การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังทำนา ให้ได้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพ
ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ เทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนา ให้ได้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพ รวมทั้งข้อควรระวังในการปลูก
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นพืชไร่ที่มีศักยภาพที่จะปลูกในพื้นที่นาหลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปี เนื่องจากมีอายุสั้น ประมาณ 100-110 วัน ใช้น้ำน้อยกว่าการทำนา ช่วยลดการระบาดของโรคและแมลงศัตรูในนาข้าว
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาให้ได้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพ
การเลือกพื้นที่ปลูก
ควรเลือกพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำเพียงพอตลอดฤดูกาลปลูก หลีกเลี่ยงพื้นที่ ราบลุ่มต่ำและระบายน้ำยาก
วันปลูก
ควรกำหนดวันปลูกข้าวโดยการกำหนดวันปลูกข้าวโพดไว้ล่วงหน้า เช่น หากต้องการปลูกข้าวโพดในเดือนตุลาคม จะต้องปลูกข้าวในเดือนมิถุนายน หรือ ถ้าปลูกล่าช้า เกษตรกรจะต้องเก็บเกี่ยวข้าวให้เสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน หากเก็บเกี่ยวในเดือนธันวาคม จะทำให้ปลูกข้าวโพดล่าช้าถึงเดือนมกราคม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตข้าวโพด
วันปลูกที่เหมาะสมของข้าวโพดในฤดูแล้ง คือ เดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม ซึ่งหากปลูกได้เร็วจะทำให้ต้นข้าวโพดมีการเจริญเติบโตดี และระยะออกดอกไม่ตรงกับช่วงที่อุณหภูมิสูง การปลูกข้าวโพดในช่วงนี้ ในปีที่มีอุณหภูมิค่อนข้างต่ำ จะทำให้ข้าวโพดงอกช้ากว่าปกติ หรือแสดงอาการใบสีม่วงคล้ายขาดปุ๋ยฟอสฟอรัสในระยะต้นกล้า
การเลือกเมล็ดพันธุ์
เลือกเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดี มีความงอกมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ และมีความแข็งแรงสูง เนื่องจากการปลูกข้าวโพดฤดูแล้ง อาศัยความชื้นในดินที่หลงเหลืออยู่หลังเก็บเกี่ยวข้าวซึ่งมีค่อนข้างจำกัด
ลักษณะดิน
ดินนาที่เหมาะสมสำหรับปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ ดินร่วน ดินร่วนเหนียว หรือดินร่วนทราย เนื่องจากมีการระบายน้ำดี และมีความอุดมสมบูรณ์พอสมควร
ควรหลีกเลี่ยง การปลูกข้าวโพดในดินนาที่เป็นดินเหนียวจัด เนื่องจากระบายน้ำไม่ดี และหลีกเลี่ยงดินกรดถึงกรดจัด (pH ต่ำกว่า 5.0)
วิธีการเตรียมดิน
- ไถดะ โดยใช้รถไถผาล 7 หรือ รถไถเดินตาม หลังเก็บเกี่ยวข้าวพร้อมคราดเพื่อย่อยดินและเก็บความชื้น ทิ้งแปลงตากแดดไว้ 5-7 วัน เพื่อกำจัดวัชพืช จากนั้นไถแปรพร้อมกับคราด 2-3 ครั้ง เพื่อเก็บความชื้นและย่อยดินให้ร่วนซุย
- พื้นที่นาที่พื้นดินไม่สม่ำเสมอ ต้องปรับพื้นที่ให้ราบเรียบสม่ำเสมอ ไม่มีแอ่ง หรือส่วนที่เป็นโคกและที่ดอน เพื่อสะดวกในการให้น้ำและระบายน้ำออกจากแปลง
- พื้นที่นาที่พื้นดินไม่สม่ำเสมอ ต้องปรับพื้นที่ให้ราบเรียบสม่ำเสมอ ไม่มีแอ่ง หรือส่วนที่เป็นโคกและที่ดอน เพื่อสะดวกในการให้น้ำและระบายน้ำออกจากแปลง
- ควรทำร่องส่งน้ำเข้าแปลงและร่องระบายน้ำออกจากแปลงรอบๆ แปลงนา แปลงนาที่มีขนาดใหญ่หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 3-5 ไร่ขึ้นไป ควรทำร่องส่งน้ำและระบายน้ำกลางแปลงเพิ่มเติมทุกๆ 20-40 แถว โดยทิศทางของร่องให้ขนานกับแถวปลูกเพื่อส่งน้ำเข้าแปลงได้อย่างทั่วถึง
วิธีการปลูก
- การปลูกแบบเป็นแถว โดยใช้รถไถเดินตามขนาดเล็ก พร้อมกับการใส่ปุ๋ยรองพื้น ระยะปลูกที่เหมาะสม คือ ระยะระหว่างแถว 70-75 เซนติเมตร ระยะระหว่างหลุม 20 เซนติเมตร จำนวน 1 ต้นต่อหลุม
- อัตราเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสม คือ 2.5-3.0 กิโลกรัมต่อไร่ หากจำเป็นต้องมีการปลูกซ่อม ควรปลูกซ่อมในช่วง 7-10 วันหลังปลูก
การใส่ปุ๋ย
1. การใส่ปุ๋ยเคมีรองพื้น ควรใช้ตามค่าวิเคราะห์ดิน สูตร 15-15-15 16-16-8 16-8-8 หรือ 20-10-5 เป็นต้น การปลูกโดยใช้เครื่องปลูก ใส่ปุ๋ยพร้อมปลูก
2. การใส่ปุ๋ยแต่งหน้าครั้งที่ 1 และพูนโคน เมื่อข้าวโพดอายุประมาณ 3 สัปดาห์หลังปลูก โดยใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 อัตรา 15 กิโลกรัมต่อไร่ โรยข้างแถวปลูก แล้วพูนโคนกลบ
3. การใส่ปุ๋ยแต่งหน้าครั้งที่ 2 เมื่อข้าวโพดเริ่มออกช่อดอกตัวผู้และออกไหม โดยใช้ปุ๋ยเคมี สูตร 46-0-0 อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ โรยข้างร่องน้ำ หลังจากให้น้ำแล้ว
การให้น้ำ
การปลูกข้าวโพดโดยอาศัยความชื้นในดินที่หลงเหลืออยู่หลังเก็บเกี่ยวข้าว ควรมีการตรวจสอบความชื้นของดินหลังเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว
หากความชื้นของดินไม่เพียงพอสำหรับการงอกและการเจริญเติบโตในระยะแรก (1-2 สัปดาห์) ควรมีการให้น้ำก่อนปลูก โดยไถดะพร้อมกับปล่อยน้ำเข้าแปลงนา ทิ้งไว้จนความชื้นพอเหมาะสำหรับการไถพรวน
แต่ถ้าดินมีความชื้นเพียงพอ ให้ไถดะพร้อมคราดเพื่อเก็บรักษาความชื้น
ควรให้น้ำครั้งแรกหลังจากการพรวนดินพูนโคน เมื่อข้าวโพดอายุได้ประมาณ 3 สัปดาห์ หรือหลังจากนั้น อาจจะสังเกตอาการเหี่ยวชั่วคราวของใบข้าวโพดที่เกิดขึ้นในช่วงบ่ายในการให้น้ำครั้งแรกและครั้งต่อไป หลังจากนั้นให้น้ำอีกประมาณ 2-3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับชนิดของดินและสภาพภูมิอากาศ
ข้อควรระวังในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนา
1. หลีกเลี่ยงพื้นที่ราบลุ่มต่ำ และน้ำท่วมขัง
2. ไถเตรียมดินเมื่อความชื้นพอเหมาะโดยเฉพาะดินเหนียว หากไถในสภาพที่ดินมีความชื้นสูง จะทำให้ดินเป็นก้อนโต หากไถดินในสภาพที่ดินแห้งเกินไป จะทำให้ไถเตรียมดินยาก และไถได้ไม่ลึก
3. หลีกเลี่ยงดินเหนียวถึงเหนียวจัด ระบายน้ำไม่ดี และหลีกเลี่ยงดินกรดถึงกรดจัด
4. ไม่ควรปลูกหลังเดือนธันวาคม จะทำให้ผลผลิตต่ำ
5. อย่าให้ขาดน้ำในระยะออกดอก ซึ่งเป็นระยะวิกฤตของพืช จะทำให้ผลผลิตลดลงอย่างมาก หรือให้น้ำมากเกินไปในระยะแรกจะทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมขัง
6. เมล็ดพันธุ์ต้องมีความงอกมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์
ที่มา:
ดร.สมชาย บุญประดับ เทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้มีคุณภาพ เอกสารประกอบการฝึกอบรม หลักสูตรระบบการปลูกพืชที่มีข้าวเป็นหลัก 15 กุมภาพันธุ์ -10 มีนาคม 2555 ณ โรงแรมบ้านสวนรีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ จัดทำโดย สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร
สนับสนุนโดย : ปุ๋ยทิพย์