#ภัยใกล้ตัวที่ต้องระวัง เปิดวิธีป้องกันโรคไข้หัดแมว
แมวมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ อันตรายถึงขั้นทำให้แมวเสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว คาร์นิวอร์ โปรโตพาร์โวไวรัส 1 เป็นไวรัสในกลุ่มพาร์โวไวรัสชนิดหนึ่ง ทำให้เกิดโรคในสัตว์กินเนื้อ ติดต่อได้ง่ายมากในกลุ่มสุนัขและแมว
อาการของโรค
โรคนี้มักพบในแมวที่อายุน้อยซึ่งก่อให้เกิดความรุนแรงค่อนข้างมาก ด้วยอาการของไข้หัดแมวมักจะส่งผลต่อการทรงตัวของลูกแมวและทำให้ลูกแมวตาบอดได้ สำหรับแมวโตนั้นก็สามารถพบโรคนี้ได้เช่นกัน โดยอาการที่พบคือซึม เบื่ออาหาร มีไข้สูง อาเจียน ท้องเสีย ถ่ายเป็นมูกเลือดกลิ่นคาว ร่างกายขาดน้ำ บางครั้งอาจมีอาการเกร็ง ปวดช่องท้อง
การวินิจฉัยโรค
1.การสังเกตอาการร่วมกับการตรวจค่าเลือด โดยค่าเลือดส่วนใหญ่ในแมวที่มีการติดเชื้อมักพบว่าสัตว์ จะมีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ โดยความรุนแรงของโรคจะสัมพันธ์กับการลดลงของเม็ดเลือดขาว
2.การตรวจทางเซรุ่มวิทยา(serology) เป็นการตรวจโดยใช้ขุดตรวจแอนติเจน โดยใช้ชุดตรวจแอนติเจนที่ใช้สําหรับตรวจเชื้อไวรัสพาร์โวในสุนัข
3.การตรวจPCR
การรักษา
แนวทางการรักษาโรคมักจะเป็นการรักษาตามอาการและพยุงอาการเพื่อให้น้องแมวสามารถสร้างภูมิต้านทานต่อโรคได้ โดยการให้สารอาหารและน้ำเข้าทางหลอดเลือด (Fluid Therapy) รวมถึงให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียหรือยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนระหว่างการรักษา นอกจากนี้อาจมีการให้ยาระงับการอาเจียนร่วมด้วย เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสโดยตรง การรักษาจึงทำเพื่อประคับประคองและพยุงอาการเท่านั้น
การป้องกัน
ป้องกันโดยการให้วัคซีนเข็มแรก ควรให้เมื่อแมวอายุ 8-9 สัปดาห์ และควรกระตุ้นซ้ำ ที่อายุ 12-20 สัปดาห์ จากนั้นฉีดกระตุ้นซ้ำทุกปี รวมถึงต้องทำความสะอาด ทำการฆ่าเชื้อโรคที่อาจแพร่ออกมากับอุจจาระ ปัสสาวะ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่ผสมโซเดียมไฮโปคลอไรด์ และการนําแมวเข้ามาเลี้ยงใหม่ควรมีการกักโรคแมวก่อนนํามารวมฝูงเพื่อป้องกันการติดโรคทุกครั้ง