เกษตรยั่งยืน

heading-เกษตรยั่งยืน

แนะนำการปลูกข้าวโพดหลังทำนา ตั้งแต่เตรียมดินถึงการเก็บเกี่ยว

01 ก.พ. 2566 | 18:01 น.
แนะนำการปลูกข้าวโพดหลังทำนา ตั้งแต่เตรียมดินถึงการเก็บเกี่ยว

ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ได้เปิดเผยถึง การทำงานทุกขั้นตอนในการทำแปลงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หลังทำนาในช่วงฤดูแล้ง

     ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ได้เปิดเผยถึงการทำงานทุกขั้นตอนในแปลงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในฤดูแล้ง หลังนา ตั้งแต่สัปดาห์แรกเริ่มจากการเตรียมดิน  การปลูก การปฏิบัติดูแลรักษา ซึ่งประกอบด้วย การใส่ปุ๋ย การให้น้ำ การกำจัดศัตรูพืช ไปจนกระทั่งการเก็บเกี่ยว ตลอดจนข้อควรระวัง ข้อสังเกตต่างๆ ในแต่ละระยะ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติแก่เกษตรกรในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

แนะนำการปลูกข้าวโพดหลังทำนา ตั้งแต่เตรียมดินถึงการเก็บเกี่ยว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

heading-ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สัปดาห์ที่ 1

การเตรียมพื้นที่ปลูก

       เตรียมดินทันทีหลังการเก็บเกี่ยวข้าวเมื่อดินมีความชื้นเหมาะสม ประมาณเดือนพฤศจิกายน ถึงธันวาคม โดยไถดะด้วยผาลเจ็ด หรือรถไถเดินตาม จากนั้นพรวนด้วยโรตารี 1-2 ครั้ง เพื่อเก็บความชื้นและย่อยดินให้ร่วนซุย

       ระหว่างการไถเตรียมดิน ปรับพื้นที่ให้ลาดเอียงเพื่อสะดวกในการส่งน้ำและระบายน้ำ ทำร่องน้ำรอบและผ่านแปลงนาให้ขนานกับแถวข้าวโพด

 

ข้อควรระวัง

  • ข้าวโพดชอบดินที่โปร่งและระบายน้ำดี สภาพแปลงนาก่อนปลูกข้าวโพด ดินอัดตัวแน่นและระบายน้ำยาก เป็นผลมาจากการเตรียมดินสำหรับการทำนา
  • หลีกเลี่ยงดินเหนียวจัดซึ่งมีการระบายน้ำไม่ดี หากจำเป็นต้องปลูก ต้องมีการควบคุมการให้น้ำอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันปัญหาต้นข้าวโพดเน่า

ข้อสังเกต

  • หากความชื้นในดินเหมาะสม หลังจากการไถจะแตกร่วน หากดินมีความชื้นมากเกินไป ดินจะจับเป็นแผ่นหรือก้อนขนาดใหญ่
  • หากมีเศษฟางและตอซังข้าวหนา อาจเป็นอุปสรรคในการใช้เครื่องหยอดเมล็ด เกษตรกรควรหมักฟางข้าวให้เปื่อยในระหว่างการเตรียมดินโดยใช้โรตารีตีหมกฟางคลุกลงดิน แล้วสูบน้ำใส่ให้ท่วมหมักทิ้งไว้ 1สัปดาห์ แล้วไขน้ำออก ตากดินไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ จนดินหมาด แล้วเตรียมดินตามปกติ
  • วิธีการเตรียมดินอาจขึ้นกับสภาพพื้นที่ หรือ ชนิดดิน

แนะนำการปลูกข้าวโพดหลังทำนา ตั้งแต่เตรียมดินถึงการเก็บเกี่ยว

สัปดาห์ที่ 2 การเลือกใช้พันธุ์

     ควรเลือกใช้พันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสม เช่น พันธุ์นครสวรรค์ 3 นครสวรรค์ 5 ของภาครัฐ  รวมทั้งพันธุ์ของภาคเอกชน  ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีศักยภาพในการให้ผลผลิตสูงเมื่อปลูกในสภาพนา ทั้งนี้การปลูกสภาพดังกล่าวมีการใช้ปัจจัยการผลิตต่างๆ ค่อนข้างสมบูรณ์ เช่น ปุ๋ย และน้ำชลประทาน ลักษณะพันธุ์ข้าวโพดที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่นา คือ มีลำต้นและระบบรากแข็งแรง ไม่หักล้มง่าย ทนทานต่อน้ำท่วมขัง  นอกจากนี้เมล็ดพันธุ์ควรมีความงอกมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์และมีความแข็งแรงสูง

การตรวจสอบความอุดมสมบูรณ์ของดิน

     ควรเก็บตัวอย่างดินเพื่อตรวจสอบสมบัติของดิน ซึ่งอาจจะส่งวิเคราะห์ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ ศูนย์วิจัยและศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร รวมทั้งสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตต่างๆ  หรืออาจจะใช้ชุดตรวจสอบดิน สำหรับตรวจสอบความอุดมสมบูรณ์ของดินเพื่อกำหนดอัตราการใส่ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดิน

ข้อควรระวัง

  • การปลูกข้าวโพดหลังนาอาศัยความชื้นในดินที่หลงเหลืออยู่หลังเก็บเกี่ยวข้าวซึ่งดินมีความชื้นค่อนข้างจำกัด หากใช้เมล็ดพันธุ์คุณภาพต่ำ ความงอกไม่ดี อาจทำให้ต้องปลูกใหม่ ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น
  • เมล็ดพันธุ์การค้าที่จำหน่าย โดยปกติมีการคลุกเมล็ดด้วยสารป้องกันกำจัดโรคราน้ำค้างเรียบร้อยแล้ว หากมีเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ได้คลุกแต่แนบซองบรรจุสารเคมีมาพร้อมเมล็ดพันธุ์ เกษตรกรต้องคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารเคมีที่แนบมา ตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

ข้อสังเกต

  • ควรทำแปลงทดสอบพันธุ์ในพื้นที่ปลูกเพื่อหาพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงในพื้นที่นั้น
  • การปลูกและการใส่ปุ๋ยรองพื้นพร้อมปลูก
  • ปลูกเมื่อมีความชื้นในดินเหมาะสม เพียงพอต่อการงอกของเมล็ด

1.ปลูกด้วยเครื่องจักรกลการเกษตร 

     ใช้รถแทรกเตอร์ลากจูงเครื่องปลูกและใส่ปุ๋ย ปรับให้มีระยะระหว่างแถว 70-75  เซนติเมตร ระยะระหว่างหลุม  20  เซนติเมตร จำนวน  1 ต้นต่อหลุม  หรือ อัตราปลูกประมาณ  10,600-11,400 ต้นต่อไร่  ใช้เมล็ด  3-4  กิโลกรัมต่อไร่

 

2.ปลูกด้วยแรงงานคน

      ใช้ระยะระหว่างแถว  70-75  เซนติเมตร  ระยะระหว่างหลุม  20 เซนติเมตร อัตราปลูกประมาณ  10,600-11,400 ต้นต่อไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ 3-4  กิโลกรัมต่อไร่  โดยใช้จอบขุดเป็นหลุม  หรือรถไถเดินตาม  หรือแทรกเตอร์ติดหัวเปิดร่อง

การใส่ปุ๋ยรองพื้นพร้อมปลูก 

โดยหว่านปุ๋ยแล้วพรวนกลบ หรือ ใช้เครื่องหยอดพร้อมปลูก

ดินเหนียวสีดำ ใส่ปุ๋ย  15-15-15 อัตรา  40  กิโลกรัมต่อไร่ 

ดินเหนียวสีแดงหรือดินร่วนเหนียว ใส่ปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่

ดินร่วนทราย  ใส่ปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 60  กิโลกรัมต่อไร่ และปุ๋ยอินทรีย์ 500-1,000 กก./ไร่ 

ข้อควรระวัง

  • ไม่ควรให้น้ำหลังการปลูกทันที อาจเป็นปัญหาต่อการงอก ดินอัดแน่น เมล็ดไม่สามารถงอกได้ ทำให้เมล็ดเน่าเสียหาย
  • หากปลูกช่วงที่มีอุณหภูมิค่อนข้างต่ำ เมล็ดอาจงอกช้า
  • การปลูกล่าช้า หลังเดือนธันวาคมทำให้ระยะออกดอกตรงกับช่วงอุณหภูมิสูง อาจทำให้ช่อดอกและไหมแห้ง ผสมไม่ติด ทำให้เมล็ดติดไม่เต็มฝัก
  • เลือกจานหยอดของเครื่องหยอดเมล็ดให้มีความเหมาะสมกับขนาดของเมล็ดพันธุ์ ตามคำแนะนำที่ระบุมากับเมล็ดพันธุ์

ข้อสังเกต

การปลูกสามารถทำได้ทั้งแบบปลูกบนพื้นราบและยกร่อง ซึ่งการปลูกแบบยกร่องจะสะดวกในการให้น้ำ และข้าวโพดยังได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอ   แต่มีต้นทุนการเตรียมดินที่สูงกว่าปลูกบนพื้นราบ

แนะนำการปลูกข้าวโพดหลังทำนา ตั้งแต่เตรียมดินถึงการเก็บเกี่ยว

การควบคุมวัชพืช

    พ่นสารกำจัดวัชพืชทันทีหลังปลูก ใช้สารกำจัดวัชพืชอะลาคลอร์ 48 % ชนิดน้ำ อัตรา 125-150 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 80 ลิตรต่อไร่ หรือ อาทราซีน 80% ชนิดผง อัตรา 100-150 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 80 ลิตรต่อไร่ พ่นคลุมดินหลังปลูก ก่อนข้าวโพดและวัชพืชงอก ขณะพ่นดินต้องมีความชื้น

 

สัปดาห์ที่ 3-4 (7-20 วัน หลังปลูก)

 การเฝ้าระวังการระบาดของโรคและแมลง อาทิเช่น  โรคราน้ำค้าง หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด หนอนกระทู้หอม และเพลี้ยไฟ 

 

ข้อสังเกต

     หากช่วงปลูกมีอุณหภูมิค่อนข้างต่ำ ต้นอ่อนชะงักการเจริญเติบโต อาจแสดงอาการใบสีม่วงคล้ายการขาดธาตุฟอสฟอรัส อาการจะคลายเป็นปกติเมื่อข้าวโพดเจริญเติบโต หรืออุณหภูมิสูงขึ้น

 

สัปดาห์ที่ 5 (21-30 วัน หลังปลูก)

การกำจัดวัชพืชระหว่างแถวข้าวโพด การใส่ปุ๋ยแต่งหน้าครั้งที่ 1 และพูนโคนต้นข้าวโพด

เมื่อข้าวโพดอายุ 20-25 วัน ทำการกำจัดวัชพืชระหว่างแถวปลูก และใส่ปุ๋ยไนโตรเจนอีกครั้งโดยโรยข้างแถวแล้วพรวนดินแถกร่องกลบด้วยแรงงานหรือเครื่องจักรกล ควรดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนการให้น้ำครั้งแรก

 

ดินเหนียวสีดำ  ใส่ปุ๋ย  21-0-0 อัตรา 30  กิโลกรัมต่อไร่  หรือปุ๋ย  46-0-0 อัตรา 15 กิโลกรัมต่อไร่ 

ดินเหนียวสีแดงหรือดินร่วนเหนียว  ใส่ปุ๋ย 46-0-0  อัตรา 15 กิโลกรัมต่อไร่ 

ดินร่วนทราย  ใส่ปุ๋ย  46-0-0  อัตรา  20  กิโลกรัมต่อไร่

การให้น้ำชลประทาน

      ควรให้น้ำครั้งแรกหลังจากพรวนดินแถกร่อง เมื่อต้นข้าวโพดอายุได้ประมาณ 20-25 วัน ตลอดฤดูปลูกข้าวโพดควรได้รับน้ำอย่างน้อย 4 ครั้ง พิจารณาจากความชื้นดิน หรือ อาการเหี่ยวของใบข้าวโพด

– ครั้งที่ 1 เมื่อข้าวโพดอายุ 20-25 วัน

– ครั้งที่ 2 เมื่อข้าวโพดอายุ 40-45 วัน

– ครั้งที่ 3 เมื่อข้าวโพดอายุ 60-65 วัน

– ครั้งที่ 4 เมื่อข้าวโพดอายุ 80 วัน

ข้อควรระวัง

    ข้าวโพดเป็นพืชที่ไม่ชอบน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะในระยะแรกของการเจริญเติบโต ซึ่งตายอดยังมาโผล่พ้นดิน อาจทำให้ต้นกล้าเน่าตายได้

ข้อสังเกต

  •  อาจสังเกตจากอาการเหี่ยวชั่วคราวของใบข้าวโพดในช่วงบ่ายในการตัดสินใจให้น้ำในแต่ละครั้ง
  •  อาการเหี่ยวชั่วคราวเนื่องจากเริ่มขาดน้ำ ช่วงบ่ายใบจะเริ่มห่อ (leaf rolling)
  • เฝ้าระวังการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด
  • เมื่อมีการระบาด พ่นสารป้องกันกำจัดแมลงตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร เน้นพ่นสารลงยอด

 

สัปดาห์ที่ 6-8 (31-45 วัน หลังปลูก)

การให้น้ำและใส่ปุ๋ยแต่งหน้าครั้งที่ 2     

    ใส่ปุ๋ยไนโตรเจน (46-0-0) ครั้งที่ 2  อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่  เมื่อข้าวโพดอายุ 40-45 วัน โดยโรยข้างแถวข้าวโพดหลังจากให้น้ำ หรือก่อนให้น้ำ จะทำให้ต้นข้าวโพดสมบูรณ์และเตรียมพร้อมสำหรับการออกดอก

พันธุ์ข้าวโพดโดยทั่วไปที่ปลูกในฤดูแล้งหลังนา มีอายุวันออกดอก 50% ประมาณ 60-65 วัน หลังจากปลูก  ซึ่งระยะที่ข้าวโพดเริ่มออกดอกและออกไหม เป็นระยะที่ต้องการน้ำที่เพียงพอ ดังนั้นควรให้น้ำอีกครั้งในช่วงข้าวโพดออกดอกอายุประมาณ 60-65 วัน

ข้อควรระวัง

    ระวังอย่าให้ข้าวโพดขาดน้ำช่วงออกดอก  ซึ่งจะกระทบต่อการให้ผลผลิต

ข้อสังเกต

    ในการให้น้ำ อาจสังเกตจากอาการเหี่ยวชั่วคราวของใบข้าวโพดในช่วงบ่าย

เฝ้าระวังการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด

     เมื่อพบการระบาดรุนแรง  พ่นสารป้องกันกำจัดแมลงตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร เน้นพ่นสารลงยอด เพื่อลดปริมาณหนอนที่จะเข้าทำลายในระยะติดฝัก

 

สัปดาห์ที่ 9-12 (46-70 วัน หลังปลูก)

เฝ้าระวังการระบาดของโรคและแมลง

เพลี้ยอ่อน

มักจะเกาะเป็นกลุ่ม ใช้ปากดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆ ของต้นข้าวโพด ระยะที่ข้าวโพดกำลังมีช่อเกสรตัวผู้ เป็นระยะที่ข้าวโพดได้รับความกระทบกระเทือนมากที่สุด เมื่อพบเพลี้ยอ่อนมากกว่า 25 % ของพื้นที่ใบทั้งต้น โดยเฉพาะระยะที่แทงช่อดอกตัวผู้ พ่นด้วย คาร์บาริล (85% ดับบลิวพี) อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด

ทำความเสียหายโดยการเจาะเข้าไปภายในลำต้นข้าวโพดหรือฝัก ทำให้ต้นหักล้มง่าย เมื่อพบใบยอดที่ยังไม่คลี่ถูกทำลาย 40-50 เปอร์เซ็นต์ หรือ เมื่อพบรูทำลายที่ลำต้น 3 รูต่อต้น (หรือพบหนอน 2 ตัวต่อต้น) ในระยะข้าวโพดอายุประมาณ 30-40 วัน จึงใช้สารฆ่าแมลงป้องกันกำจัด เช่น ฟิโปรนิล (5% เอสซี) 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร  หรือ คลอแรนทรานิลิโพรล (5.17 % เอสซี) อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร 

โรคต้นเน่าจากเชื้อรา (อาการเน่าแห้ง) และโรคต้นเน่าจากเชื้อแบคทีเรีย (อาการเน่าเปียกฉ่ำน้ำลำต้นยุ่ยมีกลิ่นเหม็น)

การป้องกันกำจัดเตรียมแปลงให้มีการระบายน้ำดี ใส่ปุ๋ยอินทรีย์บำรุงดิน ไม่ใส่ปุ๋ยไนโตรเจนปริมาณสูง หลีกเลี่ยงการปลูกแน่น เก็บต้นเป็นโรคไปทำลายนอกแปลงปลูก

 

ข้อสังเกต

  • ความเสียหายที่เกิดจากหนอนเจาะลำต้นข้าวโพด ไม่รุนแรงอาจจะไม่มีความจำเป็นต้องป้องกันกำจัดด้วยสารเคมี
  • ศัตรูธรรมชาติ เช่น แมลงหางหนีบแตนเบียน ช่วยลดการระบาดของหนอนเจาะลำต้นได้
  • ด้วงเต่า และแมลงหางหนีบช่วยลดปริมาณเพลี้ยอ่อนในธรรมชาติได้

 

สัปดาห์ที่ 13-18 (71-112 วัน หลังปลูก)

การให้น้ำระยะสร้างเมล็ดและสะสมน้ำหนักเมล็ด

ให้น้ำครั้งที่ 4 เมื่อข้าวโพดอายุประมาณ 75-80 วัน อย่างพอเพียง เนื่องจากเป็นช่วงที่ต้องการธาตุอาหารและน้ำในการสร้างผลผลิต

ข้าวโพดจะมีการสุกแก่ทางสรีรวิทยาโดยทั่วไปประมาณ 45 วัน หลังออกไหม ซึ่งเป็นระยะที่ข้าวโพดหยุดการเจริญเติบโต มีการสะสมน้ำหนักแห้งสูงสุด

สังเกตได้จากส่วนโคนเมล็ดจะมีเนื้อเยื่อสีดำ เรียกว่า black layer เกิดขึ้น ทำให้การส่งผ่านธาตุอาหารจากส่วนต่าง ๆ ของต้นข้าวโพดสู่เมล็ดสิ้นสุดลง หลังจากนั้นความชื้นภายในเมล็ดจะเริ่มลดลงเรื่อยๆ จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของอากาศและความชื้นสัมพัทธ์

ข้อควรระวัง

  • ไม่ควรให้น้ำอีกเมื่อข้าวโพดถึงระยะการสุกแก่ทางสรีรวิทยา  เนื่องจากไม่ช่วยเพิ่มผลผลิต และยังมีผลให้ความชื้นในฝักลดลงช้า
  • มักจะมีพายุฤดูร้อนทำให้เกิดปัญหาการหักล้ม

ข้อสังเกต

  • ข้าวโพดกำลังสร้างเมล็ดอย่างเต็มที่ หากดินขาดโพแทสเซียมจะแสดงอาการลำต้นหักบริเวณต่ำกว่าฝักลงมาจนถึงโคนต้น ดังนั้นควรตรวจสอบความอุดมสมบูรณ์ดินก่อนปลูกข้าวโพดด้วย

สัปดาห์ที่ 19 (115-120 วัน หลังปลูก)

การเก็บเกี่ยว

การเก็บเกี่ยวด้วยแรงงาน

  ใช้ไม้หรือเหล็กแหลมแทงปลายฝักปอกเปลือก แล้วหักฝักข้าวโพดใส่กระสอบ นำไปเทกองรวมไว้ในยุ้งฉาง

 

การเก็บเกี่ยวด้วยเครื่องจักรกล

   – ใช้เครื่องเก็บเกี่ยวแบบปลิดฝักต่อพ่วงกับรถแทรกเตอร์ขนาด 60-80 แรงม้า เครื่องจะปลิดและรูดเปลือกหุ้มฝักข้าวโพดออก บรรจุกระสอบโดยอัตโนมัติ

– ใช้เครื่องเก็บเกี่ยวแบบเกี่ยวนวดอัตโนมัติ เครื่องจะเก็บรูดฝักข้าวโพด กะเทาะ และทำความสะอาด คัดแยกเมล็ดดีเก็บในถังจนเต็ม นำใส่รถบรรทุกส่งขายพ่อค้า

 

ข้อควรระวัง

    1. เก็บเกี่ยวเมื่อข้าวโพดแก่จัด   หรือแห้งหมดทั้งแปลงแล้ว 7 วัน  เมล็ดจะมีความชื้นประมาณ  23 เปอร์เซ็นต์

    2. ไม่ควรเก็บเกี่ยวข้าวโพดหลังฝนตก  เพราะเมล็ดจะมีความชื้นสูง ควรปล่อยให้ฝักและต้นข้าวโพดแห้งก่อน

ข้อสังเกต

– ข้าวโพดที่ฝักแก่จัดและแห้งสนิท ต้นและใบจะเปลี่ยนเป็นสีฟางข้าวทั้งแปลง มีความชื้นประมาณ 20-25%

– ถ้าต้องการใช้พื้นที่ปลูกพืชอื่นตามข้าวโพด ควรเก็บเกี่ยวเมื่อใบข้าวโพดเปลี่ยนเป็นสีฟางข้าว  80-90 % เมล็ดจะมีความสมบูรณ์แล้ว

– เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 120 วันหลังปลูก สำหรับการปลูกในฤดูแล้ง

สนับสนุนโดย : ปุ๋ยมงกุฎ

แนะนำการปลูกข้าวโพดหลังทำนา ตั้งแต่เตรียมดินถึงการเก็บเกี่ยว

ข่าวเด่น

เอส แอนด์ พี ต้อนรับเทศกาลแห่งความสุขจัดงาน “S&P SWEET HAPPINESS 2025”

เอส แอนด์ พี ต้อนรับเทศกาลแห่งความสุขจัดงาน “S&P SWEET HAPPINESS 2025”

"เบ๊น อาปาเช่" ซัดชาวเน็ตแซะ "มิกซ์" ลูกชายหม่ำ ดังเพราะบารมีพ่อ

"เบ๊น อาปาเช่" ซัดชาวเน็ตแซะ "มิกซ์" ลูกชายหม่ำ ดังเพราะบารมีพ่อ

"ทนายธรรมราช" เผยคำใบ้ "ทนายคนใหม่" ของทนายตั้ม

"ทนายธรรมราช" เผยคำใบ้ "ทนายคนใหม่" ของทนายตั้ม

ศาลไม่ให้ประกันตัว ภรรยา และ ลูกสาวหมอบุญ นำตัวกลับเข้าเรือนจำตามเดิม

ศาลไม่ให้ประกันตัว ภรรยา และ ลูกสาวหมอบุญ นำตัวกลับเข้าเรือนจำตามเดิม

แม่น้ำหนึ่งให้เลขเด็ดมาแรง งวดนี้ 1/12/67 คอหวยห้ามพลาด

แม่น้ำหนึ่งให้เลขเด็ดมาแรง งวดนี้ 1/12/67 คอหวยห้ามพลาด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

heading-ข่าวที่เกี่ยวข้อง