วิธีการดูแลนาข้าว หลังน้ำลด ให้กลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม และไม่เสียหายมาก
อดีตรองอธิบดีกรมการข้าว แนะวิธีดูแลนาข้าว หลังน้ำลด เนื่องจากตอนนี้ประเทศไทยหลายพื้นที่กำลังประสบอุทกภัย จากพายุที่เข้ามาส่งผลให้เกิดความเสียหาต่อนาข้าว
เนื่องจากตอนนี้ประเทศไทยหลายพื้นที่กำลังประสบอุทกภัย จากพายุที่เข้ามาส่งผลให้เกิดความเสียหาต่อนาข้าว ของชาวนาในประเทศไทย เป็นอย่างมาก วันนี้ ทีมงานสวนกระแส โดย ไทยนิวส์ จะมาแนะนำวิธีการการดูแลนาข้าวหลังน้ำท่วม เมื่อน้ำเริ่มลด จะดูแลอย่างไงได้บ้าง
โดยวิธีการ การดูแลนาข้าวหลังน้ำท่วม เมื่อน้ำเริ่มลดลให้สังเกตนาข้าวดังต่อไปนี้
1. ต้นข้าวได้รับความเสียหายอย่างไรบ้าง
- มีข้าวเน่าบ้างหรือไม่
- สีของนาข้าวทั่วไป เป็นสีเหลือง หรือ สีน้ำตาล
- ถ้าข้าวอยู่ในระยะออกรวง / ออกดอก ให้ดูว่ารวงเน่าแล้วหรือยัง ที่กาบใบ หรือที่ใบมีโรคอะไร หรือ แมลงกัดกิน เกิดขึ้นหรือไม่
2. ในช่วงน้ำลดใหม่ๆ 2-3 วัน หลังน้ำลด อย่าเพิ่งใส่ปุ๋ยเคมีใดๆ ทั้งสิ้น เพราะช่วงนี้ รากยังคงอ่อนแอ และเสียหาย บางครั้ง อาจมีรากเน่าอยู่ด้วย
การใส่ปุ๋ยเคมี โดยเฉพาะ ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) จะไปช่วยเพิ่มกิจกรรมของจุลินทรีย์ที่ราก ทำให้รากเน่าเร็วขึ้น
3. อย่าห่วงว่า ข้าวจะต้องได้ปุ๋ยทันที เพราะปกติเมื่อน้ำท่วมนา เป็นเวลา 5-6 วัน แล้วน้ำลดลง พบว่าข้าวจะได้สารอาหารจากน้ำที่หลากมา โดยน้ำจะพัดผ่านแหล่งอาหารธรรมชาติมาด้วย
หลังน้ำลดแล้ว 3-4 วัน ปล่อยให้ดินแห้งดี แล้วจะพบว่า นาข้าวกลับมาสีเขียว ต้นข้าว รวงข้าวเริ่มชู แข็งแรง นาบางแปลง ข้าวกลับมีสีเขียวเข้ม
ดังนั้น สิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งคือเร่งใส่ปุ๋ยเข้าไปอีก เพราะจะกลับทำให้ข้าวเฝือใบ ต้นอ่อนแอ เป็นที่ชอบพอของแมลง และโรคต่างๆ
4. หากพบว่า 4 -5 วันแล้ว ข้าวมีอาการป่วยมากขึ้น จากเหลือง ก็เหลืองมากขึ้น จึงแนะนำให้ใส่ปุ๋ย เพื่อฟื้นฟูอาการได้ แต่ให้ใส่ทีละน้อย คอยสังเกตอาการฟื้นตัว
ถ้าข้าวแสดงอาการป่วยไม่หาย ลักษณะเป็นหย่อมๆ ช่วยสังเกตที่โคนต้นข้าว หย่อมนั้น อาจยังคงมีน้ำขังอยู่ เนื่องจากการเตรียมดินระยะแรก หน้าดินไม่สม่ำเสมอ
หรือ ดูที่โคนต้น อาจมีแมลงเข้ามาดีดกินต้นข้าวที่อ่อนแอ โดยเข้ามาระยะที่น้ำเริ่มลด โดยติดมากับน้ำ เจอต้นข้าวอ่อนแอจึงเป็นอาหารอันโอชะ แบบนี้ต้องรีบกำจัด (เฉพาะจุดที่มีอาการ)
5. อย่าเพิ่งตกใจ ให้พิจารณาลักษณะน้ำท่วมข้าว ดังนี้
- ถ้าน้ำท่วมยังไม่มิดต้นข้าว โอกาสรอด มีมาก อาหารที่มากับน้ำ ช่วยลดค่าปุ๋ยได้ด้วย
- ถ้าน้ำท่วมจนมิดต้นข้าว ก็มาพิจารณา ระยะเวลาที่ข้าวอยู่ใต้น้ำ เฉลี่ยข้าวทั่วไป คงอยู่ไต้น้ำได้ไม่เกิน 7 วัน ถ้าเกิน 7 วัน ก็น่าเป็นห่วงว่าจะฟื้นตัวยาก
- คุณภาพน้ำที่ท่วมขัง มักพูดว่า ถ้าน้ำใส ข้าวรอดเร็ว ถ้าน้ำขุ่น แม้น้ำผ่านไปแล้ว ตะกอนที่ตกค้างบนใบข้าว จะเป็นอุปสรรคในการทำงานของใบข้าวที่จะรับแสง หรือสร้างอาหาร
- ช่วงระยะการเจริญเติบโตของต้นข้าว ถ้าข้าวยังอยู่ในช่วง 2 เดือน แรก คือก่อนระยะเจริญพันธุ์ (Reproductive Stage) ข้าวจะได้รับผลกระทบน้อย เร่งสร้างใบใหม่รากใหม่ เติบโตแตกกอได้อีกมาก แต่ถ้าข้าวใกล้ตั้งท้อง หรือ ข้าวออกดอก ก็จะมีผลกระทบต่อผลผลิต มากกว่า ระยะแรก
เนื่องจากมีเกษตรกรหลายท่านเข้าใจผิดว่าและตั้งความหวังไว้กับปุ๋ยเคมีอย่างมาก เฝ้ารอว่าน้ำลดแล้ว จะต้องเร่งใส่ปุ๋ยเคมี ทันที ซึ่งผลปรากฏว่า ข้าวที่มีอาการอ่อนแออยู่แล้ว รากไม่ทันได้หายใจ ไม่ทันผลิตรากชุดใหม่ เจอปุ๋ยยูเรียที่อัดเข้าไปอีก ทำให้เกิดปัญหา รากเน่า จากการที่ดูดซับธาตุอาหารในดินไม่ได้ ทำให้ข้าวฟื้นตัวยาก เป็นผลให้ได้ผลผลิตข้าวตกต่ำมาก
ส่งผลให้เกษตรกรต่างเข้าใจผิดว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น และอาการดังกล่าวเป็นผลกระทบจากน้ำท่วม แต่ถ้าหากรอสัก 3-4 วัน หลังน้ำลดลงได้มีเวลาในการพิจารณาดูอาการ ของต้นข้าวและให้รากของต้นข้าวได้รับอากาศ ได้สร้างรากใหม่ ต้นข้าวกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม และไม่เสียหายมาก
ข้อมูลจาก ดร.ลัดดาวัลย์ กรรณนุช (อดีตรองอธิบดีกรมการข้าว)
สนับสนุนโดย : ปุ๋ยมงกุฎ