เตือน 3 กลุ่มอาหารเสี่ยงภาวะตัวบวม อย่าชะล่าใจว่าเป็นเรื่องปกติ

15 มกราคม 2567

ผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล เผยข้อมูล 3 กลุ่มอาหารเสี่ยงภาวะตัวบวม อย่าชะล่าใจคิดว่าเป็นเรื่องปกติ อันตรายกว่าที่คิด

ม.มหิดล เผยข้อมูลจาก ดร.วนะพร ทองโฉม นักวิชาการโภชนาการ งานสร้างเสริมสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล เกี่ยวกับ 3 กลุ่มอาหารเสี่ยงภาวะตัวบวม พร้อมแนะนำวิธีและปริมาณการรับประทานที่เหมาะสมและเปิดข้อมูลอย่าชะล่าใจคิดว่าอาการตัวบวมเป็นเรื่องปกติ เพราะอาจแสดงถึงความผิดปกติของร่างกายเราได้ โดยมีข้อมูลดังต่อไปนี้

 

เตือน 3 กลุ่มอาหารเสี่ยงภาวะตัวบวม อย่าชะล่าใจว่าเป็นเรื่องปกติ

 3 กลุ่มอาหาร เสี่ยง!! ภาวะตัวบวม เคยเป็นไหม ตื่นขึ้นมาแล้วตัวบวม หน้าบวม ภาวะแบบนี้หากเกิดขึ้นในคนทั่วไปมักจะมีสาเหตุมาจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไป แม้จะเป็นแค่ภาวะชั่วคราว แต่ก็ส่งผลต่อความมั่นใจได้ ในบางรายภาวะตัวบวมอาจกำลังบอกว่าเราเป็นโรคบางอย่างอยู่

มาเช็กกันว่าอาหารที่เราชอบกินจัดอยู่ในอาหารกลุ่มเสี่ยง เพิ่มภาวะตัวบวมหรือไม่ ตัวบวมแบบไหนไม่ควรนิ่งนอนใจ ต้องรีบไปพบแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญมีคำตอบให้

ภาวะตัวบวมคืออะไร

ภาวะที่ร่างกายมีการกักเก็บน้ำไว้มากเกินไป แม้จะเป็นภาวะที่เกิดชั่วคราว แต่บางครั้งก็อาจเป็นสัญญาณของโรคต่าง ๆ ได้

อาหารเพิ่มปัจจัยเสี่ยงภาวะตัวบวม

 

เตือน 3 กลุ่มอาหารเสี่ยงภาวะตัวบวม อย่าชะล่าใจว่าเป็นเรื่องปกติ

 

1. อาหารกลุ่มโซเดียมสูง

คุณหมอให้ข้อมูลไว้ว่าโดยปกติร่างกายเราจะมีการรักษาสมดุลของน้ำและโซเดียม โซเดียมจะทำหน้าที่ควบคุมสมดุลของเหลวในร่างกาย หากได้รับโซเดียมมากเกินไป ร่างกายจะกักเก็บน้ำไว้เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดภาวะตัวบวม ซึ่งอาหารที่มีโซเดียมสูงมี 2 กลุ่มด้วยกัน คือ

- อาหารที่มีรสเค็ม
- อาหารที่มีโซเดียมแฝง เช่น อาหารที่มีส่วนผสมของผงฟู เช่น ซาลาเปา เค้ก ขนมปัง

จึงมีคำแนะนำว่าไม่ควรทานโซเดียมเกิน 2,000 มก./วัน

ตัวอย่างปริมาณโซเดียมในอาหารแต่ละชนิด

ส้มตำ 1 จาน = โซเดียม 2,000 มก.
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 ห่อ = โซเดียม 1,500 มก.
น้ำผัด น้ำแกง 1 ช้อนโต๊ะ = โซเดียม 400 มก.

2. อาหารกลุ่มแป้ง ของหวาน เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล

เมื่อร่างกายได้รับแป้งและน้ำตาลมากเกินไป ร่างกายจะเก็บสะสมในรูปของไกลโคเจน เป็นแหล่งพลังงานสะสมของร่างกายจากสารอาหารคาร์โบไฮเดรต โดยไกลโคเจน 1 กรัม มีน้ำเป็นส่วนประกอบ 3-4 กรัม

เมื่อเรารับประทานอาหารที่มีน้ำตาลแฝงอยู่ จะทำให้เกิดการหลั่งของฮอร์โมนอินซูลินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกาย เมื่ออินซูลินหลั่งมากเกินไป ร่างกายจะดึงโซเดียมและน้ำบริเวณท่อไตกลับเข้าสู่ร่างกาย จึงเกิดการกักเก็บน้ำภายในร่างกายที่มากเกินไป ส่งผลให้เกิดภาวะตัวบวมขึ้น

คำแนะนำในการรับประทานอาหารเพื่อเลี่ยงภาวะตัวบวม
ไม่ควรรับประทานอาหารในกลุ่มนี้เกิน 3 โควตา/1 มื้อ

ข้าว/แป้ง 1 ทัพพี = 1 โควตา
ขนมหวาน 1 ถ้วย = 2 โควตา
เครื่องดื่ม 1 แก้ว = 3 โควตา

 

เตือน 3 กลุ่มอาหารเสี่ยงภาวะตัวบวม อย่าชะล่าใจว่าเป็นเรื่องปกติ

 

3. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์ เหล้า ไวน์ มีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ เมื่อร่างกายสูญเสียน้ำมากเกินไป ร่างกายจะตอบสนองด้วยการกักเก็บน้ำ ทำให้เกิดภาวะตัวบวมได้ โดยเฉพาะเบียร์ที่มีทั้งส่วนผสมของแอลกอฮอล์และน้ำตาล ยิ่งส่งผลให้เกิดการกักเก็บน้ำของร่างกายมากเกินไป สังเกตได้ว่าคนที่ดื่มเบียร์ในปริมาณมากมักจะมีอาการตัวบวม

ภาวะตัวบวมที่ควรระวัง
หากร่างกายเกิดภาวะตัวบวมที่ไม่ได้มีสาเหตุจากอาหาร เช่น หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย นอนราบไม่ได้ เบื่ออาหารร่วมกับภาวะตัวบวม ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรค

แม้ภาวะตัวบวมจะเกิดขึ้นได้จากพฤติกรรมการรับประทานอาหารของเรา แต่หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยลดปริมาณอาหารกลุ่มเสี่ยงลง และหมั่นสังเกตภาวะตัวบวมที่เกิดร่วมกับอาการอื่น ๆ เพียงเท่านี้ก็จะลดโอกาสเกิดภาวะตัวบวมที่ส่งผลความมั่นใจ หรือส่งผลสุขภาพในระยะยาวของเราได้

ข้อมูลโดย

ดร.วนะพร ทองโฉม นักวิชาการโภชนาการ งานสร้างเสริมสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล

 

ขอบคุณ Mahidol Channel