อ้อยคั้นน้ำ ให้ผลผลิตสูง มีความหวานมาก และต้านทานโรค
อ้อยคั้นน้ำพันธุ์ กวก. สุพรรณบุรี 1 เป็นโคลนอ้อยให้ผลผลิตสูง มีความหวานมาก และต้านทานโรคได้ ซึ้งได้รับรองเมื่อ 12 ก.ค. 2565
อ้อยคั้นน้ำพันธุ์ กวก. สุพรรณบุรี 1 เป็นโคลนอ้อยที่ได้จากการผสมเปิด (open cross) ของอ้อยคั้นน้ำพันธุ์สุพรรณบุรี 50 ในปี 2547 และคัดเลือกครั้งที่ 1 ในปี 2548 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี แล้วนำเข้าประเมินผลผลิตตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ดังนี้ การเปรียบเทียบเบื้องต้น การเปรียบเทียบมาตรฐาน การเปรียบเทียบในท้องถิ่น และการเปรียบเทียบในไร่เกษตรกร โดยใช้พันธุ์สุพรรณบุรี 50 เป็นพันธุ์เปรียบเทียบ ทดสอบคุณภาพน้ำอ้อย ได้แก่ สีน้ำอ้อย รสชาติ และกลิ่นหอม โดยผู้ชิมกึ่งชำนาญ (semi-skilled tester) และศึกษาข้อมูลจำเพาะของพันธุ์ ได้แก่ ความต้านทานต่อโรคเหี่ยวเน่าแดง โรคแส้ดำ การเข้าทำลายของหนอนกออ้อย การตอบสนองต่อปุ๋ยเคมีของอ้อย และการศึกษาอายุเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมของอ้อย ระหว่างปี 2554-2564 รวมทั้งประเมินการยอมรับของเกษตรกร ระหว่างปี 2562-2564
ลักษณะประจำพันธุ์ ทรงกอมีลักษณะปานกลาง การติดของกาบใบกับลำต้นหลวมปานกลาง ยอดอ้อยมีสีเขียว ปล้องมีความยาวและเส้นผ่านศูนย์กลางปล้อง ปานกลาง (11.8 และ 2.99 เซนติเมตร ตามลำดับ) ลักษณะปล้องเป็นแบบโคนโต การเรียงตัวของปล้องค่อนข้างตรงและมีไขที่ปล้องมาก สีปล้องเมื่อต้องแสงมีสีเขียวเหลือบเหลือง และเมื่อไม่ต้องแสงมีสีเหลืองเหลือบเขียว ไม่มีร่องเหนือตา และรอยแตกของปล้อง ลักษณะของวงเจริญมีความเรียบเท่ากับปล้อง และเมื่อต้องแสงมีสีเหลืองเหลือบเขียว การเรียงตัวของจุดกำเนิดรากไม่เป็นระเบียบ จุดกำเนิดรากเมื่อไม่ต้องแสงมีสีเขียวเหลือบเหลือง วงรากกว้างปานกลาง มีวงไข ตามีลักษณะสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน นูนปานกลาง ยอดตาอยู่ต่ำกว่าวงเจริญ ใบมีลักษณะโค้งปานกลาง ใบมีความกว้างมาก (6.5 เซนติเมตร) และมีขนมาก ลิ้นใบมีแถบตรงกลางพองออกปลายเรียวแหลมทั้ง 2 ข้าง หูใบขอบด้านนอกและด้านในมีลักษณะขอบตรง คอใบเป็นแบบสามเหลี่ยมฐานเว้าขอบบนเรียบและสีเขียว กาบใบไม่มีขน
พื้นที่แนะนำ แนะนำให้ปลูกอ้อยคั้นน้ำโคลน UTj10-3 ในพื้นที่ดินร่วน ร่วนเหนียว เขตชลประทาน และมีน้ำเสริมในภาคกลางและภาคตะวันตก ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี ราชบุรี ปทุมธานี และกาญจนบุรี
ข้อควรระวัง/ข้อจำกัด
ลักษณะทรงกอค่อนข้างแผ่ ควรมีการพูนโคนอ้อยหลังปลูก และระมัดระวังอ้อยหักล้มเมื่อมีลมแรง
ลักษณะเด่น
1. ให้ผลผลิตน้ำอ้อยเฉลี่ย 3,622 ลิตรต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์สุพรรณบุรี 50 ร้อยละ 26
2. ให้ผลผลิตอ้อยเฉลี่ย 11.43 ตันต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์สุพรรณบุรี 50 ร้อยละ 21
3. รสชาติน้ำอ้อย มีความหวาน 21.54 องศาบริกซ์ มากกว่าพันธุ์สุพรรณบุรี 50 ร้อยละ 2
4. สีน้ำอ้อยมีสีเหลืองอมเขียว (green yellow 1C) เช่นเดียวกับพันธุ์สุพรรณบุรี 50
5. ต้านทานปานกลางต่อโรคเหี่ยวเน่าแดงและโรคแส้ดำ
สนับสนุนโดย : ปุ๋ยทิพย์