติความเป็นมาที่ไม่ธรรมดา
เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่บังเกิดปาฎิหาริย์มากมายดุจเทพบันดาล ที่พระเกจิอาจารย์หนุ่มผู้มากด้วยบารมีธรรม พระอาจารย์มหาวัฒน์ วิวฑฺฒนเมธี ป.ธ.9 วัดสว่างหัวนาคำ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ขุดอัญเชิญขึ้นได้ที่วัดศรีวิไลย์ ในเช้าวันพระ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ก่อนวันวิสาขบูชา 7 วัน พ.ศ. 2556 (โดยได้รับการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุโบราณว่า เป็นพระพุทธรูปเก่า อายุน่าจะประมาณ 200-300 ปี) พระพุทธรูปองค์นี้ท่านพระอาจารย์มหาวัฒน์ กล่าวว่า มีความศักดิ์สิทธิ์มาก เพราะมีเทวดาท่านเฝ้าบริบาลรักษาหลายหมื่นองค์
7. หลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย จ.หนองคาย
วัดโพธิ์ชัย (พระอารามหลวง) จังหวัดหนองคาย หลวงพ่อพระใส เป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสีสุก มีพระรูปลักษณ์งดงามมาก ขนาดหน้าตัก กว้าง 2 คืบ 8 นิ้ว สวนสูงจากพระสงฆ์เบื้องล่างถึงยอดพระเกศ 4 คืบ 1 นิ้ว ของชางไม้ ปัจจุบันได้ประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถวัดโพธิ์ชัย (พระอารามหลวง)
เป็นพระพุทธรูปที่ชาวจังหวัดหนองคายนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์มากและเป็น ที่เคารพสักการะอย่างยิ่ง ตามประวัติกล่าวไว้ว่า พระธิดาสามพี่น้องของกษัตริย์ล้านช้าง (บางท่านเชื่อว่า เป็นธิดาของพระไชยเชษฐาธิราช) ได้ร่วมกันสร้างพระพุทธรูปประจำพระองค์ขึ้น 3 องค์ เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา แล้วขนานนามพระพุทธรูปตามพระนามว่า พระสุก พระเสริม และพระใส มีขนาดลดกันตามลำดับ พระสุกนั้นเป็นพระประจำพี่ผู้ใหญ่ พระเสริมประจำคนกลาง ส่วนพระใสประจำคนสุดท้อง
8. หลวงพ่อวัดไร่ขิง วัดไร่ขิง จ.นครปฐม
วัดไร่ขิง เป็นวัดสำคัญตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำท่าจีน (เรียกอีกชื่อว่าแม่น้ำนครชัยศรี) ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย สร้างโดย "สมเด็จพระพุทธฒาจารย์ (พุก)" มีหลวงพ่อวัดไร่ขิงซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นพระประธาน ที่ชาวนครปฐมเคารพนับถือ เดิมเป็นวัดราษฏร์ ต่อมาจึงยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2533
9. หลวงพ่อพระพุทธสิหิงค์ วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่
พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปโบราณหล่อด้วยสำริดหุ้มทอง ปางสมาธิ สูง 79 เซนติเมตร หน้าตักกว้าง 63 เซนติเมตร เป็นศิลปะแบบลังกา
ตามประวัติกล่าวว่า พระเจ้าสีหฬะ พระมหากษัตริย์แห่งลังกาทวีปทรงสร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ. 700 ต่อมา พระเจ้าศรีธรรมโศกราชแห่งราชอาณาจักรตามพรลิงก์ได้ไปขอมาถวายพระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยาได้กรุงสุโขทัยเป็นเมืองขึ้น จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่กรุงศรีอยุธยา
ต่อมา ได้มีผู้นำไปไว้ที่เมืองกำแพงเพชรและเชียงราย เมื่อพระเจ้าแสนเมืองมา เจ้านครเชียงใหม่ยกทัพไปตีเมืองเชียงรายได้ จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่เชียงใหม่พร้อมกับพระแก้วมรกต เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตีเมืองเชียงใหม่ได้เมื่อ พ.ศ. 2205 ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่วัดพระศรีสรรเพชญ์กรุงศรีอยุธยาเป็นเวลานานถึง 105 ปี
ขอบคุณภาพจาก โซเชียลมีเดีย ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย