ไอเดียสุดปัง ปลูกไผ่แซมยาง ทิ้งให้เป็นแหล่งอาหารหน่อไม้ ตัดขายได้ปีละแสน
เกษตรกรคิดใหม่ ทำใหม่ พืชหลักไม่จำเป็นต้องเป็นรายได้หลัก ปลูกไผ่แซมยางแต่ไม่เปิดกรีด ทิ้งให้เป็นแหล่งอาหารหน่อไม้ ตัดขายสัปดาห์ละ 2 รอบ รายรวมปีละกว่า 1 แสนบาท แถมแปรรูปขายได้กำไรเพิ่มอีกต่อ
นายเปลื้อง ช่วยรุย อายุ 52 ปี เกษตรกรชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน หมู่ 6 ต.หนองช้างแล่น อ.ห้วยยอด จ.ตรัง นำผู้สื่อข่าวดูสภาพพื้นที่สวนยางพารา เนื้อที่ประมาณ 8 ไร่ ที่รับทุนสงเคราะห์จาก กยท.ประเภทที่ 5 สามารถปลูกพืชแซมยางได้ ซึ่งขณะนี้ยางพาราทั้ง 8 ไร่ สามารถเปิดกรีดได้มานานนับปีแล้ว แต่เจ้าของสวนไม่เปิดกรีดยาง โดยบอกว่าเก็บเอาไว้ให้สำหรับพืชแซมใช้เป็นที่พึ่งพา โดยปลูกพืชร่วมหลากหลายชนิดลงไปในสวนยาง ทั้ง ลูกเนียง ทุเรียน หมาก พริกไทย (ให้พริกเลื้อยกับต้นยาง โดยบั่นท่อนยางทิ้ง) กระวาน พืชสมุนไพรอื่น ๆ
โดยเฉพาะ "ไผ่" ที่ปลูกกระจายเต็มพื้นที่ทั้ง 8 ไร่ กว่า 10 สายพันธุ์ ประกอบด้วย หม่าจู กิมซุง ซางหม่อน ไผ่สีสุก หน่อไผ่เลี้ยง ไผ่ลวก ไผ่ปักกิ่ง ไผ่มันหมู ไผ่เลี้ยง ไผ่เลี้ยงสีทอง ไผ่สร้างไพร ซึ่งเป็นไผ่เลี้ยงลำ เอาไว้ทำโรงเรือน ปลูกพืช แทนการใช้เหล็กที่มีราคาแพง ไผ่เค้าดาวน์จักรพรรดิ์ ไผ่ข้าวหลามหนองมน ไผ่ข้าวหลามปากแดง ไผ่ดำติมอร์ สำหรับทำเฟอร์นิเจอร์ แต่ในจำนวนที่ดินประมาณ 3 ไร่ เป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ลึกประมาณ 1 เมตร เจ้าของสวนยางจึงปลูกไผ่ร่วมกับยางไว้หนาแน่นมากกว่าจุดอื่น ๆ เพื่อให้ไผ่ช่วยดูดซับน้ำที่เข้าท่วมพื้นที่
ทั้งนี้มีการตัดหน่อไม้ขาย สัปดาห์ละ 2 ครั้ง คือวันเสาร์และวันอังคาร แต่ละครั้งได้นับร้อยกิโลกรัม ทั้งในและนอกฤดู แต่เจ้าของสวนดูแลจนสามารถออกหน่อนอกฤดูได้มากกว่าในฤดู โดยฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูหน่อไม้ จะมีหน่อไม้ออกจำนวนมาก แต่สวนแห่งนี้กลับออกน้อย เพราะดูแลบำรุงรักษาให้ออกนอกฤดูกาลจำนวนมากกว่า ทำให้ช่วงหน้าแล้งมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ โดยราคาหน่อไม้ในฤดูขณะนี้กิโลกรัมละ 15 บาท แต่ช่วงหน้าแล้งขายได้กิโลกรัมละ 25 บาท เมื่อนำไปแปรรูปเป็นหน่อไม้ต้ม โดยตัดส่งให้เพื่อนซึ่งรวมกลุ่มกันปลูกและแปรรูป
นายเปลื้อง กล่าวว่า สวนยางของตนเองเปิดกรีดได้นานนับปีแล้ว แต่ไม่เปิดกรีด เอาไว้ให้พืชร่วมพึ่งพา จะเห็นว่าต้นไผ่ที่ปลูกไว้สามารถสะสมอินทรีย์วัตถุได้มากมาย เป็นอาหารของไผ่ ทำให้ไผ่สมบูรณ์ มีหน่อให้ตลอดเวลา โดยการดูแลให้ไผ่ออกหน่อนอกฤดู เพียงแต่เสริมด้วยปุ๋ยมูลสัตว์ ทั้งมูลไก่ มูลวัว มูลหมู นำมาใส่เติม และให้น้ำในหน้าแล้ง สร้างความชุ่มชื่นให้ดิน ทำให้หน่อไม้ของตนเองออกนอกฤดูมากกว่าในฤดู ทำให้หน่อไม้ที่ได้อวบใหญ่ น้ำหนักดี หน่อละ 1-2 กก. ซึ่งในช่วงหน้าแล้งที่ออกนอกฤดู บางหน่อขายได้ 70-100 บาท แต่ละครั้งตัดหน่อได้ประมาณ 70 – 100 กิโลกรัม มีรายได้เดือนละ 10,000 - 20,000 บาท เฉพาะประมาณ 3 ไร่ ซึ่งในอนาคตจะทำให้สามารถตัดเก็บหน่อได้ทุกวัน และขยายพื้นที่ปลูกไผ่เชิงเดี่ยวเพิ่มอีก 1 แปลง
การปลูกไผ่ ถ้าต้องการขายลำ โดยรวมประมาณ 5 ปี จึงจะตัดลำขายได้ แต่ระหว่างที่ยังขายลำไม่ได้ สามารถตัดหน่อขายเป็นอาหาร รายได้ดีกว่ามาก พื้นที่ส่วนหนึ่งตนเองยังบั่นต้นยางทิ้ง เพื่อปลูกพริกไทยพันธุ์ปะเหลียน และยังทดลองปลูกพืชอื่น ๆ รวมทั้งสมุนไพรอีกมากมาย นอกจากนั้นบริเวณที่ปลูกไผ่เป็นแนวยาวสองข้างทาง ยังสวยงามมองเป็นอุโมงค์ สามารถมาท่องเที่ยวได้ ล่าสุดคณะกรรมการลูกโลกสีเขียวเดินทางเข้ามาประเมินพื้นที่ด้วย เพราะมีชื่อเข้าชิงรางวัลลูกโลกสีเขียว
ผู้สื่อข่าวยังได้ติดตามไปดูการทำหน่อไม้ต้มสด และแปรรูปทำหน่อไม้ดองไว้ขายนอกฤดู โดยหน่อไม้ที่ได้มาจากสวนยางของนายเปลื้อง และของนางพะยอม วารินสะอาด อายุ 56 ปี ซึ่งรวมกลุ่มกันปลูก นายเปลื้องได้ปั้นเตาดินขนาดใหญ่ขึ้นมา เพื่อใช้กับกระทะใบบัวสำหรับต้มหน่อไม้สด ไม่ต้องใช้แก๊ส ซึ่งสิ้นเปลือง แต่ใช้เศษขยะจากบริเวณบ้านและสวน เช่น เปลือกมะพร้าว กะลา ไม้ฟืน มาเป็นเชื้อเพลิง ลดต้นทุนการผลิต และคิดค้นเครื่องมือตัดหน่อไม้เป็นแว่นด้วยตัวเอง เพื่อลดเวลาทำงาน สามารถทำหน่อไม้ดองได้อย่างสะดวก รวดเร็ว
ด้าน นางพะยอม บอกว่า หน่อไม้จากสวนของตนเองและสวนของนายเปลื้องซึ่งจับมือกันทำ ปีที่ผ่านมาสามารถผลิตหน่อไม้ทั้งแบบต้มสดและหน่อไม้ดองไว้ขาย ทั้งในฤดูและนอกฤดู ได้มากถึง 4 ตัน สร้างรายได้หลายแสนบาท และปีนี้เชื่อว่าจะได้มากถึง 5 ตัน ซึ่งนอกฤดูขายได้ราคาดีกว่า แต่ต้องการรักษาลูกค้า จึงต้องผลิตขายทั้งในและนอกฤดู หน่อไม้ดองนอกฤดูขายราคากิโลกรัมละ 50 บาท หน่อไม้ดองในฤดู 35 บาท ส่วนหน่อไม้สดต้มในฤดูกิโลกรัมละ 40 บาท ถ้านอกฤดู 60 บาท จึงมีรายได้ดีมาก เป็นรายได้หลักแทนรายได้จากสวนยางพารา ซึ่งราคาไม่ดี ขึ้น ๆ ลง ๆ และฝนตกบ่อย ไม่สามารถกรีดได้ทุกวัน
ภาพข่าว จาก คณิตา สีตอง สำนักข่าวเนชั่น จ.ตรัง