คำสอนพระพุทธเจ้า เงินทองเหมือนดั่งอสรพิษ
เงินทองเหมือนดั่งอสรพิษ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่เปรียบเงินทองเหมือนอสรพิษ และ ห้ามพระภิกษุรับเงิน จับต้องเงิน และมีโทษเป็น อาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
คำสอนพระพุทธเจ้า เงินทองเหมือนดั่งอสรพิษ วันนี้ทีมข่าว ไทยนิวส์ออนไลน์ ขอยกตัวอย่าง “คำสอนของพระพุทธเจ้า” ซึ่งเป็นเหตุการณ์ใน พระสุตตันตปิฎก (พระสูตร) คัมภีร์ขุททกนิกาย เรื่องชาวนา เราอาจจะเคยทราบกันอยู่แล้วว่า พระภิกษุสงฆ์ มีข้อห้ามชัดเจนที่ต้องถือและปฏิบัติก็คือ เรื่องเงินทอง ห้ามรับปัจจัย ให้แก่ท่าน เพราะหากท่านรับไปแล้ว จะทำให้ท่านต้องอาบัติได้
เรื่องนี้มีปรากฎใน พระไตรปิฎก อยู่ว่า...
พระพุทธเจ้าเปรียบเงินทอง เหมือนดั่งอสรพิษสำหรับภิกษุ ซึ่งปรากฏในคำภีร์ อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท พาลวรรคที่ 5 ความว่า.....
เช้าวันหนึ่งในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้เสด็จออกบิณฑบาตรโปรดสัตว์ ไปพร้อมด้วยพระอานนท์ พระองค์เสด็จผ่านชาวนาทีกำลังไถนาอยู่ ชาวนาพักการไถนาแล้วถวายบังคม พระพุทธองค์ทอดพระเนตรเห็นถุงเงิน ตกอยู่ไม่ไกลจากชาวนาจึงตรัสกับพระอานนท์ว่า
“อานนท์ นั่นอสรพิษ เธอเห็นไหม”
พระอานนท์ ตอบ “เห็น พระเจ้าข้า อสรพิษร้าย”
ชาวนาได้ยินพระพุทธดำรัส ที่ตรัสกับพระอานนท์ คิดว่ามีงูอยู่แถวนี้ ต้องฆ่าให้ได้ ทิ้งไว้จะทำอันตรายตน ว่าแล้วเราก็ถือปฏักไป สอดส่ายตามองหางู แต่ไม่เห็นมีงู ดูไป เห็นแต่ถุงเงินมากมาย เขาดีใจ รีบโกยดินกลบไว้ แล้วไถนาต่อไป
ถุงเงินนั้น ที่แท้โจรปล้นมาแล้วทำตกไว้ เจ้าของเงินเสียดาย เกณฑ์บ่าวไพร่ออกติดตาม สะกดรอยตามรอยเท้าชาวนา พาไปจนพบถุงเงิน จึดคิดว่าชาวนานี่แหละคือเจ้าโจรตัวดี จึงรีบจับไปส่งเจ้าหน้าที่ ทำตามกฎหมายเคร่งครัด ชี้โทษชัดให้ประหารชีวิต
ก่อนจะนำไปประหาร ชาวนาพร่ำพรรณาอยู่หลายหนว่า
“อานนท์ เธอเห็นอสรพิษไหม…เห็นพระเจ้าข้า”
“อานนท์ เธอเห็นอสรพิษไหม…เห็นพระเจ้าข้า”
เจ้าหน้าที่มีความประหลาดใจไต่ถาม “ทำไมเจ้าออกนามพุทธอนุชา อสรพิษนั่นล่ะ อยู่ไหน”
ชาวนาเล่าแจ้งแถลงไข อ้างพระพุทธเจ้าให้เป็นพยาน เจ้าหน้าที่จึงงดการประหารไว้ พาชาวนาไปเฝ้าพระราชา
พระราชาจึงไปกราบทูลพระพุทธองค์ว่าชาวนาอ้างพระพุทธองค์เป็นพยาน พระพุทธองค์จึงทรงเล่าเรื่องราวให้ฟัง ชาวนาจึงพ้นจากความตายโดยอาศัยพระกรุณา
อ้างอิงจาก :
8. เรื่องชาวนา [52]
ข้อความเบื้องต้น
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภชาวนาคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า “น ตํ กมฺมํ กตํ สาธุ” เป็นต้น.
โจรเข้าลักทรัพย์ในตระกูลมั่งคั่ง
ได้ยินว่า ชาวนานั้นไถนาแห่งหนึ่งอยู่ในที่ไม่ไกลจากกรุงสาวัตถี. พวกโจรเข้าไปสู่พระนครโดยท่อน้ำ ทำลายอุโมงค์ในตระกูลมั่งคั่งตระกูลหนึ่ง เข้าไปถือเอาเงินและทองเป็นอันมากแล้วก็ออกไปโดยทางท่อน้ำนั่นเอง โจรคนหนึ่งลวงโจรเหล่านั้น กระทำถุงที่บรรจุทรัพย์พันหนึ่งถุงหนึ่งไว้ที่เกลียวผ้าแล้วไปถึงนานั้น แบ่งภัณฑะกับโจรทั้งหลายเหล่านั้นแล้ว ถือพาเดินไปอยู่ ไม่ได้กำหนดถึงถุงบรรจุทรัพย์พันหนึ่งที่ตกลงจากเกลียวผ้า.
พระศาสดาทรงเล็งเห็นอุปนิสัยของชาวนา
ในวันนั้น เวลาใกล้รุ่ง พระศาสดาทรงตรวจดูสัตวโลก ทรงเห็นชาวนานั้นผู้เข้าไปในภายในข่าย คือพระญาณของพระองค์ แล้วทรงใคร่ครวญอยู่ว่า “เหตุอะไรหนอแล? จักมี” ได้ทรงเห็นเหตุนี้ว่า “ชาวนาคนนี้จักไปเพื่อไถนาแต่เช้าตรู่, แม้พวกเจ้าของภัณฑะไปตามรอยเท้าของโจรทั้งหลายแล้ว เห็นถุงที่บรรจุทรัพย์พันหนึ่งในนาของชาวนานั้น แล้วก็จักจับชาวนานั่น, เว้นเราเสีย คนอื่นชื่อว่าผู้เป็นพยานของชาวนานั้นจักไม่มี, แม้อุปนิสัยแห่งโสดาปัตติมรรคของชาวนานั้นก็มีอยู่, เราไปในที่นั้น ย่อมควร.”
ฝ่ายชาวนานั้นไปเพื่อไถนาแต่เช้าตรู่.
พระศาสดามีพระอานนทเถระเป็นปัจฉาสมณะ ได้เสด็จไปในที่นั้นแล้ว. ชาวนาเห็นพระศาสดาแล้ว ไปถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วเริ่มไถนาอีก. พระศาสดา ไม่ตรัสอะไรๆ กับเขา เสด็จไปยังที่ๆ ถุงบรรจุทรัพย์พันหนึ่งตก ทอดพระเนตรเห็นถุงนั้นแล้ว จึงตรัสกะพระอานนทเถระว่า “อานนท์ เธอเห็นไหม อสรพิษ.”
พระอานนทเถระทูลว่า “เห็น พระเจ้าข้า อสรพิษร้าย.”
ชาวนาได้ยินถ้อยคำนั้นคิดว่า “ที่นี้เป็นที่เที่ยวไปในเวลาหรือมิใช่เวลาแห่งเรา, ได้ยินว่า อสรพิษมีอยู่ในที่นั่น” เมื่อพระศาสดาตรัสคำมีประมาณเท่านั้นหลีกไปแล้ว, จึงถือเอาด้ามปฏักเดินไปด้วยตั้งใจว่า “จักฆ่าอสรพิษนั้น” เห็นถุงบรรจุทรัพย์พันหนึ่ง แล้วคิดว่า “คำนั้น จักเป็นคำอันพระศาสดาตรัสหมายเอาถุงบรรจุทรัพย์พันหนึ่งนี้” จึงถือถุงบรรจุทรัพย์พันหนึ่งนั้นกลับไป เพราะความที่ตนเป็นคนไม่ฉลาด จึงซ่อนมันไว้ในที่สมควรแห่งหนึ่ง กลบด้วยฝุ่นแล้ว เริ่มจะไถนาอีก.
ชาวนาถูกจับไปประหารชีวิต
แม้พวกมนุษย์ เมื่อราตรีสว่างแล้ว เห็นกรรมอันพวกโจรกระทำในเรือน จึงเดินตามรอยเท้าไป ถึงนานั้นแล้ว เห็นที่ๆ พวกโจรแบ่งภัณฑะกันในนานั้น ได้เห็นรอยเท้าของชาวนาแล้ว. มนุษย์เหล่านั้นไปตามแนวรอยเท้าของชาวนานั้น เห็นที่แห่งถุงทรัพย์ที่ชาวนาเก็บเอาไว้ คุ้ยฝุ่นออกแล้ว ถือเอาถุงทรัพย์ คุกคามว่า “แกปล้นเรือนแล้ว เทียวไปราวกับไถนาอยู่” โบยด้วยท่อนไม้ นำไปแสดงแก่พระราชาแล้ว.
พระราชาทรงสดับความเป็นไปนั้นแล้ว จึงรับสั่งให้ประหารชีวิตชาวนานั้น. พวกราชบุรุษมัดชาวนานั้นให้มีแขนไพล่หลัง เฆี่ยนด้วยหวาย นำไปสู่ตะแลงแกงแล้ว.
ชาวนานั้นถูกราชบุรุษเฆี่ยนด้วยหวาย ไม่กล่าวคำอะไรๆ อื่น กล่าวอยู่ว่า
เห็นไหม อานนท์ อสรพิษ,
เห็น พระเจ้าข้า อสรพิษร้าย.
เดินไปอยู่.
ครั้งนั้น พวกราชบุรุษถามเขาว่า “แกกล่าวถ้อยคำของพระศาสดาและพระอานนทเถระเท่านั้น, นี่ชื่ออะไร?” เมื่อชาวนาตอบว่า “เราเมื่อได้เฝ้าพระราชาจึงจักบอก” จึงนำไปสู่สำนักของพระราชา กราบทูลความเป็นไปนั้นแด่พระราชาแล้ว.
ชาวนาพ้นโทษเพราะอ้างพระศาสดาเป็นพยาน
ลำดับนั้น พระราชาตรัสถามชาวนานั้นว่า “เพราะเหตุไร เจ้าจึงกล่าวดังนั้น?” แม้ชาวนานั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์ไม่ใช่โจร” แล้วก็กราบทูลเรื่องนั้นทั้งหมดแด่พระราชา จำเดิมแต่กาลที่ตนออกไปเพื่อต้องการจะไถนา.
พระราชาทรงสดับถ้อยคำของชาวนานั้นแล้ว ตรัสว่า “พนาย ชาวนานี้อ้างเอาพระศาสดาผู้เป็นบุคคลเลิศในโลกเป็นพยาน, เราจะยกโทษแก่ชาวนานี่ยังไม่สมควร, เราจักรู้สิ่งที่ควรกระทำในเรื่องนี้” ดังนี้แล้ว ทรงพาชาวนานั้นไปยังสำนักของพระศาสดาในเวลาเย็น
ทูลถามพระศาสดาว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์ได้เสด็จไปสู่ที่ไถนาของชาวนานั้น กับพระอานนทเถระแลหรือ?”
พระศาสดา. ขอถวายพระพร มหาบพิตร.
พระราชา. พระองค์ทอดพระเนตรเห็นอะไรในนานั้น?
พระศาสดา. ถุงทรัพย์พันหนึ่ง มหาบพิตร.
พระราชา. ทอดพระเนตรเห็นแล้วได้ตรัสคำอะไร?
พระศาสดา. คำชื่อนี้ มหาบพิตร.
พระราชา. พระเจ้าข้า ถ้าบุรุษนี้จักไม่ได้กระทำการอ้างบุคคลผู้เช่นกับด้วยพระองค์แล้วไซร้ เขาจักไม่ได้ชีวิต แต่เขากล่าวคำที่พระองค์ตรัสแล้ว จึงได้ชีวิต.
และยังมีเรื่องปรากฎในพระวินัยปิฎก ที่พระพุทธเจ้าห้ามภิกษุรับเงินทองไว้ โดยความย่อดังนี้
พระอุปนันทศากยบุตรซึ่งเป็นภิกษุ ท่านเข้าไปฉันที่บ้านแห่งหนึ่งที่เขาถวายอาหารท่านอยู่เป็นประจำ วันหนึ่งเนื้อที่ตั้งใจจะถวายมีเด็กมาขอ ก็เลยให้เด็กกินไป ไม่มีถวายแก่พระอุปนันทะ เจ้าของบ้านก็เลยเสนอให้เงินมูลค่า 1 กหาปณะ แทนมูลค่าเนื้อ พระอุปนันทะรับเงิน ความรู้ถึงพระพุทธองค์ ทรงติเตียนพระอุปนันทะอย่างรุนแรง มีใจความดังนี้
“ดูก่อนโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั้น ไม่เหมาะไม่สมควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ไม่ควรทำ ไฉนเธอจึงได้รับเงินและทอง การกระทำของเธอนั้น ไม่เป็นเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว”
พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามไว้ว่า
“อนึ่งภิกษุใด รับเองก็ดี ให้คนอื่นรับไว้ให้ก็ดี ซึ่งทองและเงิน หรือ ยินดีทองและเงินที่เขาเก็บไว้ให้ ต้องอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์”