ใช้รถต้องรู้! ซื้อขายรถแบบ "โอนลอย" คืออะไร มีข้อดี - ข้อเสีย อย่างไรบ้าง?
โอนรถแบบ “โอนลอย” โดยเฉพาะรถมอเตอร์ไซค์เรามักจะได้ยินคำว่า โอนลอย กันบ่อยครั้งมากๆ ซึ่งเป็นวิธีที่ สะดวก ง่าย รวดเร็ว จึงทำให้การซื้อขายแบบโอนลอย เป็นที่นิยมในปัจจุบัน
ใช้รถต้องรู้! ซื้อขายรถแบบ "โอนลอย" คืออะไร มีข้อดี - ข้อเสีย อย่างไรบ้าง?
โอนลอยรถ คือ
การโอนทั่วไปหลังจากการซื้อขายเพื่อเปลี่ยนเจ้าของ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ รถมอเตอร์ไซต์ รถบรรทุก หรืออสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ การโอนกรรมสิทธิ์ซื้อขายจะสมบูรณ์ได้ เมื่อผู้ซื้อหรือผู้ขายไปจดทะเบียนผู้ครอบครองใหม่ยังสำนักงานขนส่ง
แต่สำหรับการโอนลอย เป็นการเซ็นสัญญาการโอนของผู้ขาย แต่ยังไม่มีการกรอกชื่อผู้รับโอน หรือหากกรอกชื่อผู้รับโอนแล้ว แต่ยังไม่ได้ไปทำการโอนให้เรียบร้อยที่กรมขนส่งทางบก
ข้อดีของการโอนลอย
- ทำการซื้อขายรถได้เร็วขึ้นหากผ่านคนกลางสำหรับคนที่ต้องการขายรถต่อไปยังเต็นท์รถมือสองหรือฝากขาย ทางคนที่รับไปขายต่อไม่จำเป็นต้องเซ็นรับโอน เพราะรถต้องนำไปขายให้กับเจ้าของใหม่ โดยเมื่อทำการขายได้แล้วจึงนำใบโอนลอยไปให้คนซื้อคนใหม่เซ็นในส่วนผู้รับโอนภายหลังการโอนลอยในกรณีนี้ช่วยคนกลางหรือเต็นท์รถมือสองที่รับรถไปขาย ไม่ต้องเสียเวลาไปทำการโอนที่กรมขนส่งหลายรอบ ซึ่งจะทำให้เสียค่าใช้จ่ายหลายต่อ
เมื่อผู้ซื้อรถต่อเซ็นรับโอนแล้ว สามารถนำเอกสารการโอนลอยนี้ไปทำเรื่องโอนที่กรมขนส่ง โดยผู้ที่ไปทำเรื่องโอนจะเป็นใครก็ได้แต่ต้อง นำหนังสือมอบอำนาจการโอน จากเจ้าของรถเดิมไปด้วย
- เจ้าของรถไม่ต้องเสียเวลาเดินเรื่องเอง
ในอีกกรณีหนึ่ง ถ้าผู้เป็นเจ้าของรถเป็นผู้ขายต่อเองโดยไม่ผ่านคนกลาง ก็สามารถเซ็นโอนลอย เพื่อให้เจ้าของรถคันใหม่เป็นผู้ดำเนินเรื่อง การโอนเอง ช่วยให้เจ้าของรถไม่ต้องไปทำเรื่องโอนกรรมสิทธิ์รถที่กรมขนส่งด้วยตัวเอง โดยให้ทำการเซ็นหนังสือมอบอำนาจ เพื่อให้ เจ้าของรถคันใหม่ไปทำเรื่องเอง
ข้อควรระวังการโอนลอย
ถ้าคุณกำลังจะขายรถ แล้วต้องการทำโอนลอยเพื่อความสะดวกในการโอน สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือเรื่องเอกสารที่ต้องทำอย่างรัดกุม โดยจะต้อง
- กรอกวันที่และสัญญาทั้งหมดให้ครบถ้วน
- สำเนาบัตรประชาชน เซ็นสำเนาถูกต้อง กำกับชื่อ พร้อมขีดคร่อม “ใช้เพื่อดำเนินการเกี่ยวข้องกับรถยนต์หมายเลขทะเบียน xxxx เท่านั้น”
- ในสัญญาซื้อขายให้ระบุว่ายังไม่ได้ทำการโอนกรรมสิทธิ์อย่างถูกต้อง
- ในสัญญาซื้อขายควรมีพยานเซ็นด้วย
ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากโอนลอย
เมื่อทำการโอนลอย ถ้าหากยังไม่ได้ไปทำการโอนกรรมสิทธิ์ที่สำนักงานขนส่งให้เรียบร้อย เมื่อรถที่ขายไปเกิดปัญหาหรือนำไปกระทำความผิด เช่น
- ถูกใบสั่งจราจร
- มีคดีเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุบนท้องถนน
- นำไปก่อเหตุอาชญากรรม
- นำไปขายต่อแบบผิดกฎหมาย
เจ้าของรถเดิมที่มีชื่อตามเล่มทะเบียนรถ จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น เนื่องจากยังถือว่าเป็นเจ้าของรถคันดังกล่าวอยู่
ดังนั้น เอกสารการซื้อขายควรมี 2 ฉบับเก็บไว้ทั้งทางผู้ซื้อและผู้ขาย โดยควรขอสำเนาบัตรประชาชนของผู้ซื้อเอาไว้ด้วย เพราะเมื่อเกิดคดีความก่อนที่จะมีการโอนอย่างถูกต้อง เจ้าของรถคนเดิมสามารถนำเอกสารเหล่านี้มายืนยันได้ว่ามีการขายไปแล้ว
การโอนลอยรถต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง?
หากคุณต้องการทำโอนลอย เอกสารที่ต้องใช้มีดังนี้
- หนังสือสัญญาซื้อขาย
- เล่มทะเบียนรถตัวจริง
- สำเนาบัตรประชาชน พร้อมลายเซ็นถูกต้องของเจ้าของรถคนล่าสุด
- สำเนาบัตรประชาชน พร้อมลายเซ็นถูกต้องของผู้ซื้อ (ในกรณีที่เจ้าของรถขายต่อกับผู้ซื้อโดยตรง)
- สำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมลายเซ็นถูกต้องของเจ้าของรถคนล่าสุด
- แบบคำขอโอนและรับโอนจากกรมขนส่งทางบก พร้อมลายเซ็นถูกต้องของเจ้าของรถคนล่าสุด
- หนังสือมอบอำนาจจากกรมขนส่งทางบก พร้อมลายเซ็นถูกต้องของเจ้าของรถคนล่าสุด (ในกรณีที่เจ้าของรถไม่ได้ไปทำเรื่องโอนที่กรมขนส่งเอง สามารถให้บุคคลอื่นหรือบุคคลที่ซื้อรถต่อไปทำเรื่องโอนแทนได้)