ทำความรู้จัก "โรคซึมเศร้า" อาการ สาเหตุ การป้องกัน
"โรคซึมเศร้า" ถือเป็นภัยเงียบที่พบมากขึ้นในสังคมปัจจุบัน ที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกาย เมื่อเป็นแล้วสามารถเข้ารับการรักษาและวินิจฉัยโดยแพทย์ เพื่อระบุสาเหตุและนำไปสู่การรักษาอย่างถูกวิธี
โรคซึมเศร้ามีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการทำงานของระบบสมองที่ผิดปกติ ในปัจจุบันโรคซึมเศร้าสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาและการรักษาทางจิตใจ หากไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน การทำงาน และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง นำไปสู่ภาวะซึมเศร้าที่รุนแรงมากขึ้น เช่น มีอาการหลงผิด หูแว่ว มีความคิดทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตาย
สาเหตุโรคซึมเศร้า
. ความผิดปกติในสมอง เช่น สารสื่อประสาท ฮอร์โมน และวงจรระบบประสาท
. ผู้ที่มีญาติเป็นโรคทางอารมณ์จะมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่า แต่ทั้งนี้ผู้ที่ไม่มีญาติเป็นโรคทางอารมณ์ก็อาจเป็นโรคนี้ได้
. สภาพจิตใจของแต่ละคนอันเนื่องมาจากการเลี้ยงดู สภาพแวดล้อม และเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิต ซึ่งส่งผลต่อกระบวนการคิดและมุมมอง ต่อตนเอง เช่น มองโลกในแง่ร้าย สิ้นหวังหรือขาดความภูมิใจในตนเอง เป็นต้น
. ภาวะซึมเศร้าอาจเกิดจากความผิดปกติอื่น ๆ เช่น โรคทางกาย (ไทรอยด์ ลมชัก สมองเสื่อม ฯลฯ) ยารักษาโรคบางชนิด ปัญหายาเสพติด โรคอารมณ์สองขั้ว โรควิตกกังวล ฯลฯ
อาการโรคซึมเศร้า
ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามักมีอาการดังต่อไปนี้ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 2 สัปดาห์
. เก็บตัว แยกตัวออกจากสังคม
. รู้สึกเศร้า ท้อแท้ และสิ้นหวัง
. รู้สึกตนเองไร้ค่า
. รู้สึกผิดและโทษตนเองตลอดเวลา
. ขาดความสนใจหรือความเพลิดเพลินในการทำกิจกรรมต่าง ๆ
. เคลื่อนไหวช้าลงหรือกระสับกระส่าย
. เหนื่อยและอ่อนเพลียตลอดเวลา
. ขาดสมาธิ ความสามารถในการคิดและการตัดสินใจน้อยลง
. เบื่ออาหารหรืออยากอาหารมากขึ้น
. นอนมากหรือน้อยกว่าปกติ
. มีความคิดหรือพยายามฆ่าตัวตาย
. มีปัญหาในการทำงานและการใช้ชีวิตในสังคม
รักษาโรคซึมเศร้า
การรักษาหลักของโรคซึมเศร้า คือ การพูดคุยให้คำปรึกษา การทำจิตบำบัดและการใช้ยากลุ่มต้านเศร้า ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถดีขึ้นได้จนสามารถทำงานและดำรงชีวิตได้อย่างปกติหากได้รับการรักษาที่เหมาะสม
ที่มา : โรงพยาบาลกรุงเทพ