"นกกะลิงเขียดหางหนาม" พบแห่งเดียวในประเทศไทย
พระเอกแห่งผืนป่าแก่งกระจาน “นกกะลิงเขียดหางหนาม” พบแห่งเดียวในประเทศไทย ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี
กลุ่มป่าแก่งกระจานผืนป่ามรดกโลกที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งพรรณไม้ และสัตว์ป่า และยังเป็นแหล่งดูนกอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ที่มีนกอาศัยอยู่รวมกันทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพกว่า 400 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 53 ชนิด และผีเสื้อป่าอีกกว่า 300 ชนิด อีกหนึ่งจุดเด่นคือการค้นพบ “นกกะลิงเขียดหางหนาม” ในผืนป่าแก่งกระจานที่เดียวในประเทศไทย ผืนป่าแก่งกระจาน นอกจากจะเป็นพื้นที่มรดกโลกที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และสัตว์ป่าหลากหลายชนิดแล้ว ยังเปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่เพียงหลังเดียวของนกกะลิงเขียดหางหนามอีกด้วย
นกกะลิงเขียดหางหนาม (Temnurus temnurus) จัดเป็นนกในวงศ์อีกา ที่มีลักษณะสวยงามเด่นชัด มีขนดำสนิทตลอดตัว เป็นนกขนาดกลาง แต่มีจุดเด่นอยู่ที่หาง ซึ่งมีรูปร่างยาวเป็นแฉกหยักฟันเลื่อยเหมือนกับขั้นบันไดบนขอบหางทั้งสองด้าน ได้มีการสำรวจพบนกชนิดใหม่ครั้งแรกในประเทศไทยที่ผืนป่าแก่งกระจาน เมื่อปีพ.ศ. 2533 โดยคุณพินิจ แสงแก้ว นักดูนกประเทศไทยมานานกว่า 6 ปี ซึ่งถือเป็นนกชนิดใหม่ของไทยและของโลก พบได้เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ที่ผืนป่าแก่งกระจานเท่านั้น และยังคงอาศัยอยู่ในผืนป่าแก่งกระจานมาจนถึงปัจจุบัน
ฤดูกาลที่เหมาะสมกับการชมนกที่แก่งกระจาน จะเริ่มต้นตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายน เนื่องจากมีสภาพอากาศที่แจ่มใส ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการดูนก ตั้งแต่เวลา 07.00 – 10.00 น. และ 15.00-17.00 น. จุดชมนกเริ่มตั้งแต่ขอบอ่างเก็บน้ำ เรื่อยไปตามถนนสายน้ำตกทอทิพย์ ระยะทางประมาณ 36 กิโลเมตร
ขอบคุณ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช , สมาคมอนุรักษ์นก Bird Conservation Society of Thailand (BCST)
ภาพ : หนังสือที่สุดอุทยานแห่งชาติในประเทศไทย สำนักอุทยานแห่งชาติ