เสือโคร่งบาหลีตัวสุดท้ายของโลก จากไปโดยการกระทำของมนุษย์
ถ้าพูดถึงเสือโคร่ง เราอาจจะคิดถึงความดุร้าย แต่เรื่องเสือโคร่งที่จะนำมาเล่าในวันนี้เป็นเรื่องเศร้าที่เกิดขึ้นกับเสือโคร่งบาหลี ที่ต้องสูญพันธุ์เพราะมนุษย์
ลักษณะเสือโคร่งบาหลี
เสือโคร่งบาหลี (Bali tiger) เสือโคร่งสายพันธุ์ย่อยสายพันธุ์หนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Panthera tigris balica เป็นเสือโคร่ง 1 ใน 3 สายพันธุ์ที่เคยมีอยู่ในอินโดนีเซีย โดยเสือโคร่งบาหลีจะพบได้เฉพาะบนเกาะบาหลีเท่านั้น
เสือโคร่งบาหลีนับเป็นเสือโคร่งที่มีขนาดเล็กที่สุดเท่าที่มีในโลก มีรูปร่างค่อนข้างบอบบางกว่าเสืออื่นๆ เมื่อเทียบกับเสือโคร่งไซบีเรีย (P. t. altaica) ที่เป็นเสือโคร่งขนาดใหญ่ที่สุดแล้ว
เสือโคร่งบาหลีมีขนาดลำตัวเพียงครึ่งหนึ่งของเสือโคร่งไซบีเรียเท่านั้น โดยมีลำตัวไล่เลี่ยกับเสือดาว (P. pardus) หรือเสือพูม่า (Puma concolor) ที่พบในทวีปอเมริกาเหนือ น้ำหนักในตัวผู้โดยเฉลี่ย 90-100 กิโลกรัม ขณะที่ตัวเมียจะอยู่ที่ 65-80 กิโลกรัม ความยาวตั้งแต่หัวจรดหางของตัวผู้ 220 เซนติเมตร ตัวเมีย 195-200 เซนติเมตร
เสือบาหลีมีลักษณะใกล้เคียงกับเสือชวา โดยมีลักษณะของเส้นลายบนลำตัวใกล้เคียงกันมาก นอกจากนี้เสือบาหลียังมีลักษณะหัวกระโหลกแตกต่างจากเสือโคร่งชนิดอื่นๆ ด้วย
ถิ่นอาศัยเสือโคร่งบาหลี
เสือบาหลีอาศัยอยู่บนเกาะบาหลีของประเทศอินโดนีเซีย ตั้งแต่ตอนที่เกาะบาหลีแยกตัวจากเกาะชวาในช่วงท้ายของยุคน้ำแข็ง และเพราะเหตุที่บาหลีเป็นเกาะขนาดเล็ก ทำให้ประชากรเสือมีอยู่ไม่มากนัก และเมื่อจำนวนมนุษย์บนเกาะมีมากขึ้น ที่อยู่ของเสือสายพันธุ์นี้ก็ถูกคุกคามโดยการเกษตรกรรม จนกระทั่งถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ถิ่นที่อยู่ของ เสือบาหลีก็มีหลงเหลืออยู่เฉพาะในเขตภูเขาทางตะวันตกของเกาะเท่านั้น
การล่าเสือได้เริ่มขึ้นเมื่อชาวยุโรปเข้ามาอยู่บนเกาะชวา โดยพรานชาวยุโรปได้เดินทางมาล่าเสือที่บาหลีด้วย ทั้งนี้ในระหว่างสงครามโลกทั้งสองครั้ง ได้มีการล่าเสือจำนวนมาก
และเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองก็แทบจะไม่มีเสือบาหลีเหลืออยู่อีก โดยก่อนหน้านั้นยังคงมี เสือบาหลีกลุ่มเล็กๆ กลุ่มสุดท้ายอาศัยอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะ
และในที่สุดเสือโคร่งบาหลีตัวสุดท้าย ก็ต้องจบชีวิตลง เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ 2480 หรือ ค.ศ. 1937 แถมมันยังเป็นเสือตัวเมียอีกด้วย โดยมันได้ถูกยิงตายที่ ตำบล ซุมบาคิมา ในเขตบาหลีตะวันตก
ในปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั่วโลก มีซากเสือโคร่งบาหลีเพียง 8 ตัวเท่านั้น โดยส่วนใหญ่จะได้มาจากการล่าในทศวรรษที่ 30อย่างไรก็ดียังมีรายงานจากชาวพื้นเมืองว่า มีการพบเห็นเสือบาหลีอยู่บ้าง จนเมื่อย่างเข้าช่วงทศวรรษที่ 1950 แต่ก็ไม่มีใครพบเห็นมันอีก และเป็นที่แน่นอนว่าเสือบาหลีได้สูญพันธ์ไปแล้ว
เสือบาหลีเป็นเสือโคร่งชนิดเเรกที่ได้สูญพันธุ์ไปจากโลกด้วยน้ำมือคน แถมยังน่าเศร้าที่มันไม่ใช่เสือสายพันธุ์สุดท้ายที่สูญพันธุ์ เพราะหลังจากนั้นไม่นาน เสือโคร่งอีกสองชนิดคือ “เสือแคสเปียน” และ “เสือชวา” ก็สูญพันธุ์ตามไปในที่สุดเช่นกัน
ไซเตสจัดเสือโคร่งไว้ในบัญชีหมายเลข 1 ไอยูซีเอ็นจัดเสือโคร่งไว้ในประเภทที่มความเสี่ยงสูงที่จะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ ประเทศที่ห้ามล่าเสือโคร่ง บังกลาเทศ ภูฏาน กัมพูชา จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า เนปาล รัสเซีย ไทย เวียดนาม