ตราครุฑ บนโฉนดที่ดิน แต่ละสีต่างกันอย่างไร
โฉนดที่ดินตราครุฑมีสีอะไรบ้าง โฉนดครุฑแต่ละสีต่างกันอย่างไร ตราครุฑมีสีอะไร และ โฉนดที่ดินตราครุฑมีกี่แบบ รู้ไว้ก่อนไม่โดนโกง
สีครุฑบนโฉนดที่ดิน รู้ไว้ก่อนไม่โดนโกง วันนี้ทีมข่าว Thainews Online มีคำแนะนำเกี่ยวกับการสังเกต สีครุฑ บนโฉนด และ ครุฑแต่ละสีคืออะไร รู้เท่าทัน การซื้อที่ดิน เลือกครุฑแบบไหนไม่โดนโกง ไม่โดนหลอก ไม่ผิดหวัง ภายหลัง ต้องดูบทความนี้ค่ะ ตราครุฑ บนโฉนดที่ดิน แต่ละสีต่างกันอย่างไร
ตราครุฑ คือ
ตราครุฑ คือ ตราแผ่นดินของไทย ตราพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ เทพพาหนะของพระนารายณ์ ใช้เป็นสัญลักษณ์ของพระราชอำนาจแห่งพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของชาติและเป็นองค์อวตารของพระนารายณ์ตามแนวคิดสมมุติเทพ โดยเริ่มใช้มาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่หลัง พ.ศ. 2436 เป็นต้นมา แต่มาใช้อย่างเต็มที่แทนตราแผ่นดินเดิมทั้งหมดเมื่อ พ.ศ. 2453
โฉนดที่ดิน มีกี่แบบ
โฉนดที่ดินทั่วไปสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 แบบ หรือ 4 ประเภทค่ะ โดยจะแบ่งเป็นรายละเอียดดังที่เราจะแนะนำดังนี้ค่ะ
โฉนดที่ดิน ตราครุฑสีแดง
- ครุฑสีแดง บนโฉนดที่ดิน นั้นเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า นส.4 เป็นใบที่ให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินกับเจ้าของอย่างแท้จริงค่ะ มีระวางรูปถ่ายทางอากาศชัดเจน มีหมุดแสดงพื้นที่ชัดเจน ให้กรรมสิทธิ์เจ้าของสามารถทำอะไรบนที่ดินผืนนั้นของตัวเองได้อย่างถูกต้องตามกฏหมายค่ะ
- นส.4 โฉนดที่ดิน เป็นหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน มีระวางภาพถ่ายทางอากาศสามารถระบุขอบเขตได้ชัดเจน สามารถซื้อ ขาย โอน จดจำนองได้ เสียสิทธิได้ หากโดนครอบครองปรปักษ์ 10 ปี
โฉนดที่ดิน ตราครุฑสีเขียว
- ครุฑสีเขียว บนโฉนดที่ดิน นั้นเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า นส.3 ก เป็นเอกสารที่แสดงสิทธิการครอบครองเพื่อทำประโยชน์ในพื้นที่ดินนั้นๆ ได้ มีระวางรูปถ่ายทางอากาศชัดเจนเหมือนกับโฉนดที่ดินสีแดง แต่จะแตกต่างที่เงื่อนไขผู้ครอบครองจะต้องทำให้ที่ดินนั้นเกิดประโยชน์ขึ้น สามารถปล่อยทิ้งว่างได้
- นส.3 ก หนังสือสิทธิรับรองการทำประโยชน์ มีระวางภาพถ่ายทางอากาศ สามารถเปลี่ยนเป็นโฉนดได้ในอนาคต สามารถซื้อ ขาย โอน จดจำนองได้ เสียสิทธิได้ หากโดนผู้อื่นครอบครองเกิน 1 ปี
โฉนดที่ดิน ตราครุฑสีดำ
- ครุฑสีดำ บนโฉนดที่ดิน นั้นเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า นส.3 / นส.3 ข เป็นหนังสือที่แสดงสิทธิการครอบครองเพื่อทำประโยชน์ในพื้นที่ดินนั้นๆ เหมือนกับ นส.3 ก เพียงแต่จะไม่มีระวางรูปถ่ายทางอากาศ ไม่ได้วัดพื้นที่อย่างละเอียด แต่สามารถซื้อ ขาย โอนได้ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ซื้อมักรอให้มั่นใจว่าสามารถออกโฉนดได้ก่อนจึงจะทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน
- นส.3 หนังสือสิทธิรับรองการทำประโยชน์ ไม่มีระวางภาพถ่ายทางอากาศ สามารถเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินได้ในอนาคต สามารถซื้อ ขาย โอนได้ เสียสิทธิได้ หากโดนผู้อื่นครอบครองเกิน 1 ปี
- นส.3 เป็นเอกสารที่นายอำเภอท้องที่เป็นผู้ออกให้
- นส.3 ข เป็นหนังสือที่เจ้าหน้าที่ที่ดินเป็นออกออกให้แต่ยังไม่ได้รับรองอย่างเป็นทางการ
โฉนดที่ดิน ตราครุฑสีน้ำเงิน
ครุฑสีน้ำเงิน บนโฉนดที่ดิน นั้นเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ส.ป.ก.4-01 เป็นเอกสารที่ออกให้เจ้าของมีสิทธิในการทำ เกษตรกรรม บนพื้นที่ดินเท่านั้น ไม่สามารถซื้อ ขาย โอน หรือออกเป็นโฉนดภายหลังได้ แต่สามารถแบ่งตกทอดเป็นมรดกสู่ทายาทต่อไปได้ และทายาทก็ต้องทำเกษตรกรรมบนที่ดินนั้นเท่านั้น
ส.ป.ก.4-01 เป็นหนังสืออนุญาตให้เข้าทำการประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ในการทำเกษตรเท่านั้น ห้ามซื้อ ขาย โอน นอกจากทายาทเจ้าของสิทธิ
ส.ป.ก.4-01 สามารถให้ผู้อื่นเช่าเพื่อการเกษตรได้ ซึ่งหนังสือชนิดนี้นั้นเป็นหนังสือที่ออกให้กับผู้ที่มีฐานะยากจน ครอบครัวละไม่เกิน 50 ไร่ สามารถสร้างสิ่งปลูกสร้างเพื่อการเกษตรได้ แต่ไม่สามารถนำไปจำนองได้นะคะ ยกเว้นโครงการที่ระบุไว้ว่า สามารถใช้ ส.ป.ก.4-01 เป็นประกันได้
เมื่อไม่ต้องการแล้วก็สามารถคืนให้กับทางรัฐได้ แต่ถ้าทำผิดเงื่อนไข หรือ ไม่ได้ทำการเกษตรจริงก็อาจจะถูกยึดคืนได้เช่นกัน
ข้อควรสังเกต : ส.ป.ก.4-01 จะมีตราครุฑสีน้ำเงินและสีแดงคล้ายกับโฉนดที่ดิน (นส.4) ให้สังเกตคำที่ระบุบนหัวเอกสารให้ชัดเจนว่าเป็นโฉนด หรือหนังสืออนุญาตค่ะ
นส. 2 หรือ ใบจอง
นส. 2 เป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินชั่วคราว ซึ่งผู้ที่มีใบจองจะต้องทำประโยชน์ในพื้นที่ดินเกินกว่า 75 % ของที่ดิน ภายใน 6 เดือนหลังได้รับใบจองและจะต้องทำประโยชน์แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งเอกสารชนิดนี้ไม่สามารถซื้อ ขาย หรือโอนให้กันได้ แต่สามารถตกทอดเป็นมรดกให้กับทายาทได้
สทก. หรือ สิทธิที่ดินทำกิน
สทก. เป็นหนังสือที่กรมป่าไม้ออกให้ ประชาชนมีสิทธิ์ในการทำกินบนพื้นที่ป่าไม้ ไม่สามารถซื้อ ขาย หรือโอนให้กันได้ แต่สามารถตกทอดเป็นมรดกให้กับทายาทได้ ซึ่งถ้าเจ้าของสิทธิไม่ทำประโยชน์หรือปล่อยที่ดินรกร้างติดต่อกันเกิน 2 ปี อาจถูกยึดคืนได้
ภ.บ.ท.5 หรือ ใบชำระภาษีบำรุงท้องที่
ภ.บ.ท.5 เป็นใบชำระภาษีบำรุงท้องที่ของผู้ที่อยู่อาศัย หรือใช้ประโยชน์ในพื้นที่มาแต่เดิม โดยการชำระภาษีเพื่อแลกกับการใช้ประโยชน์ในที่ดิน แต่จะไม่มีสิทธิในการครอบครองที่ดิน ซึ่งเจ้าของที่ดินนั้นคือรัฐนั่นเองค่ะ ซึ่งจะไม่สามารถซื้อ ขาย หรือโอนให้กันได้ แต่สามารถตกทอดเป็นมรดกให้กับทายาทได้ค่ะ
ขอบคุณ : กรมที่ดิน