ไก่เหลืองหางขาว สัตว์เลี้ยงคู่กายพระนเรศ
ในประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช น่าจะเคยได้ยินคุ้นหู หรือผ่านสายตา กับ สัตว์เลี้ยงคู่กายอีกหนึ่งชนิดของพระองค์ นั้นก็คือ ไก่ชน “ไก่เหลืองหางขาว”
ไก่เหลืองหางขาว สัตว์เลี้ยงคู่กายพระนเรศ
ไก่เหลืองหางขาว มีถิ่นกำเนิดที่ จ.พิษณุโลก ถูกยกให้เป็นของดีของจังหวัด และเป็นสมบัติของชาติไทย ที่หากใครได้ยินชื่อไก่สายพันธุ์นี้การันตีได้เลยว่าเป็นไก่สายพันธุ์ดี ไก่เหลืองหางขาว ตามประวัติศาสตร์ที่ปรากฏอยู่ในพงศาวดาร เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงพำนักอยู่ในกรุงหงสาวดี ประเทศพม่า ทรงนำไก่เหลืองหางขาวไปจากเมืองพิษณุโลก เพื่อนำไปชนกับไก่ของพระมหาอุปราชาเป็นไก่ชนที่มีลักษณะพิเศษมีความเฉลียวฉลาดในการต่อสู้ จึงชนชนะ จนได้รับสมญานามว่า “เหลืองหางขาว ไก่เจ้าเลี้ยง”
ลักษณะของไก่เหลืองหางขาว
1.อกชัน ยืนยืดอกหรือเชิดอก ด้านท้ายของตัวลาดลงต่ำ แสดงถึงความเป็นไก่นักสู้
2.หวั้นชิด ช่วงหางอยู่ชิด หรือติดกับบั้นท้ายตรงบริเวณเชิงกราน ช่องว่างระหว่างบั้นท้ายกับเชิงกรานแคบ แสดงถึงความอึดและอดทน
3.หงอนบิด หงอนไม่ตรง บิดเอียงไปด้านข้างเล็กน้อย แต่ไม่พับเอียงมากเกินไป
4.ปากร่อง บริเวณจะงอยปากต้องเป็นร่องลึกทั้งสองข้างออกจากรูจมูก แสดงถึงความเข้มแข็ง ไม่หลุดหักง่าย
5.พัดเจ็ด พบบริเวณขน เรียกว่า ขนพัด มีข้างละ 7 เส้น
6.ปีกสิบเอ็ด ขนปีกท่อนนอกมีข้างละ 11 เส้น ช่วยในการบินได้ดี
7.เกล็ดยี่สิบสอง เกล็ดที่นิ้วกลางนับรวมกันได้ 22 เกล็ด จัดเป็นไก่มีสกุล ตีเจ็บ ตีหนักและรุนแรงมาก
8.สี สร้อยเหลือง ทั้งสร้อยคอ สร้อยปีก และสร้อยหลัง ลักษณะสร้อยประบ่า ระย้าประก้น หางยาวเหมือนฟ่อนข้าวกะลวย หางสีขาวยาวโค้งไปด้านหลัง ปลายห้อยตกลงมาสวยงาม หน้าแหลมยาว สร้อยหน้านกยูง
การอนุรักษ์ไก่เหลืองหางขาว
ด้วยความพิเศษ และคุณค่าของไก่เหลืองหางขาว ที่ผูกพันธ์กับคนไทย และชาวพิษณุโลกมาอย่างยาวนาน จึงเกิดแนวทางการอนุรักษ์ไก่เหลืองหางขาวให้คงพันธุ์แท้ไว้ โดยสำนักปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลก จัดตั้งคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานพันธุ์ เมื่อปี 2542 โดยต้องมีมาตรฐานตามนี้
1.สายพันธุ์เหลืองหางขาว เพศผู้ มีน้ำหนักตั้งแต่ 3 กิโลกรัม ขึ้นไป สูงตั้งแต่ 60 เซ็นติเมตร วัดจากใต้ปากล่างตั้งฉากถึงพื้นที่ยืน
2.ส่วนเพศเมีย มีน้ำหนักตั้งแต่ 2 กิโลกรัมขึ้นไป สูงตั้งแต่ 45 เซ็นติเมตรขึ้นไป อายุเมื่อให้ไข่ฟองแรก 198 วัน ผลผลิตไข่/ปี 136 ฟอง