เทคนิค "ปลูกมังคุด" ให้ได้คุณภาพ ส่งออกได้ราคาดี
มังคุด เป็นผลไม้จากเอเชียที่ได้รับความนิยมมาก ได้รับขนานนามว่าเป็น ราชินีของผลไม้ มีรสชาติที่หวาน อร่อย และเป็นที่ต้องการของตลาดส่งออกเป็นอย่างมาก
มังคุด ราชินีแห่งผลไม้ มังคุดมีถิ่นกำเนิดบริเวณคาบสมุทรมลายู แต่สำหรับประเทศไทยนั้นมีการเพาะปลูกกันมากในภาคใต้และภาคตะวันออก ในกรุงเทพมหานครมีวังสวนมังคุด ซึ่งตั้งอยู่บริเวณวังหลัง สันนิษฐานว่าเป็นพื้นที่สำหรับปลูกมังคุดเพื่อรับรองคณะทูตที่เดินทางมาจากเมืองอื่น ปัจจุบันยังคงเหลือแนวกำแพงอิฐเก่า อยู่ในบริเวณชุมชนวัดระฆัง
สรรพคุณตามตำรายาไทย
ราก ทำให้ประจำเดือนมาปกติ รักษาโรคบิดมมูกเลือด
ต้น ใบ และดอก รักษาโรคบิดมูกเลือด
เปลือกต้น ชะล้างบาดแผล รักษาแผล
ผลดิบ สมานแผล แก้บาดแผล แก้ท้องร่วง แก้บิด
เปลือกผล แก้ท้องร่วง สมานแผล แก้ท้องเสีย
เนื้อในผล บำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง
พันธุ์มังคุด
มังคุดพันธุ์ดีที่นิยมปลูกและบริโภคในประเทศไทย มีทั้งหมด 2 พันธุ์ ได้แก่ มังคุดพันธุ์ดั้งเดิม(พันธุ์พื้นเมือง) และ มังคุดพันธุ์ผลยาว
- เลือกต้นพันธุ์ที่แข็งแรง
- มีระบบรากสมบูรณ์ไม่ขดงอ
- อายุไม่น้อยกว่า 2 ปี
- มีความสูงไม่ต่ำกว่า 30 เซนติเมตร
พื้นที่ปลูกมังคุด ที่เหมาะสม
- สภาพพื้นที่ มีความอุดมสมบูรณ์สูง ระบายน้ำได้ดี หน้าดินลึกกว่า 50 เซนติเมตร มีความเป็นกรดด่าง 5.5 - 6.5
- สภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิระหว่าง 25 - 35 องศาเซลเชียส ปริมาณน้ำฝนมากกว่า 2,000 มิลลิเมตร/ปี การกระจายตัวของฝนดี มีช่วงแล้งต่อเนื่องน้อยกว่า 3 เดือน/ปี และความขึ้นสัมพัทธ์ร้อยละ 70 - 80
- แหล่งน้ำ มีปริมาณเพียงพอตลอดปี ไม่มีสารอินทรีย์ และอนินทรีย์ที่เป็นพิษปนเปื้อน มีความเป็นกรดด่าง 6.0 - 7.5
การเตรียมพื้นที่ปลูกมังคุด
- พื้นที่ดอน ไถพรวน ปรับพื้นที่ให้เรียบ หากมีปัญหาน้ำท่วมขังให้ขุดร่องระบายน้ำ
- พื้นที่ลุ่ม ยกโคกปลูก หากมีน้ำท่วมขังมากและนานควร ยกร่องสวน ให้มีขนาดสันร่องกว้างไม่น้อยกว่า 6 เมตร ร่องน้ำกว้าง 1.5 เมตร ลึก 1 เมตร มีระบบระบายน้ำ เข้า-ออกเป็นอย่างดี
การวางผังปลูก มี 2 ระบบ คือ
- ระบบสี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือ สามเหลี่ยมด้านเท่า ระยะปลูก 8x8 หรือ 10x10 เมตร
- ระบบแถวกว้างต้นชิน ระยะปลูก 8x3 หรือ 10x5 เมตร
วิธีการปลูกมังคุด
- วิธีการปลูกแบบเตรียมหลุมปลูก เหมาะกับพื้นที่ค่อนข้างแล้ง
- วิธีการปลูกแบบนั่งแท่นหรือยกโคก เหมาะกับพื้นที่ฝนตกชุก ช่วยให้ดินระบายน้ำได้ดีขึ้น
การใส่ปุ๋ย ให้น้ำ และการดูแลรักษา
เก็บตัวอย่างดินและใบมังคุด เพื่อส่งวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารและใส่ปุ้ย ให้สอดคล้องกับค่าวิเคราะห์ดินและใบ หรือใส่ตามอัตราแนะนำ โดย
ช่วงหลังการเก็บเกี่ยว
ปุ๋ยอินทรีย์ อัตรา 20-30 กิโลกรัมต่อต้น + ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 1/3 ของเส้นผ่าศูนย์กลางทางพุ่ม (กิโลกรัมต่อต้น)
เช่น ถ้าทรงพุ่มกว้าง 6 เมตร ให้ใส่ปุ๋ย 2 กิโลกรัม โดยโรยรอบชายขอบของทรงพุ่มให้ทั่วถึง
ช่วงพัฒนาของผล
ปุ๋ยสัดส่วน 3:1:4 อัตรา 1/3 ของเส้นผ่าศูนย์กลางทางพุ่ม (กิโลกรัมต่อต้น)
เช่น ปุ๋ยสูตร 15-5-20
หรือ ตามค่าวิเคราะห์ดินหลังการติดผลร่วมพ่นปุ๋ยทางใบสัดส่วน 4:1:6 อัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
ให้น้ำเพียงพอกับความต้องการของมังคุดในแต่ละช่วงการเจริญเติบโต
ระยะติดผล อายุผลประมาณ 5 สัปดาห์ ให้น้ำทุก 3 วัน อัตราร้อยละ 80 ของการให้น้ำปกติ
ระยะอายุผล 5 สัปดาห์ถึงก่อน 10 สัปดาห์ ให้น้ำอัตราร้อยละ 10 ของการให้น้ำปกติ
ระยะอายุผลประมาณ 10-12 สัปดาห์ถึงเก็บเกี่ยว ให้น้ำอัตราร้อยละ 80 ของการให้น้ำปกติ
การดูแลรักษามังคุด
การพรางแสง ช่วงแรกปลูก ควรมีร่มเงา อาจใช้วัสดุธรรมชาติ ช่วยพรางแสง หรืออาจปลูกต้นไม้โตเร็วระหว่างแถวมังคุด เช่น กล้วย
การตัดแต่งและควบคุมทางพุ่ม
มังคุดต้นเล็ก ตัดแต่ง เฉพาะกิ่งด้านล่างให้สูงจากพื้นดินประมาณ 50 เซนติเมตร และกิ่งที่ซ้อนทับกันจนแน่นทึบออก
มังคุดที่ให้ผลผลิตแล้ว ตัดแต่งกิ่งที่อยู่ด้านข้างของ ทรงพุ่มที่ประสานกันออก ให้มีช่องว่างระหว่างชายพุ่ม โดยรอบกับต้นข้างเคียงประมาณ 50-70 เซนติเมตร ตัดยอดประธานที่สูงเกินต้องการออก ตัดกิ่งรองออกให้ เหลือด้านละ 1-5 กิ่ง ให้เลี้ยงกิ่งแขนงที่อยู่ในทรงพุ่ม ไว้เพื่อได้ผลผลิตเพิ่ม
โรคพืชในมังคุด
สถานการณ์โรคมังคุด โรคที่พบ ได้แก่ โรคใบจุด โรคผลเน่า นอกจากนี้ยังพบโรคที่เกิดจากราเข้าทำลายขั้วผล ทำให้ขั้วผลเน่า ซึ่งจะมีผลต่อโรคพืชหลังการเก็บเกี่ยว ส่วนอาการยางไหล อาการเนื้อแก้ว และอาการยางตกใน เป็นอาการที่เกิดจากสภาพแวดล้อม และสรีรวิทยาของพืช
ระยะเก็บเกี่ยวมังคุด
เก็บผลในระยะสายเลือด วัยที่ 1 โดยเลือกแรงงานที่มีความชำนาญในการเก็บเกี่ยว
วัยที่ 0 สีเขียวตองออน
สีเขียวตองอ่อนทั้งผล เป็นผลอ่อนเกินไป ห้ามเก็บเกี่ยวโดยเด็ดขาด เพราะคุณภาพด้อยมาก ไม่เป็นที่ยอมรับสำหรับการบริโภค
วัยที่ 1 ผลมีสายเลือด เกิดจุด แต้ม หรือ ประสีม่วงแดง
เหมาะต่อการเก็บเกี่ยว แต่ยังไม่เหมาะต่อการบริโภค เพราะเนื้อยังติดเปลือก แต่เหมาะต่อการส่งไปจำหน่ายยังตลาดห่างไกล ผลมังคุดในวัยนี้ใช้บริโภคได้ภายใน 4 วัน หลังการเก็บเกี่ยว (ณ อุณหภูมิเขตร้อน)
วัยที่ 2 ผลมีการเปลี่ยนสี เป็นสีน้ำตาลแดงเรื่อๆ
ผลมีสีน้ำตาลแดงเรื่อๆ เกือบทั้งผล ผลในระยะนี้จะต้องทำการเก็บเกี่ยวให้หมด ไม่ควรปล่อยให้ผลติดกับต้นเกินวัยมากกว่านี้
วัยที่ 3 ผลมีสีน้ำตาลแดง
ผลระยะนี้อาจจะใช้บริโภคได้ แต่เปลือกยังมียางสีเหลืองอยู่บ้าง
วัยที่ 4 ผลมีสีม่วงแดง
ระยะนี้ใช้บริโภคได้
วัยที่ 5 ผลมีสีม่วงเข้มหรือม่วงดำ
เป็นระยะที่เหมาะต่อการรับประทานให้อร่อยได้มากที่สุด ผลมังคุดวัยนี้จะมีสภาพที่เหมาะต่อการรับประทาน อยู่ได้ประมาณ 10 วัน ถ้ามีการเก็บรักษาไว้ ณ อุณหภูมิห้องอย่างถูกต้อง
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์