เทคนิคปลูกมะเขือเทศเชอรี่ เพิ่มผลผลิตให้ลูกดก รายได้ดี
มะเขือเทศ เป็นพืชล้มลุกอายุเพียง 1 ปี มะเขือเทศมีสรรพคุณมากมายทั้งวิตามินซี ไลโคปีน เบต้าแคโรทีน และสารต้านอนุมูลอิสระมายมาก ล้วนมีประโยชน์ต่อสุขภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดในปัจจุบัน
มะเขือเทศ เป็นพืชชนิดหนึ่งในตระกูลผลมีเนื้อหลายเมล็ด อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหารมากมาย มะเขือเทศขนาดปานกลางจะมีปริมาณวิตามินซีครึ่งหนี่งของส้มโอทั้งผล มะเขือเทศผลหนึ่งจะมีวิตามินเอราว 1 ใน 3 ของวิตามินเอที่ร่างกายต้องการในหนึ่งวัน นอกจากนี้มะเขือเทศยังมีโปแตสเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียมและแร่ธาตุอื่นๆ อีกหลายชนิด มะเขือเทศ มีหลายพันธุ์ และวันนี้ทีมข่าว Thainews Online เราจะขอนำเสนอวิธีปลูกมะเขือเทศเชอร์รี่ พืชเศรษฐกิจ ปลูกง่ายรายได้ดี
พันธุ์และเมล็ดพันธุ์ ในประเทศไทยเมล็ดพันธุ์ มะเขือเทศเชอรี่ ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ลูกผสม นำเข้ามาจากต่างประเทศ หาซื้อได้จากบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์เอกชน
อายุการเจริญเติบโตและวงจรชีวิต
มะเขือเทศ เป็นพืชที่ออกดอกได้โดยไม่ต้องรับการกระตุ้นจากอุณหภูมิต่ำและช่วงแสงที่เหมาะสมหรืออาจกล่าวได้ว่า การออกดอกขึ้นกับอายุของมะเขือเทศนั้นเอง
- อายุการงอก 4-5 วันหลังหยอดเมล็ด
- อายุออกดอก 45-50 วันหลังหยอดเมล็ด
- อายุเก็บเกี่ยว 80-85 วันหลังหยอดเมล็ดเป็นต้นไป
- อายุผลสุกแดง 32-37 วันหลังดอกบาน
ช่วงเก็บเกี่ยวจะยาวนานประมาณ 1-3 เดือนขึ้นกับสภาพต้น ฤดูกาล การระบาดของโรคแมลงและการปฏิบัติดูแลรักษา
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่มะเขือเทศ
ดิน : ควรเป็นดินร่วน pH ประมาณ 6.5 อินทรียวัตถุมาก ระบายน้ำดี ไม่มีน้ำขังแฉะ อุณหภูมิที่เหมาะสมในการติดผลคือ อุณหภูมิกลางคืน 17-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิกลางวัน 28-30 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ดีมะเขือเทศพันธุ์ มะเขือเทศเชอรี่ เป็นพันธุ์ที่ทนร้อนได้ดีพอสมควร แม้อุณหภูมิกลางคืนจะสูงกว่า 22 องศาเซลเซียส ยังสามารถติดผลได้ แต่ถ้าอุณหภูมิกลางวันสูงกว่า 35 องศา
เซลเซียส ดอกมักจะร่วงและติดผลได้ยาก
วิธีปลูก มะเขือเทศเชอรี่
1. การเตรียมดิน
- ไถ พรวน ตากแดด อย่างน้อย 7-10 วัน เพื่อฆ่าเชื้อโรค
- ใส่อินทรียวัตถุ 1,000-2,000 กก./ไร่ โดยรองก้นหลุมและโรยบริเวณผิวหน้าดิน จุดประสงค์เพื่อให้อินทรียวัตถุเป็นอาหารของจุลินทรีย์ และเป็นแหล่งให้ธาตุอาหารรองแก่มะเขือเทศ
- ฤดูฝน ยกแปลงปลูกให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้รากมะเขือเทศมีบริเวณที่แห้งมากและเร็วที่สุดหลังจากฝนตกหรือขณะที่ฝนตกต่อเนื่องหลายวัน และอาจต้องขยายระยะระหว่างแถวให้กว้างขึ้นเพื่อจะได้มีดินมากพอสำหรับตั้งแปลงปลูกให้สูงตามต้องการ
2. การปลูก
หยอดเมล็ดลงแปลงปลูก และเมื่อเมล็ดงอกแล้วจัดระยะระหว่างต้น ห่างกันอย่างน้อย 20-30 เซนติเมตร การปลูกโดยใช้ระยะปลูกแคบ 5- 10 เซนติเมตรทำให้พุ่มแน่น แย่งอาหารกันเอง ใบบังแสง อับลมถ่ายเทอากาศไม่สะดวก เกิดโรคแล้วควบคุมยาก (ในวันเดียวกับที่หยอดเมล็ดลงแปลงปลูก สามารถเตรียมต้นกล้าสำหรับย้ายซ่อมโดยหยอดเมล็ดลงในถาดเพาะ 104 ช่องประมาณ 2-5 เปอร์เซนต์ ของจำนวนต้นที่ปลูกทั้งหมด จะช่วยให้ต้นมะเขือเทศที่ย้ายซ่อมเติบโตทันกัน)
3. การเพิ่มการติดผล
- ระยะก่อนออกดอก บำรุงต้นมะเขือเทศไม่ให้เติบโตทางลำต้นใบมากเกินไป โดยสังเกต กิ่งใบไม่ยืดหรือฉ่ำน้ำ ก้านช่อดอก ก้านดอก และดอกมีขนาดใหญ่ไม่เรียวเล็ก การเติบโตทางลำต้นใบมากเกินไปเกิดจากสาเหตุต้นมะเขือเทศได้รับธาตุไนโตรเจนมาก แสงแดดน้อย หรือธาตุโปแตสเซียมน้อยเกินไป การได้ไนโตรเจนมากเกินไปทำให้ดอกร่วงไม่ติดผลและมักเกิดโรคก้นเน่าที่ผลมากขึ้น การปรับสมดุลของธาตุอาหารทำโดยปรับสูตรปุ๋ยให้มีโปแตสเซียมมากขึ้นและให้น้ำน้อยลง
- ฉีดพ่นด้วยฮอร์โมนช่วยในการติดผล เช่น 4-CPA ความเข้มข้น 25-50 ppm. ฮอร์โมน 4-CPA จะเป็นพิษต่อใบทำให้ใบหด ย่น ผิดรูปร่าง โดยเฉพาะสภาพอากาศร้อนจะทำให้เป็นพิษมากขึ้น จึงควรฉีดในช่วงเย็นใกล้ค่ำ ควรฉีดน้อยครั้งเพราะการฉีดบ่อยจะยิ่งทำให้ใบเสียรูปร่างมากขึ้น เลือกฉีดในช่วงที่มีดอกบานมากๆ และใช้อัตราความเข้มข้นต่ำ
- ระยะติดผล บำรุงต้นมะเขือเทศให้สมบูรณ์ โดยอาจให้ปุ๋ยทางใบเสริม เพื่อให้ต้นมะเขือเทศสมบูรณ์ มีอาหารเพียงพอที่จะส่งไปเลี้ยงผลที่ติดให้เติบโตได้อย่างสมบูรณ์ มิฉะนั้นผลที่ติดจะเติบโตได้ไม่ดีผลอาจเล็กเกินไปหรือบิดเบี้ยวผิดรูปร่าง ไม่สามารถส่งขายได้เช่นกัน
4. ลดการแตกของผล
- รักษาความชื้นในแปลงปลูกให้สม่ำเสมอโดยให้น้ำบ่อยครั้งๆละไม่มาก
- ฉีดพ่นแคลเซียม โบรอน โดยฉีดให้ถูกผลอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพราะแคลเซียมเป็นธาตุที่พืชต้องการมากและเป็นองค์ประกอบของเซลทำให้ผนังเซลล์แข็งแรง ปรกติแคลเซียมจะเคลื่อนย้ายจากดินจากรากสู่ผลได้ดีกว่าการให้แคลเซียมทางใบ จึงควรตรวจดูสภาพดินด้วยว่าดินเป็นกรดหรือด่างและมีแคลเซียมเพียงพอหรือไม่ ถ้าดินเป็นกรดควรใส่ปูนตั้งแต่ตอนเตรียมดิน
5. การป้องกันโรคโดยวิธีเขตกรรม
- ตากดิน 7-10 วันก่อนปลูก
- พยายามทำให้แปลงปลูกมีการระบายอากาศได้ดีที่สุดโดย
- ปรับแนวปลูกหรือแถวปลูกไม่ให้ขวางทางลม
- ปลูกให้มีระยะห่างพอเหมาะไม่แน่นทึบเกินไป
- ตัดแต่งกิ่ง ใบ ด้านล่างออกบ้างเพื่อไม่ให้สะสมความชื้นและโรค
- ตรวจแปลงบ่อยๆ และพกถุงพลาสติกดำลงแปลงด้วยทุกครั้ง เมื่อพบใบเป็นโรคหรือต้นเป็นโรคให้เก็บใส่ถุงดำนำออกจากแปลง
- ไม่ทิ้งเศษ ใบ กิ่ง ต้น และผลเป็นโรคไว้ในแปลงปลูก ควรเผาทำลายนอกแปลง
- ใช้หลายๆวิธีในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช ระลึกเสมอว่าวิธีใดวิธีหนึ่งมักไม่เพียงพอในการป้องกันแม้จะใช้สารเคมีก็ตาม
การเก็บเกี่ยว มะเขือเทศเชอรี่
ช่วงเก็บเกี่ยว เมื่อมีอายุประมาณ 60 วัน (หลังย้ายปลูก) เก็บเกี่ยวเมื่ออายุเหมาะสม โดยใช้กรรไกรตัดก้านผลให้เหลือก้านยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ควรเก็บผลที่มีสีเขียวปนเหลืองหรือชมพู
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรุง สีตะธนี 2555 ศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชผักเขตร้อน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม