เส้นทางสายมู "ตักบาตรโชติกา" วัดเจดีย์หลวง ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์เชียงใหม่
เปิดเส้นทางสายมู "ประเพณีตักบาตรโชติกา" วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่ ไหว้พระขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองล้านนา
การท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ เป็นหนึ่งในแผนการดำเนินงาน “ปีท่องเที่ยวไทย 2566” ของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่สนับสนุนและส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวิถีชาวบ้าน สืบสานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น โดยมุ่งหวังให้เกิดความรักและความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ไทย เพื่อให้แหล่งท่องเที่ยวไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่มีคุณค่า และส่งเสริมอาชีพให้กับคนในท้องถิ่น
เชียงใหม่ เป็นหนึ่งในจังหวัดยอดนิยมของนักท่องเที่ยว ที่นิยมเดินทางมาเที่ยวดื่มด่ำธรรมชาติ และศิลปวัฒนธรรม หนึ่งประเพณีที่ใครมาจังหวัดเชียงใหม่ไม่ควรพลาดเข้าร่วมเป็นอย่างยิ่ง คือ งานประเพณีตักบาตรโชติกา ที่จัดขึ้นทุกเช้าวันเสาร์ เวลา 07.00 น. ภายในวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นการตักบาตรรอบองค์พระเจดีย์หลวง ซึ่งจัดต่อเนื่องทุกสัปดาห์ ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ได้เข้าถึงวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดเชียงใหม่
โดย วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงเก่าแก่ที่อยู่กลางใจเมืองเชียงใหม่ ซึ่งตั้งอยู่บนถนนพระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง ถือว่าเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ ต่างปักหมุดเมื่อมาท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่
วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร มีชื่อเดิมคือ "วัดโชติการาม" จึงนำชื่อเดิมมาตั้งเป็นชื่องานประเพณี "ตักบาตรโชติกา" โดยวัดเจดีย์หลวงสร้างขึ้นในรัชสมัยพญาแสนเมืองมา พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย สันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้น่าจะสร้างในปี พ.ศ. 1934 ถ้านับจนถึงปัจจุบันมีอายุถึง 632 ปี
นอกจากนี้ ในวัดเจดีย์หลวง ยังเป็นที่ประดิษฐานของเสาอินทขิล ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่มาช้านาน ซึ่งมีตำนานเล่าว่าเมื่อสมัยก่อนนั้น บริเวณที่ตั้งของเมืองเชียงใหม่เป็นที่ตั้งเมืองของพวกลัวะ มักจะถูกผีร้ายรบกวนจนเดือดร้อนกันไปทั่วทั้งเมือง
พระอินทร์ทรงเล็งเห็นความเดือดร้อนของพลเมือง ก็เลยช่วยเหลือโดยการบอกให้ชาวเมืองถือศีลรักษาคำสัตย์ บ้านเมืองถึงจะรอดพ้นจากอันตราย ชาวเมืองก็เชื่อฟังและปฏิบัติตาม เมื่อพระอินทร์เห็นว่าชาวเมืองมีความสัตย์ดีแล้วจึงบันดาลให้บ่อเงินบ่อทองและบ่อแก้วขึ้นภายในเมืองและให้ชาวเมืองอธิษฐานเอาตามความปรารถนา
ต่อมาชาวเมืองลัวะ ได้ขอเสาหลักเมืองที่ทำด้วยศิลาแท่งทึบจากพระอินทร์มา เสาหลักเมืองจึงได้ชื่อว่า "เสาอินทขิล" ที่ในปัจจุบันนั้น ตั้งอยู่กึ่งกลางวิหารจตุรมุขศิลปะแบบล้านนา ที่เป็นเสาอิฐก่อปูนติดกระจกสี สูง 2 เมตร โดยมีพระพุทธรูปทองสำริดปางรำพึงอยู่ใกล้ๆ กันด้วย
นอกจากนี้ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลากหลายมากมาย ทั้ง ต้นยาง กุมภัณฑ์ พระฤๅษี หากใครมีโอกาสได้แวะเวียนไปเที่ยวเชียงใหม่ อย่าลืมไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเชียงใหม่
ได้เวลาแล้ว ที่ทุกคนจะต้องออกไปเที่ยว ออกไปหาความสุข ทำให้หัวใจเต้นแรงอีกครั้ง พร้อมกับเจอประสบการณ์ใหม่ๆ มิตรภาพใหม่ๆ รับรองว่าอะดรีนาลีนแห่งความสุขต้องล้นออกมาแน่นอน
โมเมนต์ที่ใช่ สร้างได้ไม่ต้องรอ แล้วโมเมนต์ของเพื่อนๆ เป็นแบบไหนกัน
#โมเมนต์ที่ใช่สร้างได้ไม่ต้องรอ
#ปีท่องเที่ยวไทย2566
#AmazingThailand
#Amazingยิ่งกว่าเดิม
#AmazaingNewChapters
cr.ภาพ :
สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเชียงใหม่ | Chiang Mai Tourism Business Association