8 วิธีรักษา "ออฟฟิศซินโดรม" โรคยอดฮิตของคนวัยทำงาน
หลายคนอาจกำลังตกอยู่ในภาวะออฟฟิศซินโดรม ที่มีอาการปวดต้นคอ บ่า ไหล่ หลัง หรือปวดร้าวศีรษะ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการนั่งทำงานท่าเดิมนาน ๆ หรือนั่งไม่ถูกวิธี
อาการของออฟฟิศซินโดรม
. ปวด ตึง หรือเมื่อยล้ากล้ามเนื้อเฉพาะส่วน เช่น ต้นคอ บ่า ไหล่ หลัง สะบัก
. อาจมีอาการปวดร้าวไปบริเวณใกล้เคียงร่วมด้วย หรือปวดร้าวลงขาได้
. ปวดร้าวขึ้นศีรษะ ตาพร่ามัว หูอื้อ ปวดกระบอกตา
. นอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิท
. มีอาการนิ้วล็อค
. อาการที่เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับ เช่น เหน็บชา มือชา นิ้วชา แขนชา แขนขาอ่อนแรง
8 วิธีรักษา “ออฟฟิศซินโดรม”
1. ไม่ควรนั่งอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ
หากเริ่มรู้สึกปวดเมื่อย ควรพักการทำงานเพื่อผ่อนคลายร่างกายและสมอง อย่างการลุกขึ้นยืดเส้นยืดสาย เดินไปสูดอากาศด้านนอกบ้าง ไม่ควรนั่งทำงานติดกันนานเกินไป
2. นั่งทำงานในท่าที่ถูกต้อง
การนั่งทำงาน ไม่ควรนั่งหลังค่อมหรือนั่งเอนหลัง เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อเกิดการล้าและเสียบุคลิก ควรจะนั่งหลังตรง ซึ่งไม่เพียงช่วยลดอาการปวดหลัง แต่ยังทำให้สุขภาพหมอนรองกระดูกดีขึ้น ป้องกันโรคข้อ บรรเทาอาการปวดศีรษะ ทำให้การไหลเวียนของออกซิเจนดี และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยอาหารได้อีกด้วย
3. ไม่ควรเพ่งหน้าจอคอมนาน ๆ
กล้ามเนื้อร่างกายยังต้องการพักผ่อน สายตาเองก็เช่นกัน จึงไม่ควรเพ่งจอคอมนานหรือใกล้จนเกินไป ควรพักสายตาทุก ๆ 1 ชั่วโมง เพราะหากเราเพ่งสายตากับจอคอมนานเกินไป อาจส่งผลทำให้ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อตาและปวดศีรษะได้
4. ปรับสภาพแวดล้อมที่ทำงานให้น่าอยู่
บรรยากาศในห้องทำงานไม่ควรแออัดเกินไป มีอากาศถ่ายเทที่ดี ควรใช้โต๊ะและเก้าอี้ที่เหมาะกับสรีระ สำหรับแสงไฟในห้องควรจะมีความเหมาะสม ไม่จ้าหรือสลัวเกินไป จะช่วยถนอมสายตาได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญในห้องทำงานควรหลีกเลี่ยงไม่ให้มีแสงแดดหรือแสงสว่างจากภายนอกส่องเข้ามาในห้องโดยตรง เพราะแสงที่สว่างเกินไปจะก่อให้เกิดแสงสะท้อนที่จอได้ง่าย ทำให้รู้สึก ไม่สบายตาได้
5. ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายเป็นการช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้มีอาการออฟฟิศซินโดรมได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกีฬาที่ช่วยในเรื่องของการยืดเส้นและสร้างความยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ เช่น โยคะ ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อแล้ว ยังป้องกันเอ็นและข้อยึด ช่วยผ่อนคลายความเครียด และสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกายได้อีกด้วย
6. รักษาด้วยการใช้ยา
สำหรับคนที่มีอาการออฟฟิศซินโดรมที่เริ่มรุนแรงขึ้นแล้ว อาจต้องได้รับยาในการรักษา เช่น ยาบรรเทาอาการกล้ามเนื้อและเอ็นอักเสบ ยาคลายเครียด โดยยาเหล่านี้ควรผ่านการพิจารณาและสั่งโดยแพทย์ผู้วินิจฉัยเท่านั้น
7. รักษาด้วยเวชศาสตร์ฟื้นฟู
เป็นการรักษาด้วยการใช้เครื่องมือทางกายภาพ เช่น Ultrasound เครื่องดึงคอ หรือการรักษาด้วยการฝังเข็มแบบตะวันตก และการสอนท่าบริหาร เพื่อการป้องกันและรักษา ในเคสที่เป็นมานานเรื้อรังยังมีการสอนหายใจ เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อร่วมด้วย
8. รักษาด้วย Shock Wave
คลื่นกระแทก (Shock Wave) เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงในการใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดระยะเรื้อรังที่ผ่านการรักษาต่าง ๆ มาแล้วไม่ดีขึ้น เหมาะกับผู้ที่มีอาการออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) อาการปวดข้อศอก เอ็นข้อศอกอักเสบ พังผืดฝ่าเท้าอักเสบ ปวดไหล่ ปวดหลัง ปวดสะโพกร้าวลงขา ปวดฝ่าเท้าเรื้อรัง โรครองช้ำ ปวดเอ็นร้อยหวาย ปวดเข่า บาดเจ็บจากกีฬา เป็นต้น
ขอบคุณ : โรงพยาบาลนครธน