WHO กังวลภัยต่อสุขภาพหรือ "ภาวะหลังโควิด" หลังระบาดยาวหลายเดือน
องค์การอนามัยโลก หรือ WHO แสดงความกังวลเกี่ยวกับ “โควิดระยะยาว” (Long COVID) หรือ “ภาวะหลังโควิด” (post-COVID) ขณะภูมิภาคยุโรปมีแนวโน้มอัตราการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ลดลง
เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 64 ฮันส์ คลูเกอ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคยุโรปขององค์การอนามัยโลก (WHO) แสดงความกังวลเกี่ยวกับ “โควิดระยะยาว” (Long COVID) หรือ “ภาวะหลังโควิด” (post-COVID) ขณะภูมิภาคยุโรปมีแนวโน้มอัตราการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ลดลง
“ผลกระทบจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่คงอยู่นานหลายเดือน ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ สุขภาพ และหน้าที่การงาน” คลูเกอกล่าว พร้อมชี้ว่าประเด็นข้างต้น “เป็นพันธกิจอันชัดเจนที่มีความสำคัญยิ่งยวดขององค์การฯ”
คลูเกอระบุว่าภูมิภาคยุโรปมีผู้ป่วยโรคโควิด-19 สะสม 38 ล้านราย เมื่อนับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ และ “ผู้ป่วย 1 ใน 10 ยังมีอาการป่วยเรื้อรังนาน 12 สัปดาห์ และมีผู้ป่วยอีกมากที่มีอาการนานกว่านั้น”
“เราเริ่มรับรู้เรื่องราวของผู้ป่วยที่ควรหายดีแล้วแต่ยังได้รับผลกระทบจากอาการอ่อนเพลีย น่าเสียใจที่มีหลายคนไม่เชื่อและไม่เข้าใจผู้ป่วยกลุ่มนี้”
ศาสตราจารย์ มาร์ติน แมกกี จากวิทยาลัยสุขภาพศาสตร์และเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งลอนดอน แจกแจงข้อมูลเชิงลึกของอาการป่วยจาก “ภาวะหลังโควิด” ว่าผู้ป่วย “มักแสดงอาการป่วยหลายประเภทพร้อมกัน เช่น เจ็บหน้าอกหรือกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย หายใจไม่อิ่ม และสมองล้า”
“แม้การติดเชื้อไวรัสสามารถหายได้เอง ทำให้รู้สึกไม่สบายเพียงไม่กี่วัน แต่การติดเชื้อไวรัสบางตัวอาจก่อให้เกิดปัญหาระยะยาว เรารู้ตั้งแต่แรกๆ แล้วว่าเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ไม่ได้ก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบเท่านั้น แต่มันสามารถโจมตีหลายระบบในร่างกาย ทั้งหัวใจ หลอดเลือด สมอง และไต”
เพื่อรับมืออาการป่วยอันเป็นผลกระทบตามมาจากโรคโควิด-19 คลูเกอระบุว่าช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ องค์การฯ ได้ “จัดการหารือเกี่ยวกับอาการภาวะหลังโควิด โดยให้ความสำคัญกับการทำความรู้จัก วิจัย และพักฟื้น”
นอกจากนี้คลูเกอยืนยันว่าองค์การฯ ประจำภูมิภาคยุโรปจะจัดการประชุมระหว่างหัวหน้าเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ของทั้ง 53 ประเทศในภูมิภาคยุโรปในเร็ววัน เพื่อจัดตั้งยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาคในการจัดการกับปัญหานี้
“ขณะเราเรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นนี้ เราต้องทำให้มั่นใจว่าผู้ป่วยต้องสงสัยหรือผู้ป่วยยืนยันผลที่แสดงอาการป่วยเรื้อรังจะสามารถเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพ ซึ่งมีบทบาทสำคัญมากในส่วนนี้”
คลูเกอย้ำถึงความสำคัญของการที่หน่วยงานการแพทย์ระดับภูมิภาคต้อง “รับฟังและทำความเข้าใจ” ผู้มีอาการหลังป่วยโรคโควิด-19 อย่างจริงจัง หากพวกเขาต้องการจัดการกับปัญหานี้ให้สำเร็จ
“ผมเรียกร้องนานาประเทศและสถาบันในภูมิภาคยุโรปร่วมมือกันเพื่อการวิจัยเชิงบูรณาการ โดยใช้เครื่องมือเก็บข้อมูลและหลักเกณฑ์การศึกษาที่เป็นหนึ่งเดียว อันเป็นกุญแจสำคัญที่จะยกระดับการรักษาผู้ป่วยและพัฒนาผลลัพธ์ระยะยาวของผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่”