วันอัฏฐมีบูชา คือวันอะไร มีความสำคัญอย่างไร
วันอัฏฐมีบูชา คือวันอะไร มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ทำไมถึงมีความสำคัญกับชาวพุทธ และวันอัฏฐมีบูชา 2565 ตรงกับวันอะไร
วันอัฏฐมีบูชา 2565 วันอัฏฐมีบูชาในปีนี้ ตรงกับวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 เป็นอีกหนึ่งวันที่มีความสำคัญใน พระพุทธศาสนา วันนี้ Thainews Online จะพามารู้จัก ประวัติวันอัฏฐมีบูชา ว่ามีที่มาและเป็น วันสำคัญ อย่างไรกับ ชาวพุทธ
ประวัติวันอัฏฐมีบูชา
วันอัฏฐมีบูชา ตรงกับ วันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 เป็นวัน ถวายพระเพลิง พระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า หลังเสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้ 8 วัน และถือว่าเป็นวันสำคัญในพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่งค่ะ
เมื่อ พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว 8 วัน มัลลกษัตริย์แห่งนครกุสินารา พร้อมด้วยประชาชน และพระสงฆ์อันมี พระมหากัสสปเถระ เป็นประธาน ได้พร้อมกันกระทำการถวายพระเพลิงพุทธสรีระ ณ มกุฏพันธนเจดี แห่งกรุงกุสินารา วันนั้นเป็นวันหนึ่งที่ชาวพุทธต้องมีความสังเวชสลดใจ และโศกเศร้าเป็นอย่างยิ่ง เพราะการสูญเสียแห่งพระพุทธสรีระ
และเมื่อวันอัฏฐมีบูชานั้น เวียนมาในแต่ละปี พุทธศาสนิกชน โดยเฉพาะพระสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกาจะพร้อมกันประกอบพิธีบูชาขึ้นเป็นการเฉพาะภายในวัด สืบทอดถือปฏิบัติกันต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้ค่ะ
พิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
ตามพุทธประวัติ กุสินารา เป็น สังเวชนียสถานที่สำคัญ 1 ใน 4 สังเวชนียสถาน ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐอุตระประเทศ ประเทศอินเดีย ที่นี่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นสถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน ค่ะ ในสมัยพุทธกาล เมืองกุสินารา ตั้งอยู่ในแคว้นมัลละ และสถานที่ปรินิพพานของพระพุทธองค์ อยู่ในพระราชอุทยานของเจ้ามัลละฝ่ายเหนือแห่งกุสินารา ชื่อว่า อุปวัตตนะสาลวัน ซึ่งในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า สาลวโนทยาน แปลว่า สวนป่าไม้สาละ นั่นเอง
หลังการปรินิพพาน ของพระพุทธองค์แล้ว กษัตริย์แห่งมัลละก็ได้ประดิษฐานพระพุทธสรีระไว้ ณ เมืองกุสินาราเป็นเวลากว่า 7 วัน ก่อนที่จะประกอบพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ มกุฏพันธนเจดีย์ ในวันที่ 8 เจ้ามัลลกษัตริย์ จัดบูชาด้วยของหอม ดอกไม้ และเครื่องดนตรีทุกชนิดที่มีอยู่ในเมืองกุสินาราตลอด 7 วัน และให้เจ้ามัลละ ระดับหัวหน้า 8 คน สรงเกล้า นุ่งห่มผ้าใหม่ อัญเชิญพระสรีระไปทางทิศตะวันออกของพระนครเพื่อ ถวายพระเพลิง โดยทำตามวิธีปฏิบัติพระสรีระตามที่พระอานนท์เถระบอกคือ
ห่อพระสรีระด้วยผ้าใหม่แล้วซับด้วยสำลี แล้วใช้ผ้าใหม่ห่อทับอีก ทำเช่นนี้จนหมดผ้า 500 คู่ แล้วเชิญลงในรางเหล็กที่เติมด้วยน้ำมัน แล้วทำจิตกาธานด้วยดอกไม้จันทน์ และของหอมทุกชนิด จากนั้นอัญเชิญ พวกเจ้ามัลละระดับหัวหน้า 4 คน สระสรงเกล้า และนุ่งห่มผ้าใหม่ พยายามจุดไฟที่เชิงตะกอน แต่ก็ไม่อาจทำให้ไฟติดได้
พระอนุรุทธะ พระเถระ แจ้งว่า "เพราะเทวดามีความประสงค์ให้รอ พระมหากัสสปะ และภิกษุหมู่ใหญ่ 500 รูป ผู้กำลังเดินทางมาเพื่อถวายบังคมพระบาทเสียก่อน ไฟก็จะลุกไหม้" และเมื่อภิกษุหมู่ 500 รูปโดยมีพระมหากัสสปะเป็นประธานเดินทางมาพร้อมกัน ณ ที่ถวายพระเพลิงแล้ว ไฟจึงลุกโชนขึ้นเองโดยไม่ต้องมีใครจุด
หลังจากที่พระเพลิงเผาซึ่งเผาไหม้พระพุทธสรีระดับมอดลงแล้ว บรรดากษัตริย์มัลละทั้งหลายจึงได้ อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ทั้งหมด ใส่ลงในหีบทองแล้วนำไปรักษาไว้ภายในนครกุสินารา ส่วนเครื่องบริขารต่างๆ ของพระพุทธเจ้าได้มีการอัญเชิญไปประดิษฐานตามที่ต่างๆ
และเมื่อบรรดากษัตริย์จากแคว้นต่างๆ ได้ทราบว่า พระพุทธเจ้า ได้เสด็จดับขันธปรินิพพานที่กรุงกุสินารา จึงได้ส่งตัวแทนไปขอแบ่ง พระบรมสารีริกธาตุ เพื่อนำกลับมาสักการะยังแคว้นของตน แต่ก็ถูกกษัตริย์มัลละปฏิเสธ จึงทำให้ทั้งสองฝ่ายขัดแย้งและเตรียมทำสงครามกัน
แต่ในสุด โทณพราหมณ์ ได้เข้ามาเป็นตัวกลางเจรจาไกล่เกลี่ย เพื่อยุติความขัดแย้งโดยเสนอให้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น 8 ส่วนเท่าๆ กัน ซึ่งกษัตริย์แต่ละเมืองทรงสร้างเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตามเมืองต่างๆ ดังนี้
- กษัตริย์ลิจฉวี ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่ เมืองเวสาลี
- กษัตริย์ศากยะ ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่ เมืองกบิลพัสดุ์
- กษัตริย์ถูลิยะ ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่ เมืองอัลลกัปปะ
- กษัตริย์โกลิยะ ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่ เมืองรามคาม
- มหาพราหมณ์ สร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่ เมืองเวฏฐทีปกะ
- กษัตริย์มัลละแห่งเมืองปาวา ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่ เมืองปาวา
- พระเจ้าอชาตศัตรู ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่ เมืองราชคฤห์
- มัลลกษัตริย์แห่งกุสินารา ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่ เมืองกุสินารา
- กษัตริย์เมืองโมริยะ ทรงสร้างสถูปบรรจุพระอังคาร (อังคารสถูป) ที่ เมืองปิปผลิวัน
- โทณพราหมณ์ สร้างสถูปบรรจุทะนานตวงพระบรมสารีริกธาตุ ที่ เมืองกุสินารา
ทำให้ต่อมา เมืองกุสินารา กลายเป็นเมืองสำคัญศูนย์กลางแห่งการสักการะบูชาของพุทธศาสนิกชน เหล่ามัลลกษัตริย์ได้สร้างเจดีย์และวิหารเป็นจำนวนมากไว้รอบๆ สถูปใหญ่ คือ มหาปรินิพานสถูป อันเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า และมหาสถูปนี้แห่งได้กลายเป็นศูนย์กลางของปูชนียสถานอื่นๆ ที่สร้างขึ้นมาภายหลังในบริเวณนั้นอีกด้วย
ในปัจจุบัน ชาวพุทธทั่วโลกได้มาก่อสร้างวัดไว้มากมายในเมืองกุสินาราแห่งนี้ โดยมีวัดไทยที่นั่นด้วยค่ะ ซึ่งมีชื่อว่า วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์
ข้อมูลจาก : สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และ ธรรมะไทย