ประเพณี วันอัฏฐมีบูชา ในประเทศไทยที่ควรรู้
วันอัฏฐมีบูชา ทำไมถึงมีความสำคัญกับชาวพุทธ วันอัฏฐมีบูชา คือวันอะไร วันนี้ Thainews Online จะพามารู้จัก ประวัติวันอัฏฐมีบูชา
วันอัฏฐมีบูชา คือวันอะไร มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ทำไมถึงมีความสำคัญกับชาวพุทธ และ วันอัฏฐมีบูชา 2565 ตรงกับวันอะไร
วันอัฏฐมีบูชา 2565 ในปีนี้ ตรงกับวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 เป็นวันที่มีความสำคัญในพระพุทธศาสนา วันนี้ Thainews Online จะพามารู้จัก ประวัติวันอัฏฐมีบูชา มีที่มาอย่างไรและสำคัญอย่างไรกับชาวพุทธอย่างเรา
ประวัติวันอัฏฐมีบูชา
วันอัฏฐมีบูชา ตรงกับ วันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 เป็น วันถวายพระเพลิง พระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า หลังเสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้ 8 วัน และถือว่าเป็น วันสำคัญในพระพุทธศาสนา อีกวันหนึ่งค่ะ
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว 8 วัน มัลลกษัตริย์แห่งนครกุสินารา พร้อมด้วยประชาชน และพระสงฆ์อันมี พระมหากัสสปเถระ เป็นประธาน ได้พร้อมกันกระทำการถวายพระเพลิงพุทธสรีระ ณ มกุฏพันธนเจดี แห่งกรุงกุสินารา วันนั้นเป็นวันหนึ่งที่ชาวพุทธต้องมีความสังเวชสลดใจ และโศกเศร้าเป็นอย่างยิ่ง เพราะการสูญเสียแห่งพระพุทธสรีระ
และเมื่อ วันอัฏฐมีบูชา นั้น เวียนมาในแต่ละปี พุทธศาสนิกชน โดยเฉพาะพระสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกาจะพร้อมกันประกอบพิธีบูชาขึ้นเป็นการเฉพาะภายในวัด สืบทอดถือปฏิบัติกันต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้ค่ะ
ประเพณีวันอัฏฐมีบูชาในประเทศไทย
ในประเทศไทย พบประเพณีการถวายพระเพลิงพระบรมศพจำลองที่ วัดบรมธาตุทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยประเพณีนี้มีมาแต่เมื่อใดไม่ปรากฏ ในปัจจุบันประเพณีนี้ได้รับการสนับสนุนจากทางหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน โดยจัดเป็นงาน "วันอัฏฐมีบูชารำลึก เมืองทุ่งยั้ง" ณ วัดบรมธาตุทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์เป็นประจำทุกปี โดยกำหนดจัดงานในวันวิสาขบูชา คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ถึงวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 รวม 9 วัน
นอกจากนี้ยังพบประเพณีการจำลองถวายพระเพลิงอีกแห่งหนึ่งในภาคกลาง คือที่ วัดใหม่สุคนธาราม จัดโดย องค์การบริหารส่วนตำบลวัดละมุด ตำบลวัดละมุด อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ที่มีการสืบสานประเพณีนี้มายาวนาวกว่า 120 ปี ซึ่งถือเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในลุ่มน้ำภาคกลาง ที่รักษาประเพณีนี้มายาวนานที่สุด เป็นประเพณีพื้นบ้านที่ชาวบ้านร่วมกันจัดขบวนแห่เครื่องสักการะ ตะไล บั้งไฟ มาจุดเพื่อเป็นพุทธสักการะ และมีขบวนพุทธประวัติ จำลองหลักธรรมคำสอน ก่อนที่จะมีพิธีการจำลองการถวายพระเพลิงพระบรมศพ ซึ่งมีประชาชนในชุมชนและทั่วไปแห่แหนกันมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก
หลักธรรมที่เกี่ยวข้อง
สุจริต 3 หมายถึง ความประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ซึ่งส่งผลให้ผู้กระทำประสบแต่ความสงบสุข สุจริตแสดงออกได้ 3 ทาง คือ
1. ทางกาย เรียกว่า กายสุจริต หมายถึง ความประพฤติดีที่แสดงออกทางกาย ได้แก่ การเว้นจากการฆ่าสัตว์
2. ทางวาจา เรียกว่า วจีสุจริต หมายถึง ความประพฤติที่เกิดทางวาจา ได้แก่ การเว้นจากการพูดโกหก การเว้นจากการพูดส่อเสียด
3. ทางใจ เรียก ว่า มโนสุจริต หมายถึง ความประพฤติดีทีเกิดทางใจ ได้แก่ การไม่เพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น และเห็นถูกต้องตามธรรมนองคลองธรรม
ขอบคุณ : วิกิพีเดีย
ภาพจาก : โซเชียลมีเดีย