ไทยฟาดกลับสื่อเดนมาร์ก ตีข่าวมั่วต้นตอโควิดเกิดจากตลาดนัดจตุจักร
กรมอุทยานแห่งชาติรีบแจงหลังสื่อเดนมาร์กเสนอข่าว ตลาดนัดจตุจักรในไทยเป็นต้นตอโควิดก่อนแพร่ไปยังเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ยกเหตุผลฟาดกลับนิ่มๆ ไม่มีทางเป็นไปได้
สืบเนื่องจากกรณีที่สื่อเดนมาร์กตีข่าวนำเสนอว่า ต้นตอโควิด 19 มาจากตลาดนัดจตุจักร ประเทศไทย ก่อนแพร่ไปยังเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ทำให้โลกโซเชียลในไทยต่างเดือดดาลอย่างมาก ซึ่งทางเพจ Drama-addict ได้หยิบยกข่าวดังกล่าวมาเอ่ยถึง พร้อมทั้งระบุข้อความว่า "กูถามคำเดียว อู่ฮั่นและตลาดอื่นๆ ในจีน มันไม่ได้ขายสัตว์หนักกว่าจตุจักรเหรอวะ!!! กูเห็นแม่xแxกสัตว์สารพัด ไอ้ที่เอามาขายในตลาดนี่สารพัดกว่าจตุจักรอีก" ทำให้ชาวเน็ตต่างเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันอย่างแพร่หลาย
เกี่ยวกับเรื่องนี้ล่าสุด นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวว่า สำหรับประเด็นตามข่าวที่อ้างว่าพบเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในค้างคาวเกือกม้า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทางตะวันออกของประเทศไทยนั้น ขอเรียนชี้แจงว่า ในเดือน มิ.ย. 2563 คณะนักวิจัยของไทย ประกอบด้วยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ลงพื้นที่สำรวจกลุ่มค้างคาวมงกุฎ หรือค้างคาวเกือกม้าที่กล่าวถึงในข่าว ในหลายพื้นที่ และถ้ำหลายแห่งที่เป็นแหล่งเกาะนอนของค้างคาวมงกุฎยอดสั้นใหญ่
ดำเนินการเก็บตัวอย่างมูลค้างคาวและเลือด เพื่อทำการตรวจหาไวรัสโคโรนา 2019 โดยความร่วมมือทางวิชาการกับโปรแกรมการศึกษาและวิจัยโรคอุบัติใหม่ มหาวิทยาลัย Duke-NUS พบว่าไวรัสที่ตรวจพบในค้างคาวมีลักษณะทางพันธุกรรมคล้ายไวรัสโคโรนา 2019 เพียง 91% ซึ่งไม่สามารถก่อโรคในมนุษย์ได้
นอกจากนั้นกรมอุทยานฯ ยังได้ดำเนินการเชิงรุกโดยมีการสำรวจเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในค้างคาว และลิ่น ในธรรมชาติ รวมถึงสัตว์ชนิดอื่นที่อาจเป็นตัวกลางอย่างต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าระวังการเกิดโรคอุบัติใหม่หรือการกลายพันธุ์ของเชื้อ รวมทั้งได้ประชาสัมพันธ์ รณรงค์ให้งดการล่า ค้า รวมทั้งบริโภคสัตว์ป่าอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันโรคจากสัตว์สู่คน
ด้าน นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค ได้พูดถึงเรื่องนี้ว่า ตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่สนับสนุนว่าเชื้อติดต่อจากค้างคาวไปสู่คน และยังไม่พบการจำหน่ายค้างคาวในตลาดนัดสวนจตุจักรแต่อย่างใด ส่วนประเด็นการวิจัยเรื่อง โรคจากค้างคาว ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พบว่า ค้างคาวมงกุฎที่อยู่ในถ้ำเป็นแหล่งไวรัสหลายชนิด มีรหัสพันธุ์กรรมคล้ายโคโรนาไวรัส ร้อยละ 91.5 แต่ไม่สามารถติดต่อไปสู่คน
อย่างไรก็ตาม ทางหน่วยงานได้มีโครงการป้องกันการแพร่ระบาดจากสัตว์ไปสู่คนอย่างเต็มที่ และมีการเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจหาเชื้อในสัตว์ทุกกลุ่มที่อยู่ในตลาดนัดสวนจตุจักร ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2563 พบว่า เป็นเชื้อคนละสายพันธุ์กับโควิด - 19