เปิดประวัติ ไพโรจน์ ใจสิงห์ จากครูพละ สู่ นักแสดงอาวุโสระดับตำนาน
กลายเป็ข่าวช็อกวงการบันเทิง สำหรับนักแสดงอาวุโสระดับตำนาน "ไพโรจน์ ใจสิงห์" ได้เสียชีวิตอย่างสงบที่บ้านพัก
กลายเป็ข่าวช็อกวงการบันเทิง สำหรับนักแสดงอาวุโสระดับตำนาน "ไพโรจน์ ใจสิงห์" ได้เสียชีวิตอย่างสงบที่บ้านพัก โดยเฟซบุ๊ก "กฤษฎา ใจสิงห์" ลูกชายของ "ไพโรจน์ ใจสิงห์" ได้โพสต์ข้อความระบุว่า “Dad, wherever you are, you are gone but you will never be forgotten.” คุณพ่อไพโรจน์ ใจสิงห์ ได้จากไปอย่างสงบแล้วนะครับ...เมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 04.15 น
ก่อนที่ลูกสาว "ชัญญภัทร ใจสิงห์" ก็ได้โพสต์อาลัยคุณพ่อว่า "หนูรักพ่อมาก เชื่อว่าพ่อรู้สึกถึงความรักนี้อยู่ตลอด พ่อคือทุกอย่างในหัวใจหนูเองก็ทำใจไม่ไหวจริงๆ คุณพ่อ ไพโรจน์ ใจสิงห์ ได้จากไปอย่างสงบ เช้าวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564"
โดย ไพโรจน์ ใจสิงห์ ชื่อเล่น เอ๋ เป็นนักแสดงอาวุโส เข้าสู่วงการตั้งแต่ พ.ศ. 2514 และมีชื่อเสียงเป็นนักแสดงนำในช่วงปี พ.ศ. 2514⎯พ.ศ. 2516 แล้วจึงหันมารับบทตัวรอง หลากหลาย ทั้งพระเอก ผู้ร้าย บทตัวพ่อ บทตลก จนถึงปัจจุบัน
สำหรับ "ไพโรจน์ ใจสิงห์" เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2486 ที่จ.อุตรดิตถ์ จบการศึกษาจากโรงเรียนฝึกหัดครูพลานามัย เคยเป็นครูที่โรงเรียนสารวิทยา และโรงเรียนอำนวยศิลป์พระนครมาหลายปี ระหว่างสอนหนังสือก็ได้หารายได้พิเศษเล่นดนตรีตอนกลางคืน
เข้าสู่วงการครั้งแรกในปี พ.ศ. 2514 โดยรับบทพระเอก จากเรื่อง ดวง ของ เปี๊ยก โปสเตอร์ ประกบคู่กับ "วนิดา อมาตยกุล" ผลงานสร้างชื่อเช่น เพชรตาแมว, กบฏหัวใจ,นักเลงมหากาฬ, สวรรค์ยังมีชั้น, ป่าแสนสวย , คนสู้คน ,ไผ่ล้อมรัก , ผู้ดีเถื่อน, ป่าแสนสวย , ความรักไม่มีขาย "ไพโรจน์ ใจสิงห์" เป็นนักแสดงคู่ขวัญกับ วันดี ศรีตรัง มีผลงานร่วมกันหลายเรื่อง ได้แก่ ยอดสงสาร รัญจวนจิต สวรรค์เวียงพิงค์ เหลือแต่รัก น้ำตานาง
นอกจากนี้ยังเคยเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ ได้แก่ ลูกหลง ราชสีห์หน้าเซ่อ และ รอยไถ
สำหรับผลงานในช่วงหลัง ที่ยังคงคุ้นตาคนจำนวนไม่น้อย อาทิ สุริโยไท , ฟ้าทะลายโจร , จะกู่รักกอดน้องให้ก้องโลก , พันท้ายนรสิงห์ อยากได้ยินว่ารักกัน , เท่งโหน่งคนมาหาเฮีย, มนต์รักลูกทุ่ง และ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 1 ตอน องค์ประกันหงสา ทั้งยังเคยรับเชิญในซิทคอมอย่าง หกตกไม่แตก , บ้านนี้มีรัก , ระเบิดเถิดเทิง และเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2552 ไพโรจน์ ใจสิงห์ ได้เดินทางไปประทับรอยมือ รอยเท้า เป็นดาวดวงที่ 35 ที่ ลานดารา
ซึ่งในปี 2556 ไพโรจน์ป่วยด้วยโรคอัมพฤกษ์ซีกซ้าย และยังล้มป่วยด้วยหลายโรค อาทิ ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดในสมองตีบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง หัวใจและต่อมลูกหมากโต รักษาตัวที่ที่โรงพยาบาลทหารผ่านศึก จนอาการดีขึ้น
ต่อมาเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2556 อาการทรุดลงอีกครั้ง ครอบครัวได้ส่งตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลราชวิถี ล่าสุดเมื่อปี 2563 ไพโรจน์ อาการทรุดปอดติดเชื้อ กระทั่งในที่สุด เมื่อเช้ามือที่ผ่านมา ไพโรจน์ก็จากไปอย่างสงบที่บ้านพัก ในวัย 78 ปี