ทำความรู้จัก "โรคเอดส์แมว" หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องในแมว
"โรคเอดส์แมว" เกิดจากการติดเชื้อไวรัส FIV ที่สามารถติดต่อผ่านเลือดและน้ำลาย เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ระดับภูมิคุ้มกันในร่างกายจะลดลง และทำให้ระบบการทำงานของอวัยวะผิดปกติ
โรคเอดส์แมว เกิดจากเชื้อไวรัส Feline Immunodeficiency Virus (FIV) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่อยู่ในตระกูลเดียวกับเชื้อ HIV ในคนและโรคลิวคีเมียในแมว ถือเป็นโรคติดต่อที่สามารถติดต่อจากแมวตัวหนึ่งไปยังแมวอีกตัวหนึ่งได้ โดยการติดต่อมักเกิดจากการที่แมวกัดหรือข่วนกันจนมีบาดแผลและเกิดการสัมผัสน้ำลายหรือเลือดของแมวที่ป่วยเป็นโรคเอดส์แมว ซึ่งโรคนี้ส่วนใหญ่จะพบมากในแมวเพศผู้ที่มีนิสัยก้าวร้าว ยังไม่ทำหมัน และเลี้ยงแบบปล่อย เนื่องจากมีโอกาสสัมผัสเชื้อมากกว่า
อาการของโรค
1. มีไข้ ซึม เบื่ออาหาร ซูบผอม
2. 25-50% ของแมวที่ติดเชื้อมีการอักเสบของเหงือกและเยื่อเมือกในช่องปาก
3. 30% ของแมวที่ติดเชื้อมักมีการอักเสบของจมูก เยื่อตา และกระจกตา
4. 10-20% ของแมวที่ติดเชื้อ มักมีอาการถ่ายเหลวต่อเนื่อง
5. แมวมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปเนื่องจากเป็นอาการทางระบบประสาท เช่น กระวนกระวาย เดินวนไปมา ก้าวร้าว เป็นต้น มีความบกพร่องทางความสามารถในการมองเห็นและการได้ยิน มีความผิดปกติของเส้นประสาทบริเวณขาและฝ่าเท้า
6. แมวบางตัวมีการอักเสบที่ส่วนหน้าของลูกตารวมถึงม่านตา อาจรุนแรงถึงขั้นความดันในลูกตาสูงผิดปกติจนทำให้เกิดต้อหินได้
7. ต่อมน้ำเหลืองมีการขยายขนาด
8. มีอาการของโรคไตเรื้อรัง
9. ในระยะยาวอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราที่ผิวหนัง ตา กระเพาะปัสสาวะ และระบบทางเดินหายใจส่วนต้น
วิธีการป้องกันและดูแลรักษา
โรคเอดส์แมวไม่มีการรักษาที่เฉพาะเจาะจงเนื่องจากเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การรักษาของสัตวแพทย์จึงเน้นไปที่รักษาตามอาการและการจัดการที่เหมาะสมเพื่อชะลอความรุนแรงของโรค ลดภาวะความเครียด และความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแทรกซ้อนในแมว
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้โรคเอดส์แมวจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ 100% แต่แมวที่ติดเชื้อสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขเป็นเวลานานหลายปี
สามารถป้องกันไม่ให้แมวเสี่ยงต่อการเป็นโรคเอดส์แมวได้หากคอยดูแลให้แมวสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันที่ดี พาไปตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ และเนื่องจากโรคเอดส์แมวเป็นโรคที่ติดต่อระหว่างแมวด้วยกันเท่านั้น
1. ควรเลี้ยงแมวภายในบ้านหรือหลีกเลี่ยงการพบเจอกับแมวที่ติดเชื้อ
2. หากในบ้านมีทั้งแมวติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ ควรเลี้ยงแยกกัน
3. ควรพาแมวในบ้านไปพบสัตวแพทย์สม่ำเสมอเพื่อตรวจว่ามีเชื้อไวรัส FIV หรือไม่
4. หากมีการนำแมวเข้ามาใหม่ ในสิ่งแวดล้อมที่เคยมีแมวติดเชื้ออยู่ ควรทำความสะอาดและฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาทำความสะอาดที่มีประสิทธิภาพ เปลี่ยนชามอาหาร ชามน้ำ ที่นอน และของเล่นก่อนที่จะนำแมวเข้ามา และควรทำวัคซีนให้เรียบร้อย
5. การฉีดวัคซีนป้องกันโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องในแมว สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ แต่ไม่ 100% และไม่ใช่วัคซีนหลักในแมว ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเชื้อ