กรมส่งเสริมการเกษตร หนุนชาวสวนทุเรียนใช้ภูมิปัญญา-เทคโนโลยีจัดการสวน
กรมส่งเสริมการเกษตรหนุนชาวสวนทุเรียนใช้ภูมิปัญญา-เทคโนโลยีจัดการสวนจนคว้ามาตรฐานGAP-GI พร้อมใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาดั้งเดิมเข้าช่วยในการบริหารจัดการสวน
นายประหยัด ไชยสิงห์ เกษตรอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี กล่าวถึงแนวทางการส่งเสริมกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าว่า กรมส่งเสริมการเกษตร โดยเกษตรอำเภอบางกรวย และเกษตรจังหวัดนนทบุรี ได้แนะนำให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาดั้งเดิมเข้าช่วยในการบริหารจัดการสวน ประกอบด้วย
1. เครื่องวัดค่าน้ำเค็ม เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเค็มจากแม่น้ำเจ้าพระยาไหลเข้าสวนมากเกินไป ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อต้นทุเรียนได้ โดยเกษตรกรได้ตอบรับต่อเครื่องวัดค่าน้ำเค็มเป็นอย่างดี เพราะสมาชิก และอาสาสมัครเกษตร มีการส่งค่าวัดในแต่ละวันเข้าไลน์กลุ่ม ทำให้สมาชิกได้รับรู้ระดับความเค็มของน้ำในช่วงนั้น เพื่อวางแผนบริหารจัดการนำน้ำเข้าสวนได้อย่างถูกต้อง แตกต่างจากสมัยก่อนที่นิยมเปิดน้ำเข้าสวนโดยตรง ทำให้ต้นทุเรียนได้รับความเค็มเกินค่ามาตรฐาน กระทบต่อการเจริญเติบโตของทุเรียน และพืชอื่น ๆ จำนวนมาก
2. การให้น้ำด้วยระบบสปริงเกอร์ และตั้งเวลาเปิด ปิด ทำให้ง่ายต่อการบริหารจัดการน้ำให้ทั่วถึง ลดเวลา และการใช้แรงงานคน ปัจจุบันชาวสวนส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ การให้น้ำแบบเดิม ไม่ว่าจะเป็นการตักน้ำรด หรือใช้สายยางฉีดรด ไม่ได้รับความนิยมอีกแล้วเพราะเหน็ดเหนื่อย เมื่อกรมส่งเสริมการเกษตร ได้เข้าไปแนะนำให้ชาวสวนใช้ระบบสปริงเกอร์ ที่มีทามเมอร์ตั้งเวลาเปิดปิด จึงได้รับการตอบรับจากเกษตรกรเป็นอย่างดี
3.การใช้สารชีวภัณฑ์ (ผลิตภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ผลิตหรือพัฒนาจากสิ่งมีชีวิต) เพื่อป้องกันแมลงศัตรูพืช หรือเชื้อราต่าง ๆ เช่น สารไตรโคเดอร์ม่า ป้องกันโรครากเน่า หรือ โคนเน่า โดยเจ้าหน้าที่ได้นำหัวเชื้อมาแจกจ่าย และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกษตรกรสามารถขยายเชื้อได้เองเพื่อลดต้นทุนการผลิต ไม่ต้องใช้สารเคมีเหมือนเมื่อก่อน เพื่อให้สินค้าหรือผลผลิตปลอดภัยอย่างแท้จริง ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่หันมาใช้สารชีวภัณฑ์กันจำนวนมาก
4.การปลูกต้นทองหลางเป็นพืชพี่เลี้ยง ซึ่งเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในอำเภอบางกรวย เกือบทั้งหมด ใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมจากบรรพบุรุษในการช่วยทุเรียน หรือ พืชอื่น ๆ เจริญเติบโตได้ดี ด้วยการปลูกต้นทองหลางในแปลงทุเรียนและพืชอื่น ๆ เพื่อให้พืชได้พึ่งพาอาศัยและเกื้อกูลกันตามธรรมชาติ โดยเมื่อเศษใบและดอกของต้นทองหลางร่วงหล่นลงร่องสวน จะเกิดการทับถมกันจนเป็นธาตุอาหาร และรากของต้นทองหลางชอนไชไปตามพื้นดิน
ทำให้เพิ่มไนโตรเจนและออกซิเจนในดินจนต้นทุเรียนเจริญเติบโตได้ดีแม้สภาพดินส่วนใหญ่จะเป็นดินเหนียวก็ตาม โดยเฉพาะสวนคุณแผ่นดิน ได้สืบทอดภูมิปัญญานี้มาตั้งแต่การเริ่มทำสวน ปัจจุบันกลายเป็นสวนผสมผสาน มีพืชและผลไม้หลายสายพันธุ์จำนวนมากที่พึ่งพาอาศัยกัน