เผย 4 ลักษณะเด่น อ้อยพันธุ์อู่ทอง 84-11
เผย 4 ลักษณะเด่น อ้อยพันธุ์อู่ทอง 84-11 หรืออ้อยโคลน 02-2-226 ที่ได้จากผสมพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี
อ้อยพันธุ์อู่ทอง 84-11 หรืออ้อยโคลน 02-2-226 เป็นคู่ผสมของพันธุ์แม่ 93-2-085 กับพันธุ์พ่อ 92-2-065 ผสมพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี ในปี 2545 ได้ลูกอ้อย 223 ต้น ปี 2546-2547 ทำการคัดเลือกครั้งที่ 1-2 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี ปี 2548-2549 เปรียบเทียบเบื้องต้นพันธุ์อ้อย มีอ้อยทดลอง 42 โคลน มีพันธุ์ K 84-200 และอู่ทอง 3 เป็นพันธุ์เปรียบเทียบที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี ปี 2549-2551 เปรียบเทียบมาตรฐานพันธุ์อ้อย มีอ้อยทดลอง 16 โคลน มีพันธุ์ K 84-200 และอู่ทอง 3 เป็นพันธุ์เปรียบเทียบ ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี ชัยนาท และระยอง ปี 2549-2552 เปรียบเทียบพันธุ์อ้อยในไร่เกษตรกร มีอ้อยทดลอง 8 โคลน มีพันธุ์ K 84-200 และอู่ทอง 3 เป็นพันธุ์เปรียบเทียบ ที่ไร่เกษตรกร อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี อ.ท่ามะกา อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี อ้อยโคลน 02-2-226 ผลผลิตน้ำหนักเฉลี่ย 14.64 ตัน/ไร่ มีความหวานเฉลี่ย 13.45 ซีซีเอส และผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย 1.97 ตันซีซีเอส/ไร่ ขณะที่พันธุ์ K 84-200 ผลผลิตน้ำหนักเฉลี่ย 12.51 ตัน/ไร่ มีความหวานเฉลี่ย 13.41 ซีซีเอส และผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย 1.68 ตันซีซีเอส/ไร่ สำหรับพันธุ์อู่ทอง 3 ผลผลิตน้ำหนักเฉลี่ย 10.83 ตัน/ไร่ ความหวานเฉลี่ย 13.98 ซีซีเอส และผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย 1.52 ตันซีซีเอส/ไร่
ลักษณะประจำพันธุ์
ลักษณะทรงกอตั้งตรง การติดของกาบใบกับลำต้นหลวม จำนวนหน่อต่อกอ (หลังงอก อายุ 4 เดือน) ปานกลาง (6-12 หน่อ) ยอดอ้อยสีเขียว ลักษณะปล้องกลางโค้ง ความยาวน้อยกว่า 10 ซม. และมีเส้นผ่าศูนย์กลางปล้อง 5.2-3.0 ซม. ปล้องตัดขวางรูปไข่ การเรียงต่อของปล้องตรง มีไขที่ปล้อง สีปล้องเมื่อต้องแสงสีม่วง สีปล้องเมื่อไม่ต้องแสงสีเขียวเหลือบเหลือง ไม่มีร่องเหนือตา ความกว้างของวงราก 0.8-1.3 ซม. มีวงไข ตานูนมาก ไม่มีขนตา ลักษณะของทรงใบชัน-ตรง ใบกว้าง 4-6 ซม. ลักษณะของลิ้นใบเป็นแถบตรงกลางพองออก ปลายเรียวแหลม ทั้ง 2 ข้าง ลักษณะหูใบขอบด้านนอกเป็นใบหอกยาว หูใบขอบด้านในเป็นขอบตรง คอใบสามเหลี่ยมชายธง ไม่มีขนที่กาบใบ ลำต้นสูง 229 ซม. ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางลำ 2.81 ซม. จำนวนลำต่อกอ 5.78 จำนวนปล้องต่อลำ 22
พื้นที่แนะนำ
ควรปลูก อ้อยพันธุ์อู่ทอง 84-11 หรืออ้อยโคลน 02-2-226 ในเขตชลประทานหรือเขตที่มีน้ำเสริม
ลักษณะเด่น
1. ในเขตชลประทานให้ผลผลิตน้ำหนักเฉลี่ย 18.24 ตัน/ไร่ สูงกว่าพันธุ์ K 84-200 (14.02 ตัน/ไร่) ร้อยละ 30 สูงกว่าพันธุ์อู่ทอง 3 (11.57 ตัน/ไร่) ร้อยละ 58 ซึ่งเฉลี่ยจากผลผลิตน้ำหนักอ้อยปลูก 19.76 ตัน/ไร่ อ้อยตอ 1 17.75 ตัน/ไร่ อ้อยตอ 2 16.86 ตัน/ไร่ และให้ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย 2.67 ตันซีซีเอส/ไร่ สูงกว่าพันธุ์ K 84-200 (2.05 ตันซีซีเอส/ไร่) ร้อยละ 30 สูงกว่าพันธุ์อู่ทอง 3 (1.68 ตันซีซีเอส/ไร่) ร้อยละ 59 และความหวาน 14.66 ซีซีเอส ขณะที่พันธุ์ K 84-200 และอู่ทอง 3 ความหวาน 14.66 และ 14.60 ซีซีเอส ตามลำดับ 2. ในเขตที่มีน้ำเสริม ให้ผลผลิตน้ำหนักเฉลี่ย 13.25 ตัน/ไร่ สูงกว่าพันธุ์ K 84-200 (11.49 ตัน/ไร่) ร้อยละ 15 สูงกว่าพันธุ์อู่ทอง 3 (10.14 ตัน/ไร่) ร้อยละ 31 ซึ่งเฉลี่ยจากผลผลิตน้ำหนักอ้อยปลูก 15.34 ตัน/ไร่อ้อยตอ 1 12.16 ตัน/ไร่ อ้อยตอ 2 12.24 ตัน/ไร่ และให้ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย 1.75 ตันซีซีเอส/ไร่ สูงกว่าพันธุ์ K 84-200 (1.48 ตันซีซีเอส/ไร่) ร้อยละ 18 สูงกว่าพันธุ์อู่ทอง 3 (1.41 ตันซีซีเอส/ไร่) ร้อยละ 24 และความหวาน 13.21 ซีซีเอส ขณะที่พันธุ์ K 84-200 และอู่ทอง 3 ความหวาน 12.86 และ 13.59 ซีซีเอส ตามลำดับ
3. ต้านทานโรคเหี่ยวเน่าแดงปานกลาง
4. ต้านทานโรคแส้ดำปานกลาง
สนับสนุนโดย : ปุ๋ยทิพย์