คาถาบูชาหลวงปู่ทวด บทสวดเสริมบารมีเปลี่ยนชีวิต
คาถาบูชาหลวงปู่ทวด พระเกจิดัง ที่คนไทยนับถือมากที่สุดองค์หนึ่ง พร้อมวิธีบูชาหลวงปู่ทวด และ บทสวดมนต์ พระคาถาศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยเสริมบารมีให้กับคุณ
คาถาบูชาหลวงปู่ทวด คาถาศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยเสริมบารมี เป็นบทสวดเสริมบารมีเปลี่ยนชีวิต ยิ่งสวดยิ่งเพิ่มบุญให้กับคุณ พร้อมวิธีบูชาหลวงปู่ทวดให้ได้อานิสงส์ต้องทำอย่างไรบ้าง
คาถาบูชา และ บทสวดมนต์ มีความเชื่อโบราณ กล่าวไว้ว่า มนต์คาถาจะมีอักขระศักดิ์สิทธิ์และมีพลังมาก เป็นมนต์ที่มาจากพระเกจิดังที่บำเพ็ญเพียรบรรลุแล้ว สามารถดลบันดาลให้สิ่งอัปมงคลนั้นออกไปจากชีวิตอีกทั้งยังให้คุณกับคนที่สวด ยิ่งคุณสวดมนต์ หรือ บูชาคาถามากเท่าไหร่ก็จะยิ่งเสริมบุญ เพิ่มสิริมงคลให้กับตัวคุณเอง
ประวัติหลวงปู่ทวด
ตามตำนานกล่าวว่าหลวงปู่ทวด เป็นบุตรของนายหู นางจันทร์ ซึ่งเป็นทาสในเรือนเบี้ยของเศรษฐีปานเกิดในรัชกาลของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เกิดเมื่อ 3 มีนาคม พ.ศ. 2125 ณ บ้านสวนจันทร์ (บ้านเลียบ) ต.ดีหลวง (ปัจจุบันเป็นตำบลชุมพล) อ.สทิงพระ (จะทิ้งพระ) จ.สงขลา ตอนแรกเกิดมีชื่อว่า "ปู"
ในตอนที่ท่านเกิด ยังมีเหตุอัศจรรย์เกิดฟ้าร้องฟ้าผ่าแผ่นดินสะเทือนเลื่อนลั่น เสมือนหนึ่งว่ามีผู้มีบุญญาธิการมาเกิด เมื่อตัดรกจากสายสะดือแล้วนายหูบิดาของท่านก็นำรกของท่านไปฝังไว้ที่โคนต้นเลียบ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ต้นเลียบในปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังเกิดปาฏิหาริย์จากหลวงปู่ทวดอีกนั่นก็คือ เมื่อครั้นยังแบเบาะ ในสมัยนั้นจึงมีสัตว์ป่าชุกชุมพอสมควร และบ้านของท่านก็อยู่ในป่าดงตาล บิดามารดาของท่านจึงผูกเปลของท่าน ซึ่งเป็นเปลผ้าไว้กับต้นมะเม่าสองต้นและก็ได้เกี่ยวข้าวอยู่ไม่ไกลจากบริเวณนั้น แต่เมื่อนางจันทร์ผู้เป็นแม่จะเดินกลับมาให้นม ก็พบกับงูจงอางตัวใหญ่หรืองูบองหลาที่ชาวภาคใต้เรียกกัน พันที่รอบเปล นางจันทร์เห็นแล้วตกใจเป็นอันมากจึงเรียกนายหูที่อยู่ไม่ไกลนักมาดูและช่วยไล่งูจงอางนั้น
แต่งูจงอางนั้นก็ไม่ไปไหน นายหูและนางจันทร์จึงตั้งสัตยาธิฐานว่าขออย่าให้งูนั้นทำร้ายลูกน้อยเลย ไม่นานนักงูจงอางนั้นก็คลายวงรัดออกและเลื้อยหายไปในป่านายหูและนางจันทร์จึงเข้าไปดูลูกน้อยเห็นว่ายังหลับอยู่และไม่เป็นอันตรายใดๆ และปรากฏว่ามีเมือกแก้วขนาดใหญ่ที่งูจงอางคลายไว้อยู่บนอกเด็กชายปูนั้น เมือกแก้วนั้นมีแสงแวววาวและต่อมาได้แข็งตัวเป็นลูกแก้ว ปัจจุบันได้ประดิษฐานที่วัดพะโคะ
เมื่อท่านมีอายุได้ประมาณ 7 ขวบ พ.ศ. 2132 บิดา มารดาของท่าน จึงนำท่านไปฝากไว้เป็นศิษย์วัดเพื่อเล่าเรียนหนังสือ ที่วัดกุฎิหลวงหรือวัดดีหลวงในปัจจุบัน เป็นวัดอยู่ใกล้บ้านท่าน ในขณะนั้นมีท่านสมภารจวง ที่มีศักดิ์เป็นลุงของท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่ เด็กชายปูเป็นเด็กที่หัวดีเรียนเก่งสามารถเล่าเรียนภาษาขอมและภาษาไทยได้อย่างรวดเร็ว สมภารจวงได้บวชให้ท่านเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ 15 ปี ตอนที่ท่านบวชเป็นสามเณร
ด้วยความที่เป็นคนใฝ่เรียนใฝ่รู้ตลอดเวลาของท่าน ต่อมาท่านสมภารจวงได้นำไปฝากให้เล่าเรียนหนังสือที่สูงขึ้นสมัยนั้นเรียกว่ามูลบทบรรพกิจ ปัจจุบันก็คือเรียนนักธรรมนั่นเอง โดยนำไปฝากเรียนไว้กับสมเด็จพระชินเสน ซึ่งเป็นพระเถระชั้นสูงที่ส่งมาจากกรุงศรีอยุธยา ท่านได้เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและจบหลักสูตรที่วัดสีคูยังนั้น
ลังจากนั้นท่านได้เดินทางเข้ามาศึกษาต่อที่เมืองนครศรีธรรมราชเพื่อเรียนหนังสือให้สูงขึ้น โดยมาพำนักอยู่ที่วัดเสมาเมือง ซึ่งเป็นสำนักเรียนและมีสมเด็จพระมหาปิยะทัสสีเป็นเจ้าอาวาส และ ได้บรรพชาอุปสมบทเป็นพระสงฆ์เมื่ออายุครบกาลอุปสมบท ท่าน ได้ศึกษาวิชาจากครูบาอาจารย์ต่างๆ จนมีความรู้และเป็นผู้ทรงอภิญญามาก ทั้งยังได้แสดงปาฏิหาริย์หลายครั้ง
สุดท้ายเมื่อท่านมีอายุได้ 80 ปี ท่านได้กลับมาจำพรรษาที่วัดพะโคะ วัดบ้านเกิดของท่าน ต่อมาท่านได้สั่งเสียกับลูกศิษย์ว่าเมื่อท่านมรณภาพให้นำพระศพท่านไปไว้ที่วัดช้างไห้ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ต่อไปสถานที่ข้างหน้าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ให้คนมาเที่ยว
หลังจากที่ท่านมรณภาพเหล่าลูกศิษย์ของท่านก็ยังคงเลื่อมใสศรัทธาในความความศักดิ์สิทธิ์ของตัวท่านอยู่สืบเนื่องต่อมา จนเป็นที่โด่งดังถึงต่างชาติก็รู้จักถึงอภินิหารของท่าน ด้วยกฤษดาอภินิหารของท่านที่ทำการเหยียบน้ำทะเลจืดและพระเครื่องของท่านทุกองค์ ไม่ว่าใครจะสร้าง จริงหรือปลอม ปลุกเสกหรือไม่ ล้วนเยี่ยมยอดทุกองค์ ใครคล้องคอติดตัวจะปลอดภัยอย่างน่ามหัศจรรย์
คาถาบูชาหลวงปู่ทวด
สำหรับการ บูชาหลวงปู่ทวด เพื่อความเป็นสิริมงคล ให้จุดธูปแขก 9 ดอก มะลิขาว 9 ดอก พร้อมกล่าวบทคำบูชาพระพุทธเจ้า และตามด้วยคาถาบูชาหลวงปู่ทวด ดังนี้
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุท ธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุท ธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุท ธัสสะ
นะโม โพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติภะคะวา
นะโม โพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติภะคะวา
นะโม โพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติภะคะวา
ขอบคุณ : ข้อมูลจากวิกิพีเดีย
ภาพจาก : โซเชียลมีเดีย