ขับรถยนต์ลงเขายังไงให้ปลอดภัย แค่ทำตามนี้!
เข้าสู่ช่วงฤดูฝนแบบนี้ การขับรถขึ้นเขา-ลงเขาอาจเป็นเรื่องยากสำหรับคนขับรถหลายคน โดยเฉพาะมือใหม่หัดขับหรือผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับการขับรถบนทางลาดชัน เพราะต้องใช้ทักษะในการขับขี่หลายอย่างไปพร้อมๆกัน ดังต่อไปนี้
ขับรถยนต์ลงเขายังไงให้ปลอดภัย แค่ทำตามนี้!
ขับรถลงเขาแล้วเบรกแตกเกิดจากอะไร?
การขับรถลงเขาจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประคองความเร็วให้เหมาะสมอยู่ตลอดเวลา เพราะรถจะไหลตามความชันของเส้นทาง ยิ่งทางชันมากเท่าไหร่ รถยิ่งไหลเร็วขึ้นเท่านั้น หากเป็นผู้ขับขี่ที่ไม่มีความชำนาญก็จะคอยประคองเบรกเพียงอย่างเดียว เมื่อผ้าเบรกเสียดสีกับจานเบรกต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดความร้อนสะสมสูงขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดเมื่อความร้อนสูงเกินกว่าระดับที่ผ้าเบรกจะรับไหว ก็จะทำให้เบรกไม่อยู่ หรือเรียกเป็นภาษาชาวบ้านง่ายๆ ว่า เบรกแตก เบรกจม เบรกหาย หรืออีกสารพัดที่จะนำมาเรียกกัน
หากว่าผู้ขับขี่กำลังประสบปัญหาเบรกแตกอยู่ล่ะก็ จะไม่สามารถชะลอความเร็วได้แม้ว่าจะเหยียบเบรกเต็มกำลังอยู่ก็ตาม และยิ่งถ้าหากอยู่ในช่วงลงเขา ความเร็วก็จะค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นจนเกินกว่าที่จะควบคุมรถได้ จนในที่สุดก็จะกลายเป็นอุบัติเหตุตามมา
ขับรถลงเขาอย่างไรไม่ให้เบรกแตก
สิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการขับรถลงเขา คือ การใช้ตำแหน่งเกียร์ที่เหมาะสมเพื่อสร้างแรงเบรกจากเครื่องยนต์ หรือ Engine Brake เพื่อลดภาระการทำงานของระบบเบรก ช่วยป้องกันไม่ให้เบรกร้อนจนเกินขีดจำกัด โดยสามารถปฏิบัติได้ง่ายๆ ดังนี้
รถเกียร์ธรรมดา: ให้ใช้ตำแหน่งเกียร์ต่ำ เช่น เกียร์ 1 หรือเกียร์ 2 ขึ้นอยู่กับความเร็วของตัวรถในขณะนั้น
รถเกียร์อัตโนมัติ: ให้ใช้ตำแหน่งเกียร์ต่ำ เช่น เกียร์ L หรือเกียร์ 2 ขึ้นอยู่กับความเร็วของตัวรถ รถบางรุ่นที่มีตำแหน่ง + และ - ให้ผลักคันเกียร์ไปยังตำแหน่งลบ เพื่อประคองเกียร์ให้อยู่ในตำแหน่งที่ต้องการ
รถไฮบริด: ใช้ตำแหน่งเกียร์ B
ในระหว่างที่ใช้เกียร์ต่ำจะสังเกตได้ว่า รอบเครื่องยนต์จะพุ่งสูงขึ้นมากกว่าปกติ ซึ่งถือเป็นอาการปกติสำหรับการสร้างเอนจิ้นเบรก โดยระหว่างนี้เครื่องยนต์จะหยุดการฉีดจ่ายน้ำมัน และใช้การหมุนของล้อเป็นตัวขับเคลื่อนเครื่องยนต์แทน จึงไม่ต้องกังวลว่ารถจะกินน้ำมันมากกว่าปกติแต่อย่างใด
หมายเหตุ: สำคัญว่าการขับรถลงเขาห้ามใส่เกียร์ N หรือเกียร์ว่างโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้รถไม่มีแรงหน่วงจากเครื่องยนต์เลย ส่งผลให้รถไหลลงเนินด้วยความเร็วสูง เพิ่มความเสี่ยงต่ออาการเบรกแตกจนเกิดเป็นอันตรายต่อรถยนต์และตัวของคุณเองได้